ศูนย์ตาและต้อกระจก
โรคต้อกระจกต้องผ่าตัดหรือไม่
การผ่าตัดต้อกระจกจำเป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและอาการเลนส์ตาขุ่นว่าลุกลามขนาดไหน และควรรู้จักวิธีลดความเสี่ยงเป็นต้อกระจกเพื่อชะลอการเกิดโรค
เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นจะรู้สึกได้ว่าภาพต่าง ๆ ที่มองเห็น ไม่คมชัดสดใสเหมือนที่เคยเป็นมา เป็นไปได้ว่าอาการตามัวแบบนี้คือโรคต้อกระจกที่มักพบในผู้สูงวัย แต่ผู้ป่วยด้วยโรคต้อกระจกส่วนใหญ่เข้าใจว่าอาการตาพร่ามัวเป็นไปตามอายุขัย แก่แล้วตาไม่ดีเป็นเรื่องธรรมดา แล้วรอจนกระทั่งเป็นมากขึ้น ทำให้รักษายาก ต้อกระจกเป็นโรคที่ควรรีบรักษา หากเป็นมากอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดต้อกระจก โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าควรผ่าตัดหรือไม่ไม่ควรผ่าตัด และผ่าด้วยวิธีใด แต่ในขั้นเริ่มแรก เราทุกคนควรสังเกตและใส่ใจตัวเองเสมอว่ามีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับดวงตาของเราบ้าง หากเป็นอะไรจะได้รักษาทัน
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นต้อ อาการบ่งชี้ที่ควรพบจักษุแพทย์
การมองเห็นของคนเราจะชัดเจนไม่ว่ามองใกล้หรือมองไกลตามกระบวนการทำงานของดวงตาที่ปกติ โดยแสงจะผ่านเข้ามายังกระจกตาและผ่านแก้วตาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเลนส์ตา แล้วเข้าไปที่จุดรับภาพได้อย่างพอดีด้วยกลไกการปรับโฟกัสตามธรรมชาติ แต่ในภาวะที่เลนส์ตาเกิดการขุ่นมัวหรือเลนส์ตาเสื่อม แสงจะผ่านเข้ามาได้น้อยลง นอกจากนี้ความขุ่นยังอาจทำให้แสงเกิดการหักเหและไม่ไปที่จุดรับภาพได้พอดี การโฟกัสผิดปกติทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด ภาวะเลนส์ตาขุ่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโรคต้อกระจก อาการที่รู้สึกได้ในระยะแรก ๆ ของโรคก็คือ
- ตามัว มองเห็นไม่ชัด
- ภาพที่เห็นอาจเป็นภาพซ้อน จากการหักเหของแสงที่ผิดปกติ
- สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นอยู่ก่อนแล้ว อาจจะเริ่มรู้สึกว่าสายตาสั้นขึ้นกว่าเดิม เพราะมองภาพมัวมากขึ้น●อยู่ในที่แสงจ้าไม่ค่อยได้ ตาไม่สู้แสง
- มองเห็นแสงไฟวาบในบางครั้งเห็นแสงฟุ้งรอบดวงไฟ
- การมองสีไม่ตรงกับสีจริง
ลักษณะ ตา ต้อกระจก อาจเกิดกับคนอายุน้อยได้ด้วย ถึงจะยังหนุ่มยังสาวก็ไม่ควรมองข้ามอาการเหล่านี้ หลายคนเข้าใจว่าต้อกระจกจะเป็นได้ก็ต่อเมื่ออายุมากแล้ว จึงชะล่าใจ ในความเป็นจริง ต้อกระจกเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ อายุน้อย หรือวัยทำงานก็มีโอกาสเป็นถ้ามีปัจจัยกระตุ้นให้เลนส์เสื่อมเร็วขึ้น เช่น
- รังสีอัลตราไวโอเลต การทำงานอยู่ในที่ที่มีแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ
- โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง
- โรคตาบางชนิด เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ
- สายตาสั้นมาก
- การผ่าตัดตา
- การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- ได้รับอุบัติเหตุ
- การสูบบุหรี่
- การฉายรังสี
เป็นโรคต้อกระจกต้องผ่าตัดหรือไม่
