ศูนย์โรคตาทั่วไป
กระจกตาถลอกป้องกันได้ถ้าใส่ใจดวงตา
กระจกตาถลอกคืออาการบาดเจ็บที่ดวงตาจากอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการติดเชื้อบางชนิด แต่หากละเลยการรักษาอาจส่งผลร้ายแรงกว่าที่คิด กระจกตาถลอกป้องกันได้ถ้าใส่ใจ
ดวงตาของคนเรานั้นมีส่วนที่อยู่ภายนอกสุดเรียกว่ากระจกตา หรือที่เราเรียกกันว่าตาดำ ซึ่งจะมีลักษณะนูนใส กระจกตาทำหน้าที่ร่วมกับเลนส์ตาในการหักเหแสงที่ผ่านเข้าตาไปสู่จอตาเพื่อรับภาพได้ นอกจากนี้ยังช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต(UV) ออกไปบางส่วน แต่กระจกตานั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้ ที่พบได้บ่อยๆคืออาการกระจกตาถลอก
รู้จักอาการกระจกตาถลอก
ชั้นกระจกตานั้นจะแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ดังนี้
- ชั้นที่ 1 กระจกตาชั้นนอก (Epithelium Layer) มีลักษณะเป็นชั้นเยื่อบุ
- ชั้นที่ 2 ชั้นเยื่อรับรองผิว (Basement Membrane) เป็นชั้นบางๆ
- ชั้นที่ 3 กระจกตาชั้นกลาง (Stroma) ซึ่งเป็นส่วนที่มีความหนาที่สุด มีส่วนประกอบของคอลลาเจน ทำหน้าที่สร้างความแข็งแรงให้กระจกตา
- ชั้นที่ 4 ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s Membrane) เป็นชั้นที่มีความยืดหยุ่นสูง
- ชั้นที่ 5 ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial Cell) ทำหน้าที่ดูดน้ำเข้าออกจากกระจกตา ทำให้กระจกตาคงความใสและไม่บวมน้ำ
ภาวะกระจกตาถลอก(Corneal Abrasion) หรือกระจกตาเป็นแผล เกิดจากการหลุดลอกของชั้นเยื่อบุผิว (Epithelium) ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของกระจกตา ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ด้านนอกสุดสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้โดยตรง เช่น ลม ฝุ่น สิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาในดวงตา การกระแทก หรือการติดเชื้อจำพวกแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บได้มากที่สุด เมื่อเกิดการถลอกที่ชั้นกระจกตาจะทำให้มีอาการเจ็บตา ระคายเคืองตา รวมถึงมีการอักเสบร่วมด้วย หากแผลไม่ลึกมากชั้นกระจกตาด้านนอกหรือชั้น Epithelium Layer มีความสามารถในการแบ่งตัวเพื่อสมานแผลได้ด้วยตัวเอง แต่หากมีรอยแผลที่ลึกหรือเป็นระยะเวลานาน จะเกิดกระจกตาติดเชื้อได้ อาจเกิดหนองขังอยู่ในช่องลูกตาด้านหน้า(Hypopyon) จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตรายจนส่งผลกระทบต่อการมองเห็นที่ลดลง หรือในบางคนมีกระจกตาที่ติกเชื้อนั้นบางลงเกิดการทะลุของกระจกตา ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขกระจกตาทะลุหรืออาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
สาเหตุของการเกิดอาการกระจกตาถลอก
1. การได้รับอุบัติเหตุ
กระจกตาอาจได้รับบาดเจ็บจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ถูกกระดาษบาดตาตอนเปิดเอกสารหรือหนังสือ ถูกเล็บตัวเองข่วน ถูกสารเคมีกระเด็นใส่ตา มีฝุ่นผงเข้าตาแล้วใช้มือขยี้ตาจนกระจกตาเป็นแผลถลอก เป็นต้น
2. การใช้คอนแทคเลนส์
สาเหตุหนึ่งที่สามารถทำให้กระจกตาถลอกได้คือการใช้คอนแทคเลนส์ โดยมีสาเหตุมาจากขนาดที่ไม่พอดีกับดวงตา ทำให้มีอาการระคายเคือง การใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป ใส่ขณะนอนหลับหรือใส่ค้างคืนโดยไม่ได้ถอดออก
3. สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น ควัน สิ่งสกปรก หรืออยู่ในพื้นที่สารเคมี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ดวงตาจนส่งผลให้เกิดแผลถลอกที่กระจกตาได้
4. ผลจากยาหยอดตา
ยาหยอดตาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่หากใช้บ่อยเกินไปจะส่งผลให้กระจกตาถลอกได้
5. โรคประจำตัว
โรคบางอย่างก็มีผลต่ออาการกระจกตาถลอกได้ เช่น มีภาวะตาแห้งบ่อยทำให้กระจกตาขาดน้ำหล่อลื่นจนถลอกได้ง่าย โรคภูมิแพ้ซึ่งส่งผลต่ออาการระคายเคืองดวงตาจนต้องขยี้ตาบ่อยๆ ภาวะหลับตาปิดไม่สนิททำให้ตาแห้งหรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทำอันตรายดวงตาโดยไม่รู้ตัว โรคกระจกตาเสื่อม(Corneal Dystrophies) บางประเภทจะมีภาวะกระจกตาถลอกซ้ำๆได้
อาการของกระจกตาถลอก
หากเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้เบื้องต้นด้วยตัวเอง ดังนี้
1. ตาบวม ตาแดง หลังได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตาจากสาเหตุต่างๆ
2. ระคายเคืองหรือปวดตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา ตาสู้แสงไม่ได้ เจ็บตาเวลากลอกตาไปมาหรือกะพริบตา
3. ตาพร่ามัว มองภาพไม่ชัด
4. ตาแฉะ น้ำตาไหล
5. อาจสังเกตเห็นรอยแผลที่กระจกตา โดยอาจเห็นเป็นแผลเล็กๆ หรือมองเห็นผิวกระจกตาไม่เรียบ
6. เห็นหนองในดวงตา
หากพบอาการดังกล่าวข้างต้นอย่านิ่งนอนใจให้รีบไปพบจักษุแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อวินิจฉัยและรักษา
วิธีรักษากระจกตาถลอก
การรักษากระจกตาถลอกนั้นขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่แสดง ซึ่งหากผู้ป่วยมีเพียงรอยกระจกตาถลอกที่ไม่ลึกโดยไม่มีลักษณะการติดเชื้อ แผลที่อยู่เพียงบริเวณเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตานั้นสามารถหายเองได้ในเวลา 3-7 วันขึ้นกับขนาดของแผล แพทย์จะให้น้ำตาเทียมหยอดบ่อยๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อช่วยซ่อมแซมผิวกระจกตาให้หายเร็วขึ้น และให้ยาหยอดตาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในบางรายแพทย์อาจจะปิดตาแน่นหรือใส่คอนแทกเลนส์ทางการแพทย์ในวันแรก เพื่อลดอาการเจ็บปวดจากการที่เปลือกตาเสียดสีกับกระจกตาที่เป็นแผล และป้องกันการสัมผัสที่ดวงตาและป้องกันไม่ให้ขยับเปลือกตาบ่อยครั้งเกินไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยตามประวัติและอาการของผู้ป่วยว่าสามารถทำได้หรือไม่
ในกรณีที่กระจกตาถลอกแล้วมีการติดเชื้อร่วมด้วย ในรายที่อาการรุนแรง แผลติดเชื้อมีขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการขูดผิวกระจกตาเพื่อนำมาตรวจเพาะเชื้อหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุ ให้ยาหยอดตาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่พบได้บ่อยในการรักษา หลังจากทราบผลเพาะเชื้อก็จะปรับยาให้ตรงกับเชื้อตัวที่พบต่อไป
ในการรักษาอาการกระจกตาถลอกนั้นอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรอยสีขาวขุ่นบนกระจกตา ส่งผลต่อการมองเห็นของผู้ป่วยได้ บางรายกระจกตาจะบางลงจนทะลุได้ และหากไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาและเกิดการอักเสบติดเชื้อด้านในลูกตาจนถึงขั้นตาบอดได้
การป้องกันตัวเองจากกระจกตาถลอก
เราสามารถป้องกันอาการกระจกตาถลอกได้ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละออง เช่น พื้นที่ก่อสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นที่จะเข้าไปทำอันตรายกระจกตาหรือหากจำเป็นต้องเข้าไปควรสวมแว่นตาเพื่อป้องกัน
2. ไม่ขยี้ตาแรงๆ โดยเฉพาะการใช้มือที่สกปรก เพราะนอกจากจะทำให้กระจกตาถลอกแล้วยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อร่วมด้วย
3. หากจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ควรเลือกที่มีมาตรฐาน ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นานเกิน 4-6 ชั่วโมงติดต่อกันต่อวัน ไม่ใส่ว่ายน้ำ ไม่ใส่คอนแทกเลนส์ค้างคืน ล้างทำความความสะอาดและแช่ในน้ำยาคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้อง
4. หากต้องทำงานที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุกับดวงตา ควรสวมเครื่องป้องกัน เช่น หน้ากากนิรภัย รวมถึงแว่นตาเพื่อป้องกันอันตราย
5. หากต้องใช้ยาหยอดตาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ การหยอดตาบางชนิดเกินความจำเป็น อาจทำให้กระจกตาอักเสบและถลอกได้
วิธีสังเกตตัวเองว่ามีความเสี่ยงของอาการกระจกตาถลอกหรือไม่
เมื่อเราพบว่ามีอาการระคายเคืองที่ดวงตาหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น กระดาษบาดตา ใช้มือขยี้ตา มีฝุ่นเข้าตา หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรักษาต่อไป
อาการกระจกตาถลอกแม้จะไม่ได้เป็นภาวะที่รุนแรง แต่ถ้าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะส่งผลให้มีการติดเชื้อรุนแรงได้ และอาจลุกลามจนถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาได้
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.