ศูนย์โรคตาทั่วไป

ตาบวม ปวดตา เพราะกระจกตาติดเชื้อ อันตราย

ศูนย์โรคตาทั่วไป ตาบวม ปวดตา เพราะกระจกตาติดเชื้อ อันตราย

ตาบวม ปวดตา แบบไม่ธรรมดา คืออาการที่อาจเกิดได้จากกระจกตาติดเชื้อ เป็นภาวะอันตรายแต่ป้องกันได้ การละเลยอาการ อาจส่งผลให้กระจกตาทะลุ ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด 

เมื่อมีอาการปวดตา ตาบวม ตระหนักไว้ก่อนเลยว่า กระจกตามีการติดเชื้อเกิดขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ กระจกตาเป็นแผล หรือเกิดการอักเสบขึ้นที่เยื่อบุตาทำให้เกิดอาการปวด มีผลทำให้การมองเห็นภาพต่าง ๆ แย่ลง อันตรายขั้นร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดจากเหตุการณ์นี้ก็คือกระจกตาทะลุ ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาใหม่ เพื่อให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติหรือมองเห็นได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ตาบอดได้

ความสำคัญของกระจกตา

กระจกตา (Cornea) คือผิวชั้นแรกของดวงตา มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ใสเหมือนกระจกและมีคุณสมบัติโปร่งแสง ทำหน้าที่ในการป้องกันเชื้อโรค เพราะอยู่หน้าสุดของดวงดา หรือจะเรียกว่า ตาดำ ก็ได้ เมื่อมีวัตถุผ่านเข้ามาจะเจอกับกระจกตาซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์มากมายเรียงรายหนาแน่นกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าตา เป็นการทำงานร่วมกันกับกลไกธรรมชาติของดวงตาในการป้องกันอันตราย จะสังเกตได้เวลาที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าใกล้ดวงตา ตาของเราจะกระพริบในทันที 

นอกจากป้องกันเชื้อโรคแล้ว คุณสมบัติในความโปร่งใสของกระจกตายังทำหน้าที่ในการหักเหแสงจากวัตถุที่เข้ามายังดวงตา ทำให้ดวงตาสามารถมองเห็นภาพได้ หากกระจกตาของเรากำลังได้รับการกระทบกระเทือน ถูกทำร้าย หรือเกิดการติดเชื้อ จะทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัด หรือผิดรูปผิดร่างไปจากความเป็นจริง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้มีปัญหาในการมองเห็นอย่างถาวร

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระจกตาติดเชื้อ

ด้วยความที่เป็นประตูชั้นแรกของดวงตา กระจกตาจึงต้องสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในตา ดังนั้น โอกาสที่จะถูกกระทบกระเทือนจึงมีมาก หากว่ากระจกตาถูกกระแทกเป็นแผล รอยแผลนี้จะเป็นการเปิดทางให้เชื้อโรคผ่านเข้ามาได้โดยง่าย อันตรายจากเชื้อโรค จะทำให้กระจกตาและเยื่อบุตาอักเสบ ตาบวม ปวดตา

โอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าตาทำให้เกิดโรคกระจกตาติดเชื้อ (Keratitis) มาจากสาเหตุเหล่านี้ 

  • การใส่คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี ใส่ตลอดเวลาโดยไม่พัก ใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ ใส่เล่นน้ำในสระ ไม่รักษาความสะอาดในการใส่และการเก็บคอนแทคเลนส์
  • การ หยอด ตา สเตียรอยด์โดยใช้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน และในบางครั้งอาจเกิดจากการใช้ยาประเภทนี้ติดกันแค่เพียง 2-3 อาทิตย์ก็ไม่ปลอดภัยแล้ว โดยเฉพาะยาที่ซื้อมาใช้เองโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์-ภาวะตาแห้ง เมื่อตาแห้งมาก ๆ จะทำให้กระจกตาถลอก เป็นแผล ติดเชื้อได้ง่าย
  • ความผิดปกติของเปลือกตา หรือเปลือกตาอักเสบ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีขนตา ต่อมรากขนตา และต่อมไขมันอยู่ และส่วนประกอบเหล่านี้อาจมีความผิดปกติ เช่น ขนตาเก ต่อมไขมันอุดตัน มีไรฝุ่น ผิวหนังบริเวณเปลือกตามีผื่นขึ้น ทำให้ตาบวม ปวดตา
  • การบาดเจ็บที่ดวงตาจากอุบัติเหตุ
  • รังสียูวี การเผชิญกับแสงแดดแรงเป็นเวลานาน สามารถทำลายกระจกตาได้
  • ภาวะขาดวิตามิน ทำให้กระจกตาเสื่อมเร็ว และติดเชื้อง่าย

ตาบวม ปวดตา ความผิดปกติที่อาจเกิดการติดเชื้อ

ตาบวม อาจมีทั้งที่เป็นอันตราย และไม่อันตราย บางครั้งตื่นมาตาบวมเพราะนอนหลับไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการคั่งตัวของน้ำใต้ผิวตา หรือมีอาการแพ้บางสิ่งบางอย่าง เวลาร้องไห้หนัก ๆ ก็ทำให้ตื่นมาตาบวมได้ อาการเหล่านี้ไม่ได้มีอันตราย แต่เป็นลักษณะของตาบวมปกติที่หายได้เอง 

