รู้ทันสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงการเกิดต้อเนื้อ (Pterygium) ที่อาจทำให้ตาบอดได้

 รู้ทันสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงการเกิดต้อเนื้อ (Pterygium) ที่อาจทำให้ตาบอดได้

ต้อเนื้อเป็นโรคตาที่คนไทยเป็นกันมาก แม้อาการเริ่มต้นอาจไม่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้ส่งผลร้ายถึงขั้นตาบอดได้ มาดูสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในบทความนี้เพื่อดูแลดวงตาของคุณ

ต้อเนื้อ หนึ่งในโรคตาที่พบได้มากในคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนวัย 40 ปีขึ้นไปที่ต้องทำงานกลางแจ้ง แม้อาการของต้อชนิดนี้จะไม่ร้ายแรง เพียงแค่ทำให้เรารู้สึกรำคาญและระคายเคือง แต่หากปล่อยเอาไว้ไม่ทำการรักษาอย่างถูกวิธีจนอาการรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะผิดปกติอย่างอื่น ทั้งสายตาเอียง ตามัว หรือกระทั่งสูญเสียการมองเห็นแบบชั่วคราวและเสี่ยงตาบอดได้ เพราะฉะนั้นเราจึงอยากชวนทุกคนมารู้เท่าทันโรคชนิดนี้ทั้งสาเหตุและวิธีรักษา รวมถึงการผ่าต้อเนื้อเพื่อให้รับมือกับต้อเนื้อได้อย่างเหมาะสม

ต้อเนื้อ (Pterygium) คืออะไร

ต้อเนื้อ เป็นภาวะที่เกิดจากการเติบโตของเยื่อบุตาผิดปกติจนลุกลามสู่กระจกตา ทำให้มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีขาวหรือชมพูบริเวณกลางลูกตา เริ่มจากด้านในของดวงตาและขยายออกไปยังกลางดวงตา หากปล่อยไว้โดยไม่รับการรักษาอย่างเหมาะสม ต้อเนื้อจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและคุณภาพชีวิตหลายด้าน โดยเฉพาะอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นชั่วคราวหรือแม้กระทั่งเสี่ยงเกิดอาการตาบอด แต่หากรู้ตัวเร็วและปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาหรือการผ่าต้อเนื้อ อย่างเหมาะสม เราก็สามารถกลับมามองเห็นได้เหมือนปกติอีกครั้ง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคต้อเนื้อ

สาเหตุของการเกิดต้อเนื้อนั้นไม่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้

1. รังสีอัลตราไวโอเลต (UV)

การสัมผัสกับรังสี UV จากแสงแดดเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดต้อเนื้อ รังสี UV สามารถทำลายเซลล์เยื่อบุตาและกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติได้

2. มลภาวะที่ทำให้ดวงตาระคายเคือง

การสัมผัสกับฝุ่น ลม ควัน หรือสารเคมีที่อาจทำให้ดวงตาระคายเคืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อเนื้อ หากดวงตาเกิดการระคายเคืองอย่างต่อเนื่อง จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติจนกลายเป็นต้อ

3. สภาพแวดล้อม

ผู้ที่อาศัยหรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองหรือมลภาวะทางอากาศสูง มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดต้อเนื้อมากขึ้น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานสามารถกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองและทำให้เกิดความเสี่ยงโรคต้อตามมา

4. พันธุกรรม

ครอบครัวที่มีสมาชิกเคยเป็นต้อเนื้ออาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะผิดปกติของดวงตาได้เช่นกัน เพราะพันธุกรรมที่เสี่ยงทำให้ร่างกายมีความไวต่อปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ มากขึ้น

5. อายุ

ต้อเนื้อพบได้บ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เนื่องจากช่วงวัยเหล่านี้มีการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งแสงแดด ฝุ่นละออง และสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่าง ๆ 

6. อาชีพ

อาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งหรือต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองและแสงแดดมาก เช่น เกษตรกร ชาวประมง คนงานก่อสร้าง มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดต้อเนื้อ

7. ภูมิภาคที่อาศัยอยู่

การอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีแสงแดดจ้า เช่น บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยของเราก็ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อเนื้อสูงขึ้น เนื่องจากการสัมผัสกับรังสี UV มากกว่าบริเวณอื่น

โรคต้อเนื้อ อาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคต้อเนื้อสามารถแสดงได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงระดับรุนแรง ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของต้อที่เติบโตอยู่ในดวงตาของเรา อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

