ศูนย์โรคตาทั่วไป
ทำความรู้จักต้อหินมุมปิด พร้อมวิธีรักษาที่ควรรู้
โรคต้อหินชนิดมุมปิด (Closed Angle Glaucoma)
โรคต้อหินเป็นสาเหตุของตาบอดถาวรอันดับ 1 ทั่วโลก โรคต้อหินแบ่งออกได้หลายประเภท ถึงแม้ จำนวนผู้ป่วยภาวะต้อหินมุมปิดจะมีไม่มากเมื่อเทียบกับต้อหินมุมเปิด แต่โรคนี้มีความรุนแรงและอาจทำให้เกิดภาวะตาบอดถาวรได้อย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที
ต้อหินชนิดมุมปิดเป็นโรคต้อหินที่เกิดจากการอุดตันของมุมการระบายของน้ำในตา อาจแบ่งเป็นต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
ต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลัน (Acute Angle-Closure Glaucoma) :
ต้อหินมุมปิดเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางตาอย่างหนึ่ง ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะตาบอดถาวรหากไม่ได้รับการรักษา อย่างทันท่วงที สาเหตุหลักเกิดจาหมุมตาปิดและไม่สามารถระบาย น้ำในลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามากและตามัวแบบเฉียบพลัน ตาแดง เห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีคลื่นไส้อาเจียนและปวดศีรษะร่วมด้วย ตรวจตาพบความดันตาสูง ช่องหน้าม่านตาแคบ เลนส์เคลื่อนตัวมาด้านหน้า และ มุมตาปิด อาจตรวจพบเส้นประสาทตาบวมร่วมด้วย
สำหรับต้อหินชนิดเฉียบพลันถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ต้องรีบทำการรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้
ต้อหินมุมปิดชนิดเรื้อรัง (Chronic Angle-Closure Glaucoma) :
เป็นต้อหินชนิดที่มีภาวะความดันตาสูงเช่นกัน แต่ในกรณีนี้ความดันตาจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ทีละน้อย ไม่สูงขึ้นในทันทีเหมือนแบบแรก เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจึงมีอาการปวดตาและปวดศีรษะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มีผู้ป่วยไม่น้อยที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาจะทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อยๆ และสูญเสียการมองเห็นถาวรได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงของต้อหินมุมปิด
· อายุมาก
· เพศหญิง
· เชื้อชาติเอเชีย
· สายตายาวหรือสายตาสั้น
· ประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
· อุบัติเหตุทางตาหรือศีรษะ
วิธีการรักษาต้อหินมุมปิด
ภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลันเป็นภาวะเร่งด่วนทางตา เนื่องจากความดันใน ลูกตาที่สูงเป็นระยะเวลานานส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทตาและทำให้ตา บอดถาวรหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะต้อ หินมุมปิดเฉียบพลัน มีดังนี้
- ลดความดันในลูกตาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทตา และลดการบวมของกระจกตาซึ่งจะทำให้ยิงเลเซอร์ได้ง่าย การลดความดัน ในลูกตา อย่างรวดเร็วส่วนมากทำได้โดยการให้ยา ซึ่งยาลดความดันตามี ทั้งรูปแบบยาหยอดตาและยารับประทาน
- เปิดมุมตาด้วยการยิง laser peripheral iridotomy (LPI) ที่ม่านตา ส่วนริมเพื่อทำทางระบายน้ำในลูกตาและทำให้ความดันในช่องหน้าม่านตาและช่องหลังม่านตาเท่ากัน หากกระจกตามีอาการบวมอาจต้องทำการหยอดตาด้วย Glycerin 100% Eye Drop เพื่อให้กระจกตาใสขึ้นและยิง Laser Iridoplasty จากนั้นจึงค่อยยิง Laser Peripheral Iridotomy ตามเพื่อเปิดมุมตา แต่ในกรณีที่ไม่สามารถยิงด้วยเลเซอร์ได้แพทย์จะใช้วิธีการ ผ่าตัดทำรูที่ม่านตาแทน (surgical peripheral iridectomy)
- การป้องกันการปิดกลับของมุมตาในระยะยาว การปิดกลับของมุมตา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอักเสบในลูกตา จึงควรควบคุมการอักเสบตั้งแต่ระยะแรกๆ และควรตรวจดูมุมตาเป็นระยะ อาจพิจารณาผ่าตัดทำทางระบาย น้ำในลูกตา ในกรณีที่มุมตาเปิดแล้วแต่ยังไม่สามารถควบคุมความดันตาได้
- ป้องกันการเกิดต้อหินมุมปิดเฉียบพลันในตาอีกข้าง พบว่ามีโอกาสเกิดภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลันในตาอีกข้างได้ถึงร้อยละ 40-80 ภายใน 5-10 ปี ดังนั้นควรประเมินช่องหน้าม่านตา มุมตาและความดันในลูกตาอีกข้างของผู้ป่วย หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ให้ป้องกันโดยการยิงเลเซอร์ LPI (prophylaxis LPI) ทันทีที่ตรวจพบ
สรุป ต้อหินมุมปิดเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางตาอย่างหนึ่ง ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะตาบอดถาวรหากไม่ได้รับการรักษา อย่างทันท่วงที
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.