อายุเท่าไหร่เสี่ยงเป็นต้อหินมุมปิด

 อายุเท่าไหร่เสี่ยงเป็นต้อหินมุมปิด

ต้อหินมุมปิด มีโอกาสเกิดได้กับผู้ที่มีอายุมากตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างดวงตา การรักษาทำได้ทั้งการใช้ยารักษา เลเซอร์และการผ่าตัด

​โรคต้อหินคือภาวะที่เกิดความเสื่อมของเส้นประสาทตา ซึ่งเกิดจากความดันในดวงตาที่สูงผิดปกติ เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อย ๆ อาจจะนำไปสู่ภาวะการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวร โดยอาการของโรคต้อหินนั้นไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า กว่าจะทราบว่าป่วยก็อยู่ในช่วงลุกลามเข้าไปแล้ว

​โรคต้อหินนั้นสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย แต่กลุ่มคนที่มีอายุมากจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีอายุน้อย โดยจะพบมากในกลุ่มคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน รวมไปถึงคนที่ป่วยเป็นเบาหวาน ที่จะมีโอกาสทำให้เบาหวานขึ้นตาจนเกิดเป็นความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคต้อหิน 

รู้จักกับโรคต้อหิน

โรคต้อหิน (Glaucoma) คือโรคที่เกิดขึ้นกับดวงตา โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ โดยพยาธิสภาพเกิดที่บริเวณดวงตาส่วนหน้า ซึ่งในดวงตาจะมีน้ำคอยหล่อเลี้ยงลูกตาและมีการระบายออกเป็นปกติเพื่อรักษาสมดุลในตา เช่น ระบบระบายน้ำอุดตันอาจจะเกิดจากเส้นเลือดที่งอกใหม่ของโรคเบาหวานขึ้นจอตาไปอุดตันบริเวณระบบระบายน้ำ ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นส่งผลให้เกิดการกดทับจนทำลายเส้นประสาทตาไปทีละน้อยและลุกลามมากขึ้นตามลำดับ การมองเห็นของผู้ป่วยจะแย่ลงเรื่อย ๆ จนอาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

    ​โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน มีดังนี้

-            ความดันในตาสูงจากการอุดตันที่ระบบระบายน้ำ

-            กรรมพันธุ์ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นต้อหิน

-            คนสูงอายุ

-            ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว

-          การรักษาโรคที่ตา หรือรักษาตาจากอุบัติเหตุ หรือการใช้ยาเสตียรอยด์ อาจส่งผลให้สมดุลในตาสูญเสียไปจนผิดปกติ

โรคต้อหินมีกี่ประเภท

1. ต้อหินมุมเปิด เป็นอาการของต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากความดันในตาสูงจนไปทำลายขั้วประสาทตา ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการใด ๆ ไม่ปวดตา ตาไม่แดง จึงไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วย แต่สายตาจะค่อย ๆ มัวลงทีละเล็กละน้อย และกว่าที่จะรู้ตัวอาการก็อาจจะร้ายแรงจนส่งผลต่อการมองเห็นไปมากแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หรือตาบอดนั่นเอง

2. ต้อหินมุมปิด พบได้น้อยกว่าต้อหินมุมเปิด เกิดจากโครงสร้างของดวงตาที่ผิดปกติ ทำให้ไปขัดขวางการระบายน้ำในดวงตา ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่มีภาวะช่องว่างด้านหน้าของลูกตาแคบ หรือเกิดจากมีก้อนหรือพังผืดไปดึงรั้งให้ปิดระบบระบายน้ำในช่องหน้าม่านตา ซึ่งต้อหินชนิดนี้ยังแบ่งย่อยได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบเฉียบพลัน ที่เกิดจากความดันลูกตาสูงขึ้นโดยทันที ทำให้สายตามัวลงอย่างกระทันหัน มักมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาแดง คลื่นไส้ อาการป่วยแบบเฉียบพลันนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มิเช่นนั้นอาจเกิดภาวะเสี่ยงต่ออาการตาบอดได้ ส่วนประเภทต่อมาคือ ต้อหินมุมปิด แบบเรื้อรัง ที่เกิดจากความดันในตาที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยจะมีอาการปวดตา ปวดศีรษะบ้างหรือไม่มีอาการเลย ดวงตาจะค่อย ๆ มัวลงในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่ากำลังมีภาวะเสี่ยง หากรู้ตัวช้าจนประสาทตาถูกทำลายไปมาก อาจจะรักษาให้หายได้ยาก หรือรักษาแล้วก็ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเท่าเดิม ดังนั้นหากคิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นต้อหิน เช่น เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กรรมพันธุ์ต้อหิน ควรตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3. ต้อหินตั้งแต่กำเนิด เป็นอาการที่พบมากในเด็กวัยแรกเกิดจนถึง 3 ปี อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากอาการป่วยของมารดาขณะตั้งครรภ์ เด็กจะมีการหยุดพัฒนาของช่องบริเวณด้านหน้าลูกตา ต้อหินตั้งแต่กำเนิดจะมีอาการกลัวแสง กระจกตาขุ่น ตาดำมีขนาดใหญ่ผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาเด็กมีโอกาสที่จะตาบอดได้