1. ระคายเคืองตา

ผู้ป่วยอาจรู้สึกระคายเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา เกิดจากเนื้อเยื่อที่เติบโตเกินปกติจนทำให้ระคายเคือง

2. ตาแดง

การอักเสบของต้อสามารถทำให้เป็นตาแดงได้

3. แสบตาและคันตา

ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบตาหรือคันตา มักเกิดขึ้นเมื่อต้อเติบโตลุกลามมากขึ้น หรือเมื่อสัมผัสกับปัจจัยกระตุ้น เช่น ฝุ่นละออง ลม หรือแสงแดด

4. ตาแห้ง

ต้อเนื้อทำให้การผลิตน้ำตาลดลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตาแห้งและไม่สบายตา

5. มองเห็นไม่ชัดเจน

หากต้อขยายเข้าสู่กลางกระจกตา อาจทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน เห็นภาพมัวหรือบิดเบี้ยว ซึ่งเป็นอาการที่อยู่ในระดับรุนแรงและอาจต้องรับการรักษาโดย การ ผ่าตัด ต้อเนื้อ

6. ตาไวต่อแสง ไม่สู้แสง

ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกไม่สบายตาเมื่อมองแสงจ้าหรือมีอาการไม่สู้แสง เกิดจากการกระจายแสงผิดปกติเมื่อมองผ่านต้อที่เติบโตอยู่ในดวงตา

7. มองเห็นต้อในลูกตาได้ชัดเจน

ในผู้ป่วยบางรายต้อที่เติบโตจะเห็นได้ชัดเจน มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีขาวหรือชมพูบริเวณขอบตาและขยายเข้าสู่กระจกตา

การสังเกตและติดตามอาการของโรคต้อเนื้อเป็นสิ่งสำคัญ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม การรักษาในระยะแรกอาจใช้ ยาหยอดตาสำห รับต้อเนื้อ เพื่อลดการอักเสบและการระคายเคือง แต่หากต้อขยายตัวมากจนกระทบกระเทือนการมองเห็น การผ่าต่อเนื้อ ก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นเพื่อรักษาโรค ป้องกันไม่ให้สูญเสียการมองเห็น และเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง

อันตรายของการเป็นต้อเนื้อ

ผู้ป่วยต้อเนื้อหลายคนอาจไม่คิดว่าโรคนี้อันตราย เนื่องจากระยะแรกอาการอาจแสดงไม่ชัดเจน ไม่รบกวนชีวิตประจำวันเท่าไหร่นัก แต่หากปล่อยให้ต้อเนื้อเติบโตโดยไม่รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพตามากมายที่มีผลกระทบต่อการมองเห็นและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

ต้อเนื้อเป็นการเติบโตของเนื้อเยื่อเยื่อบุตาที่ขยายจากบริเวณขอบตาเข้าไปในกระจกตา ทำให้รู้สึกระคายเคืองตา แสบตา หรือมีอาการตาแดงอยู่เสมอ หากต้อขยายเข้าสู่กลางกระจกตา จะทำให้การมองเห็นเริ่มมีปัญหา ผู้ป่วยอาจเห็นภาพไม่ชัดเจน มัว หรือบิดเบี้ยว อาการเหล่านี้เกิดจากการที่เนื้อเยื่อที่ผิดปกติขวางทางแสงที่เข้าสู่ตา ทำให้แสงไม่สามารถผ่านไปถึงจอตาได้เต็มที่ นอกจากปัญหาด้านการมองเห็นแล้ว ต้อเนื้อยังสามารถทำให้ดวงตาดูผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในตัวเองของผู้ป่วย โดยเฉพาะเมื่อเนื้อเยื่อขยายตัวจนเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า

แนวทางการรักษาต้อเนื้อ

หากเป็นโรคระยะเริ่มแรกอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปกป้องดวงตาจากแสงแดดด้วยการสวมแว่นตากรองแสง UV หากผู้ป่วยมีอาการตาแดง ระคายเคืองตา หรือตาบวม อาจใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการก็ได้ แต่หากป้องกันเบื้องต้นแล้วแต่อาการยังรุนแรงขึ้น หรืออาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็อาจต้องรักษาด้วยการ ผ่าต่อเนื้อ

