ศูนย์เลสิก
LASIK (การผ่าตัดแก้ไขสายตาโดยการเปิดฝากระจกตาด้วยใบมีด)

การทำเลสิก (Lasik) ช่วยรักษาความผิดปกติทางสายตา ทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียง การทำเลสิกมีหลายแบบ ทั้งเลสิคแบบใช้ใบมีด, ReLEx SMILE, เฟมโตเลสิก (Femto Lasik) , PRK ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสายตาที่ได้ผลถาวร
ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว รวมไปถึงสายตาเอียง เป็นปัญหาที่พบได้ในคนทั่วไป และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ในการแก้ปัญหาสายตาที่ง่ายที่สุดคือการสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
แต่การแก้ปัญหาสายตาที่ได้ผลถาวรนั่นคือการทำเลสิก (Lasik) เป็นวิธีการที่จะทำให้สายตากลับมาเป็นปกติได้ แต่การทำ นั้นคืออะไร และมีวิธีการทำอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
ทำความรู้จักกับการทำเลสิก (LASIK) คืออะไร
การทำเลสิก (Lasik) คือการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของสายตาโดยการเปิดฝากระจกตา ไม่ว่าจะด้วยเครื่องไมโครเครราโตม (Microkeratome) หรือการใช้เฟมโตเซเคินเลเซอร์ (Femtosecond Laser) ไม่ว่าจะเป็นอาการสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง โดยจะใช้วิธีการผ่าตัดแยกชั้นกระจกตาออกมา แล้วปรับค่าความโค้งของกระจกตาให้มีความเหมาะสมตามการคำนวณค่าสายตาจากจักษุแพทย์ เพื่อให้แสงสะท้อนวัตถุที่เข้าสู่ดวงตาของเรามีการหักเหของแสงที่แม่นยำตกกระทบบริเวณจุดโฟกัสพอดี จากนั้นทำการปิดฝากระจกตากลับเข้าไป ซึ่งจะทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยวิธีเลสิก (Lasik) นั้นมีความแม่นยำสูง อาการผลข้างเคียงต่ำ ทำให้มีความปลอดภัยมาก
ปัญหาสายตาแบบใดที่สามารถทำ LASIK ได้บ้าง
การทำเลสิก (Lasik) นั้นช่วยแก้ปัญหาทางสายตาได้แบบถาวร ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง โดยมีลักษณะการรักษาสายตาแต่ละแบบดังนี้
- สายตาสั้น เป็นอาการที่เกิดจากกระจกตามีความโค้งมากเกินไปหรือกระบอกตายาวเกินไปจนส่งผลให้เกิดการหักเหของแสงที่มาก ทำให้จุดรวมแสงกระทบก่อนที่จะถึงจอประสาทตา ผู้มีสายตาสั้นจะมีอาการมองวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดเจน มีความเบลอ ส่งผลให้กะระยะวัตถุที่อยู่ไกลไม่ได้
- สายตายาวเป็นอาการที่เกิดจากความโค้งของกระจกตาไม่พอดี ทำให้เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ตาจะมีความหักเหน้อยและทำให้จุดรวมแสงตกกระทบที่หลังจอรับภาพ ส่งผลให้มองภาพที่อยู่ใกล้ไม่ชัด
- สายตาเอียงเป็นอาการที่เกิดจากรูปร่างของกระจกตามีความโค้งผิดปกติ ทำให้เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ตา จุดรวมแสงจะมีจุดโฟกัส 2 จุด คนที่มีอาการสายตาเอียงจึงมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพซ้อน มองเห็นเป็นเงา รวมไปถึงมองวัตถุที่อยู่ระยะไกลไม่ชัดอีกด้วย
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสายตาทั้ง 3 ประเภทนี้สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการ ทำเลสิก (Lasik) เพื่อรักษาความผิดปกติทางสายตาได้
การทำเลสิกมีกี่แบบ
การรักษาสายตาผิดปกติด้วย LASIK นั้นสามารถแบ่งได้ดังนี้
- เลสิคแบบใช้ใบมีดไมโครเครราโตม เลสิก (Microkeratome Lasik)เป็นการผ่าตัดด้วยการใช้ใบมีดแยกชั้นกระจกตาออกมาแล้วทำการยิงเลเซอร์เพื่อปรับชั้นกระจกตาให้มีค่าตามที่จักษุแพทย์คำนวณไว้ โดยวิธีนี้มีความแม่นยำสูงและมีความปลอดภัยมาก เมื่อทำการปรับค่าสายตาแล้วแพทย์จะทำการใส่กระจกตากลับคืน วิธีนี้ใช้ระยะเวลาในการรักษาเพียง 15 - 20 นาทีเท่านั้น และพักฟื้นไม่นาน โดยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาผิดปกติไม่สูงมาก ดวงตาไม่แห้งและกระจกตาไม่บาง
- เลสิคแบบเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) เป็นวิธีการเลสิกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยจะเป็นการรักษาด้วยการใช้เฟมโตเซเคินเลเซอร์ (Femtosecond Laser) เพื่อเปิดฝากระจกตา แล้วจึงปรับความโค้งของกระจกตาให้มีค่าที่เหมาะสม โดยวิธีนี้มีความแม่นยำสูงกว่าการทำเลสิกแบบอื่นๆ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงค่อนข้างมาก
- ReLEx SMILEเป็นการทำผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบไร้ใบมีด ย่อมาจากคำว่า Refractive Lenticule Extraction กับ Small Incision Lenticule Extraction ซึ่งเป็นการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงโดยการใช้เลเซอร์ซึ่งมีความแม่นยำสูงในการรักษา ทำให้ไม่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบดวงตา แผลมีขนาดเล็กมากและหายได้อย่างรวดเร็ว โดยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาผิดปกติไม่น้อยหรือมากเกินไป รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง
- PRK (Photorefractive Keratectomy)เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ไม่มีการแยกชั้นกระจกตาเหมือนการทำเลสิกแต่จะใช้วิธีลอกผิวกระจกตาชั้นนอกออกแล้วใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser)ปรับค่าความโค้งของกระจกตาให้กลับมามองเห็นเป็นปกติ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาผิดปกติเล็กน้อย รวมไปถึงผู้ที่มีข้อจำกัดในการทำเลสิคแบบอื่นๆ เช่น นักกีฬา นักบินหรือในผู้ที่ต้องทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระทั่งสูง

จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเหมาะกับการทำ
ในการทำเลสิก (Lasik) นั้นแพทย์จะวิเคราะห์ความเหมาะสมเป็นรายบุคคล ซึ่งต้องมีลักษณะดังนี้
- มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากจะมีค่าสายตาที่คงที่หรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อย การรักษาจึงจะได้ผลดี
- ผู้ที่ต้องการรักษาอาการผิดปกติทางสายตาแบบถาวร ไม่ต้องการสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือผู้ประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะกับการสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens)
- ผู้ที่มีค่าสายตาคงที่ หรือมีความเปลี่ยนแปลงน้อยในระยะเวลา 1 ปี ก่อนการรักษาด้วยเลสิก
- ผู้ที่ไม่มีปัญหากระจกตาบางหรือโรคที่เกี่ยวกับสายตาอื่นๆ เช่น โรคกระจกตาโก่งโรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม จอตาฉีกขาดหลุดลอกโรคเบาหวาน โรค SLE
- ผู้ที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนมีความไม่คงที่อาจส่งผลให้ค่าสายตาคลาดเคลื่อนไปกว่าความเป็นจริง ซึ่งมีผลต่อการทำเลสิก
การทำ LASIK มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
โดยการทำเลสิกนั้นผู้เข้ารับการรักษาต้องมีการเตรียมตัวก่อนรักษาดังนี้
- ควรงดใส่คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 1 สัปดาห์-ไม่ควรใช้เครื่องสำอางแต่งบริเวณรอบดวงตาก่อนผ่าตัด
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนวันผ่าตัด
- หากมีอาการผิดปกติที่ดวงตา เช่น ตาแห้ง เจ็บตา ตาเป็นแผล ควรแจ้งจักษุแพทย์ก่อน เพราะอาจส่งผลต่อการรักษาได้
โดยขั้นตอนการ ทำเลสิก (Lasik) นั้นแบ่งได้ 2 ขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1 เปิดฝากระจกตาด้วยใบมีด (Microkeratome) โดยเป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหรือเปิดฝากระจกตาด้วยเลเซอร์ (Femtosecond Laser) ที่ให้ความแม่นยำสูง
- ขั้นตอนที่ 2 ยิงเลเซอร์โดยใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้มีค่าที่เหมาะสม ซึ่งมีความแม่นยำและใช้เวลาไม่นานจากนั้นแพทย์จะปิดฝากระจกตากลับสู่ที่เดิม

วิธีการดูแลตัวเองและผลข้างเคียงหลังจากการทำเลสิค
เมื่อเข้ารับการทำเลสิก (Lasik) ด้วยการ เลเซอร์ตา ผลข้างเคียง อาจจะเกิดขึ้นได้หลังการรักษา เช่น
- มีอาการตาแห้ง ระคายเคืองตาบ่อยครั้งหลักการรักษา แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น
- มีปัญหาการมองเห็นในภาวะที่มีแสงน้อย-ดวงตามีความไวต่อแสง
- มีอาการตาพร่า การมองเห็นไม่คงที่ มองเห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
- มีอาการตาแดงหรือมีจุดเลือดออกที่ตาขาว
- น้ำตาไหล
โดยการอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-4 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
การดูแลตัวเองหลังการทำเลสิก (Lasik) มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- สวมที่ครอบตาหลังการรักษา เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือป้องกันการขยี้ตาเมื่อเกิดอาการระคายเคือง
- หากมีอาการระคายเคือง น้ำตาไหล ให้ซับน้ำตาเบา ๆ ไม่ควรขยี้ตาหรือเปิดฝาครอบตาออก
- เมื่อมีอาการปวดตาให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทา
- งดการทำกิจกรรมที่กระทบกระเทือนและระวังอย่าให้เหงื่อหรือน้ำเข้าตา
- ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังการทำเลสิก (Lasik)โดยการเลเซอร์ตา ผลข้างเคียงอาจจะทำให้แสบตา ปวดตา ระคายเคืองตา การไปพบแพทย์ตามนัดจะช่วยให้รักษาได้ทันหากมีอาการผิดปกติ
- ใช้ยาหยอดตาตามแพทย์สั่ง
- สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้เมื่อมีอาการตาแห้ง ซึ่งน้ำตาเทียมนั้นมีความปลอดภัยสูงและไม่มีผลข้างเคียง
ในการทำเลสิก (Lasik) นั้นเป็นการรักษาความผิดปกติทางสายตา ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย และให้ผลการรักษาที่ถาวร ทำให้ไม่ต้องสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) อีกต่อไป ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากขึ้น บุคลิกภาพดีขึ้น ดังนั้นการทำเลสิก (Lasik) ถือว่าตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสายตาได้เป็นอย่างดี
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
88 ซอยเพชรเกษม 70 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร 1016002-869-8899