ใครบ้างเสี่ยงเป็นต้อลม เป็นแล้วหายได้หรือไม่
ทำความรู้จักอาการของต้อลม วิธีการรักษา พร้อมวิธีดูแลตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจากโรค
ต้อลม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัย ถึงแม้ไม่อันตรายแต่ก็มีผลต่อความสวยงามของดวงตา หรือบางรายอาจรบกวนการดำเนินชีวิตได้ เช่น มีอาการระคายเคืองตา มองไปทางไหนก็รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา ตาแดง น้ำตาไหลได้ ในบทความนี้เรามาทำความรู้จักกับต้อลมในหลายมุมทั้ง ปัจจัยเสี่ยง อาการที่พบ และการรักษา เพื่อป้องกันและดูแลตัวเองจากต้อลมเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม
ปัจจัยเสี่ยงต่อต้อลมเกิดจากอะไร
ต้อลมเกิดได้จากหลายสาเหตุประกอบกัน ปัจจัยเสี่ยงหลักๆคือการเผชิญแสงแดดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลต รังสีดังกล่าวทำให้เยื่อบุตาค่อย ๆ เสื่อมสภาพ และหนาตัวขึ้นจนเกิดเป็นต้อลมในที่สุด
นอกจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดแล้ว ต้อลมยังเกิดจากสาเหตุ อื่นๆได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น การการระคายเคืองตาเรื้อรังทั้งจากมลภาวะ ฝุ่น ควัน และลมร้อน รวมทั้งสิ่งเหล่านี้เองอาจกระตุ้นให้ต้อเนื้อเกิดการอักเสบขึ้นมาได้ การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ โดยเฉพาะคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งก็มีผลให้ต้อลมแย่ลงได่เช่นกัน
ต้อลม มีอาการอย่างไรบ้าง
ก่อนทราบว่าอาการของต้อลมเป็นอย่างไร ลองมาทำความรู้จักโรคต้อลมกันสักนิด ต้อลมคือโรคทางตาชนิดหนึ่งซึ่งมักไม่มีอาการ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้อลมจะมีลักษณะเป็นก้อนขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนบริเวณตาขาวส่วนที่ชิดกับกระจกตาของเรา โดยมักจะเป็นทั้งสองตา ส่วนใหญ่ต้อลมมักเกิดบริเวณหัวตา แต่ก็สามารถพบบริเวณหางตาได้ ต้อลมต่างกับต้อเนื้อตรงที่ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่กว่าและกินบริเวณไปยังส่วนของตาดำได้ด้วย จึงสามารถเรียกได้ว่าต้อลมกับต้อเนื้อเป็นโรคชนิดเดียวกัน แต่ต้อเนื้อคือระยะลุกลามที่ขยายขนาดขึ้นไปบริเวณตาดำ จนอาจกดให้กระจกตาโค้งผิดรูปจนส่งผลต่อการมองเห็นได้
สำหรับอาการของต้อลมในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ สามารถมองเห็นได้ตามปกติ บางรายหากต้อเนื้อเกิดการอักเสบจะมีอาการรุนแรงขึ้นได้ อาจรู้สึกแสบตา ระคายเคืองตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล โดยอาการอักเสบมักเกิดจากการตากแดดนาน ๆ หรือเผชิญฝุ่น ควัน มลภาวะต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบได้บ่อยในประเทศไทยซึ่งมีอากาศร้อนและแสงแดดแรง
ต้อลมอันตรายไหม
เมื่อเกิดอาการต้อลม หลายคนอาจรู้สึกกังวลว่าเป็นอันตรายหรือไม่ แท้จริงแล้วต้อลมไม่ใช่โรคอันตรายที่ต้องกังวลจนเกินไปนัก เพราะเป็นโรคที่รักษาได้ โดยการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคและอาการว่าเป็นมากหรือน้อยเพียงใด อีกทั้งการเป็นต้อลมจะไม่เป็นอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ตรงกันข้ามกับต้อหินซึ่งเป็นโรคต้อที่อันตรายมาก เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาจนถึงขั้นลุกลาม จะเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นถาวร
เป็น ต้อลม มีโอกาสหายไหม รักษาด้วยวิธีใด
แม้ต้อลมจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตก็ควรรักษาเพื่อบอกลาโรคดังกล่าว โดยวิธีการรักษาเบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูอาการภายนอกหรือใช้เครื่องมือทางจักษุแพทย์ เพื่อดูว่ามีอาการมากหรือน้อยเพียงใด การซักประวัติเพื่อหาสาเหตุที่มาของโรค เช่น รูปแบบการดำเนินชีวิต อาชีพ ฯลฯ รวมถึงประวัติของบุคคลในครอบครัว เนื่องจากคนไข้บางรายเป็นต้อลมเพราะพันธุกรรม โดยการรักษาสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีการ ดังนี้