ปัจจุบันการผ่าตัดต้อเนื้อ ที่ได้รับความนิยมมี 5 วิธี คือ

1) ลอกต้อเนื้อออกและเปิดส่วนตาขาวไว้ (Bare sclera technique)

2)ลอกต้อเนื้อและดึงเยื่อตารอบดวงตามาชิดขอบตาดำแล้วเย็บปิด (Simple conjunctival closure)

3)ลอกต้อเนื้อและปลูกถ่ายเยื่อตาของผู้ป่วยทดแทนบริเวณที่ลอกออก (Resection followed by autologous conjunctival graft)

4)ลอกต้อเนื้อและปลูกถ่ายเนื้อเยื่อขอบตาดำและเยื่อตาของผู้ป่วยทดแทนบริเวณที่ลอกออก (Resection followed by limbal-conjunctival graft)

5)ลอกต้อเนื้อและปลูกถ่ายเยื่อหุ้มรกบริเวณที่ลอกออก (Resection followed by amniotic membrane graft)

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยต้อเนื้อ

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยต้อเนื้อเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยลดอาการไม่สบายตา ป้องกันการลุกลามของต้อ และยังทำให้สุขภาพดวงตาให้ดีขึ้น เราควรปรับพฤติกรรมและหันมาดูแลตัวเอง ดังนี้

1. ป้องกันการสัมผัสกับรังสี UV

สวมแว่นกันแดดที่มีคุณสมบัติป้องกันรังสี UVA และ UVB อย่าลืมสวมหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันแสงแดดเวลาอยู่กลางแจ้งด้วย

2. หลีกเลี่ยงมลภาวะที่ทำให้ดวงตาระคายเคือง

เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองหรือควัน ควรสวมแว่นตานิรภัยหรือแว่นตาป้องกันฝุ่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่อาจระเหยเข้าตาจนทำให้ตาอักเสบ

3. รักษาความชุ่มชื้นของดวงตา

ใช้น้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตาและลดการระคายเคือง ที่สำคัญต้องดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อรักษาสุขภาพของดวงตาและลดอาการตาแห้ง หากเกิดการระคายเคืองอาจใช้ยาหยอดตาสำหรับต้อเนื้อ ร่วมด้วย

4. ดูแลสุขอนามัยของดวงตา

หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะการขยี้ตาทำให้ดวงตาระคายเคือง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และหมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสดวงตาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

5. ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง

หากต้องใช้น้ำตาเทียม ยาหยอดตา หรือยาแก้อักเสบ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกใช้ยาเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

6. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม

หากต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ควรพักสายตาเป็นระยะ ๆ และปรับหน้าจอให้มีแสงสว่างที่เหมาะสมเพื่อลดความตึงเครียดของดวงตา และหากต้องอยู่ในห้องแอร์ตลอดวันก็ควรใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อรักษาความชื้นในอากาศและลดอาการตาแห้งด้วย

7. ติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

ควรพบจักษุแพทย์ตามนัดหมายเพื่อรับการตรวจประเมินและติดตามการรักษาเป็นประจำตามที่แพทย์นัด หากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติหรือต้อมีการเปลี่ยนแปลง ต้องรีบบอกให้แพทย์รู้ทันที

ต้อเนื้ออาจเป็นโรคที่ดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพตามากกว่าที่คิด ดังนั้นอย่าลืมเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หมั่นดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม และหากเกิดอาการต้อเนื้อขึ้นกับเรา ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด

 สาเหตุการเกิดต้อเนื้อ พร้อมวิธีรักษาและการดูแลหลังผ่าตัดต้อเนื้อ
 ประโยชน์ของน้ำตาเทียม ทำไมผู้สูงอายุควรใช้
 สายตาแบบไหน ควรทำ ICL ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม
 PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนปลอดภัยกว่ากัน
 ในบางวันตื่นนอนแล้วตามี 3 ชั้น และบางวันมีแค่ 2 ชั้น
 ทำไมใส่คอนแทคเลนส์แล้วตามัว ทำอย่างไรดี
 ใครเสี่ยงเป็นวุ้นในตาเสื่อมบ้าง พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี
 มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?
 เบต้า-แคโรทีน (Beta-Carotene) ดียังไง ช่วยแก้สายตาพร่ามัว บำรุงสายตาจริงไหม
 สาเหตุ อาการ และการรักษา กระจกตาเป็นแผลมองไม่ชัด

Copyright © 2024 All Rights Reserved.