แต่ถ้าปวดตา ตาบวม มากจนผิดปกติ อาจเกิดจากการติดเชื้อ เชื้อโรคที่ทำให้ตาบวม ปวดตา ตาอักเสบ มีตั้งแต่เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส เชื้อโรคเหล่านี้สามารถลุกลามไปที่บริเวณเยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ เชื้อโรคอาจแพร่กระจายมากขึ้นเข้ากระจกตา จนกระทั่งเข้าไปในลูกตาทำให้ตาบอด ดังนั้น ถ้ามีอาการตาบวมผิดปกติ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์

กระจกตาติดเชื้อ ปวดตา ตาบวม วิธีรักษาทำอย่างไร

วิธีรักษาอาการตาบวม ปวดตา จากกระจกตาติดเชื้อ ควรขอคำปรึกษาจากจักษุแพทย์ ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แพทย์จะทำการตรวจดูแผลที่เกิดจากการติดเชื้อว่าเป็นเชื้ออะไร วิธีตรวจเชื้อสามารถทำได้โดยการขูดผิวบริเวณแผลไปทำการย้อมสี เพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ การรักษาแผลติดเชื้อที่กระจกตาต้องทำโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยไว้นาน ฉะนั้น ทันทีที่รู้สึกว่าปวดตาและตาบวมอย่างผิดสังเกต ให้รีบไปพบจักษุแพทย์

วิธีการรักษาเบื้องต้น คือ การ หยอด ตา แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตาให้ผู้ป่วยทุก 1-2 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวดจะใช้ยาแก้ปวดร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อควบคุมอาการอย่างใกล้ชิดไม่ให้เชื้อลุกลาม

การรักษากรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน ขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก เชื้อแพร่กระจายจนถึงขั้นกระจกตาทะลุ ต้องเปลี่ยนกระจกตาใหม่ด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี แพทย์จะประเมินจากสภาพดวงตา ภาวะการอักเสบ และเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด การเปลี่ยนกระจกตาเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาดวงตาไว้ไม่ให้ตาบอดจากโรคกระจกตาติดเชื้อ 

วิธีป้องกันกระจกตาติดเชื้อ

กระจกตาติดเชื้อ และ เยื่อบุตาอักเสบ ป้องกันได้ ด้วยความใส่ใจดวงตาในทุก ๆ กิจกรรม

  • ดูแลรักษาดวงตาด้วยการให้ความสำคัญกับความสะอาด เพราะเชื้อโรคย่อมมาจากสิ่งสกปรก อาจจะมากับคอนแทคเลนส์ที่ใส่ มือที่เผลอไปขยี้ตาบ่อย ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันที่หลายคนมองข้าม ดังนั้น วิธีป้องกันง่าย ๆ ในขั้นแรกก็คือปรับพฤติกรรมในส่วนนี้ใหม่ ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยในทุก ๆ วัน และถ้าใส่คอนแทคเลนส์ก็ต้องไม่ลืมที่จะล้างมือก่อนใส่และถอดเสมอ รวมถึงการรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บคอนแทคเลนส์ให้มากที่สุด
  • ป้องกันกระจกตาจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็น แสงแดดจ้า รังสียูวี รังสีจากเครื่องมือเชื่อมโลหะในโรงงาน สารเคมี สิ่งแปลกปลอมที่มีคมที่อาจจะกระเด็นเข้าตา สิ่งเหล่านี้มีผลเสียต่อดวงตาของเราทั้งสิ้น หากจำเป็นต้องทำงานหรือทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีปัจจัยลบทั้งหลาย ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันเสมอ เช่น แว่นตากันแดด แว่นตานิรภัยสำหรับใช้ในโรงงาน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการหยอดตา สเตียรอยด์ เพราะเป็นอีกหนึ่งตัวการที่มีผลต่อดวงตาของเรา การใช้ยาชนิดนี้โดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ปลอดภัยต่อดวงตา

กระจกตา คือเกราะป้องกันดวงตาที่สำคัญมาก ช่วยปกป้องดวงตาจากอันตรายรอบด้าน อย่าปล่อยให้อวัยวะส่วนนี้ต้องอักเสบหรือมีบาดแผล และไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับกระจกตา จะทำให้เกราะป้องกันของเราอ่อนแอลง แล้วเชื้อโรคมากมายหลายชนิดก็พร้อมที่จะรุกรานดวงตาได้ทุกเมื่อ จากสถิติที่ผ่านมา มีผู้ป่วยด้วยโรคกระจกตาจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับภาวะตาบอด ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายในขั้นรุนแรง ควรดูแลดวงตาของเราให้ปลอดภัยที่สุดและอยู่กับเราไปจนตลอดชีวิต


Copyright © 2024 All Rights Reserved.