1.การหยอดตา
กรณีที่อาการของต้อลมไม่รุนแรงมากนักแพทย์จะแนะนำให้หยอดตาเป็นประจำ แม้จะไม่ใช่วิธีการกำจัดต้อลมให้หายขาด แต่เป็นการช่วยลดอาการทางตาและลดโอกาสที่ต้อลมจะขยายขนาดขึ้นจนกลายเป็นต้อเนื้อ หรือลดโอกาสเกิด๖้อลมอักเสบได้ ควรหยอดตาไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด สวมใส่แว่นตากันแดดเป็นประจำ
2.การผ่าตัด
อีกหนึ่งวิธีการรักษาต้อลมที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น คือการผ่าตัดปลูกเนื้อเยื่อไปยังบริเวณเยื่อบุตาขาวที่ถูกกำจัดต้อลมออกไปแล้ว จากนั้นเย็บปิดด้วยไหมหรือตัวช่วยสมานแผล วิธีนี้จะช่วยลดการเกิดต้อลมซ้ำ แต่หลังจากผ่าตัดอาจมีอาการระคายเคืองและต้องปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ต้อลมกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม
ต้อลมสามารถรักษาเบื้องต้นได้ด้วยการหยอดตาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหรือชะลอการดำเนินของโรค แต่ถึงอย่างนั้นเชื่อว่าหลายคนมักมีคำถามว่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นต้อลมได้อีกหรือไม่ ซึ่งต้องตอบตามตรงว่ามีโอกาสกลับมาเป็นต้อลมได้อีก เนื่องจากสาเหตุการเกิดต้อลมส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมคุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ท่ามกลางแดดจัด การใช้ชีวิตในเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่น ควัน และมลภาวะ รวมถึงการต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมงโดยไม่มีการพักสายตา สิ่งเหล่านี้คือตัวการทำให้เกิดต้อลมซ้ำได้อีก แม้จะได้รับการรักษาแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงมีความสำคัญเพื่อลดโอกาสการเกิดต้อลมซ้ำให้น้อยที่สุด
วิธีลดความเสี่ยง ป้องกันการเกิดต้อลม
แม้ต้อลมจะไม่ใช่โรคต้อที่อันตรายจนทำให้สูญเสียการมองเห็น แต่ถึงอย่างนั้นควรลดความเสี่ยงด้วยการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว โดยการป้องกันการเกิดต้อลมสามารถทำได้ดังนี้
-หลีกเลี่ยงการเผชิญรังสีอัลตราไวโอเลต วิธีง่าย ๆ คือไม่ควรอยู่ท่ามกลางแดดจัดนาน ๆ เพราะมีโอกาสทำให้ดวงตาต้องเจอกับแสงแดดจ้า ซึ่งแสงแดดคือตัวการสำคัญในการทำให้เกิดต้อลมเลยทีเดียว-หากมีเหตุให้ต้องอยู่ท่ามกลางแดดจัด แนะนำให้ใส่แว่นกันแดด ใส่หมวก หรือกางร่มจะช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลตได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาอีกด้วย-หลีดเลี่ยงสถานที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะ ฝุ่น ควัน ละอองฝอยต่าง ๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้ต้อลมเกิดการอักเสบหรือมีอาการรุนแรงขึ้นได้-ไม่ควรขยี้ตาบ่อย ๆ เพราะเสี่ยงต่อการทำให้ตาอักเสบ ระคายเคือง รวมถึงยังมีโอกาสทำให้ดวงตาติดเชื้อ-หากมีอาการเริ่มต้นของต้อลม เช่น สังเกตว่ามีจุดสีเหลืองอ่อนบนตาขาว แม้จะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงขนาด สี รูปทรงของต้อลมเป็นระยะ หากพบว่ามีอาการผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ควรรีบพบจักษุแพทย์-แม้ได้รับการรักษาต้อลมแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นคนจำนวนไม่น้อยกลับมาเป็นโรคดังกล่าวได้อีก วิธีลดความเสี่ยงเกิดโรคซ้ำ แนะนำให้สวมใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ต้องเผชิญแดดจัดหรือฝุ่นควัน ที่สำคัญคือแว่นกันแดดชนิดที่กรองรังสียูวีได้ เพื่อไม่ให้แสงแดดกระทบดวงตาโดยตรง
ต้อลมเป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการ เพราะฉะนั้นควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่สายตาต้องเผชิญแสงแดด ฝุ่น ควัน หรือต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เพื่อสุขภาพตาที่ดีและลดการเกิดปัญหาระยะยาวต่อดวงตา
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.