4. ต้อหินจากภาวะแทรกซ้อน เกิดมาจากความผิดปกติของตาจากโรคอื่น เช่น ต้อกระจก เนื้องอก ม่านตาอักเสบ เบาหวาน การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์เป็นเวลานาน จนทำให้เกิดเป็นต้อหินในที่สุด

อาการของโรคต้อหินมุมปิด

อาการของต้อหินมุมปิด มีดังนี้

-            อาการแบบเฉียบพลัน จะมีอาการความดันลูกตาสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปวดศีรษะ ปวดตารุนแรง ตาสู้แสงไม่ได้แบบกะทันหัน ตามัว มองเห็นสีรุ้งรอบ ๆ ดวงไฟ คลื่นไส้อาเจียน ต้องได้รับการรักษาทันที

-            อาการกึ่งเฉียบพลัน จะมีอาการคล้ายกับแบบแรก แต่จะเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก หากไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

-            อาการแบบเรื้อรัง มักไม่ค่อยแสดงอาการ เนื่องจากอาการของโรคเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ กว่าที่จะรู้ตัว อาการก็เริ่มหนักขึ้น

การรักษาโรคต้อหินมุมปิด

การรักษาต้อหินมุมปิดนั้นทำได้หลายวิธีตามลักษณะความรุนแรง

●     รักษาโดยยา โดยการรักษาด้วย ยาต้อหิน เป็นวิธีเบื้องต้นที่มีความสะดวก รวดเร็ว โดยมีทั้งยาแบบกินและยาหยอดตา โดยยาหยอดตานั้นมีหลายชนิดตามลักษณะการออกฤทธิ์และอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ และจะต้องหยอดตาทุกวันเพื่อรักษาอาการไม่ให้ลุกลาม และนอกจากการหยอดตาแล้ว ยังมี ยาต้อหิน แบบรับประทาน แต่จะใช้ในระยะสั้นเพื่อรอการรักษาในขั้นตอนต่อไป

●     การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นการรักษาเพื่อควบคุมความดันภายในลูกตา ทำให้ดวงตาสามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น โดยวิธีนี้จะใช้เมื่อการรักษาด้วยยาหยอดตาไม่ได้ผลเท่าที่ควรหรือระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นมาก โดยหลังจากการเลเซอร์อาจมีอาการตาแห้ง เคืองตา แต่ไม่นานก็หาย ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

●     การรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อทำช่องระบายน้ำออกจากลูกตาได้ดีขึ้นเพื่อลดความดันในตาลง วิธีการผ่าตัดนี้จะเป็นอย่างสุดท้ายที่แพทย์เลือกใช้ในการรักษาหลังจากการรักษาด้วยยาและเลเซอร์ไม่ได้ผล

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหินมุมปิด

-          ผู้ที่มีอายุมากโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป แต่ก็พบได้ในคนที่มีอายุน้อยกว่านี้เช่นกัน

-            ผู้ที่มีประวัติของคนในครอบครัวป่วยเป็นต้อหิน อาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

-            ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนของโลหิต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันจนส่งผลต่อเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงดวงตา

-            ผู้ที่มีอาการสายตาสั้นมากหรือสายตายาวมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันในลูกตา

-            ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก เนื้องอก ม่านตาอักเสบ

-            ผู้ที่มีประวัติในการใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มาเป็นระยะเวลานาน

-            ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้างของลูกตา เช่น ที่ช่องว่างด้านหน้าของลูกตาที่แคบ แก้วตาเล็ก ทำให้ระบายน้ำในตาได้ไม่ดี

การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการต้อหิน

-            ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองตามที่แพทย์สั่ง หยอดตาอย่างสม่ำเสมอ

-            ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด

-            ดูแลตัวเองจากโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินโลหิต

-            งดการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุของการเพิ่มความดันโลหิต

-            ไม่ซื้อยาหยอดตาใช้เอง ควรได้รับจ่ายยาจากแพทย์

อาการของต้อหินทั้งแบบมุมเปิดและมุมปิดนั้น แม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่น ๆ จะช่วยไม่ให้เกิดการลุกลามจนถึงขั้นตาบอดได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากควรเข้ารับตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยปีละครั้ง แม้จะไม่มีอาการผิดปกติเพิ่มเติม เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด อย่างน้อยเพื่อสุขภาพตาที่ดีที่จะอยู่กับเราตลอดชีวิต

 โรคต้อกระจกมีกี่ระยะ สังเกตจากอะไร
 How To สวมคอนแทคเลนส์สายตาให้ปลอดภัย เคล็ดลับที่ต้องรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์
 กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) กี่วันหาย ใช้ยาอะไร
 คนสายตาเอียง (Astigmatism) มองเห็นภาพแบบไหน รักษาได้อย่างไรบ้าง
 เฝ้าระวังต้อกระจก (Cataract) เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรให้มองเห็นชัดเจนอีกครั้ง
 PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนปลอดภัยกว่ากัน
 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
 รอยแผลเป็นที่ เรียกว่าคีลอยด์
 สังเกตอาการวุ้นในตาเสื่อม ทำไมมองเห็นจุดดำและหยากไย่ลอยไปมา
 ทำความรู้จัก “ต้อลมในผู้สูงวัย” เป็นแล้วรักษาให้หายได้หรือไม่

Copyright © 2024 All Rights Reserved.