ผู้ที่ได้รับการตรวจพบว่าเป็นต้อกระจก จะได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเป็นต้อในระยะใด สำหรับอาการในระยะเริ่มต้น ยังสามารถรอการผ่าตัดได้อยู่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะประเมินว่าผู้ป่วยยังสามารถใช้สายตาในการมองเห็นได้ดีและใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่ ผู้ป่วยที่ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดต้อกระจก จะต้องผ่านการประเมินประเด็นสำคัญต่อไปนี้
- ใช้สายตามองเห็นได้
- สามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้อย่างปลอดภัย
- สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้
- ทำงานบ้านได้ตามปกติ
- ใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างมากๆ ได้
นอกจากนี้ แพทย์จะประเมินอาการจากลักษณะตาต้อกระจก ดูความขุ่นมัวของเลนส์ตาว่าอยู่ในระยะใด เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค
- ระยะเริ่มต้น (Early Cataract) แก้วตาหรือเลนส์ตามีอาการมัวเล็กน้อยเมื่อมองที่ดวงไฟอาจเห็นแสงสะท้อนรบกวนการมองเห็นอาจจะยังไม่ต้องผ่าตัดในทันที
- ระยะที่เลนส์ตาเริ่มขุ่นตรงกลาง (Immature Cataract) ในระยะนี้ สามารถใช้แว่นสายตาหรือแว่นกันแดดช่วยได้ แต่ต้องพิจารณาการผ่าตัดเป็นทางเลือกก่อนที่ต้อจะลุกลามไปถึงระยะต่อไป
- ระยะต้อสุก (Mature Cataract) เลนส์ตาขุ่นมาก ความขุ่นลามไปทั่วแก้วตาเป็นระยะที่มีปัญหาการมองเห็นไม่สามารถมองเห็นได้ในที่มืด และจะเห็นจุดสีขาวกลางตาดำ บริเวณที่เป็นรูม่านตาในระยะนี้แพทย์จะให้รีบทำการผ่าตัดต้อกระจก
- ระยะต้อสุกเกิน (Hypermature Cataract) โปรตีนรั่ว ไม่ผ่าตัดไม่ได้ เพราะจะเกิดการอักเสบ และปวดตามีโอกาสที่จะกลายเป็นต้อหิน
การรักษาต้อกระจกมีกี่วิธี
โรคต้อกระจก รักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น การผ่าต้อกระจก แบ่งออกเป็น
- การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยเครื่อง (Phacoemulsification) ซึ่งเป็นการใช้คลื่นเสียง Ultrasound ความถี่สูงในการสลาย แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน
- การผ่าตัดเปิดแผลที่บริเวณครึ่งบนของลูกตาเพื่อเอาเลนส์ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมทดแทน (Extracapsular Cataract Extracion ; ECCE)
เมื่อต้องผ่าตัดควรเตรียมตัวอย่างไร
หลังจากที่ตรวจพบว่า ลักษณะ ตา ต้อกระจก อยู่ในขั้นที่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเลือกเวลาที่สุขภาพมีความพร้อมจะเข้ารับการผ่าตัดได้ และให้เตรียมพร้อมโดยการปฏิบัติดังนี้
- พักผ่อนอย่างเต็มที่ก่อนวันผ่าตัด นอนให้เต็มอิ่มและไม่ทำงานหนัก
- ชำระล้างร่างกายให้สะอาด และในวันผ่าตัดไม่ควรแต่งหน้า
- หากมีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยา สามารถทานได้ตามปกติ ยกเว้นยาบางชนิด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน
- ควรไปถึงโรงพยาบาลก่อนเวลาผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อหยอดตาก่อน
- ก่อนเข้าห้องผ่าตัด 1-2 ชั่วโมง อาจรับประทานอาหารได้เล็กน้อย
- ในขณะที่แพทย์ทำการผ่าตัด ควรนอนศีรษะนิ่ง หากจะไอหรือจามหรือต้องการขยับศีรษะ ให้แจ้งทีมแพทย์ก่อนทุกครั้ง
หลังจากที่การผ่าตัดผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยจะต้องดูแลดวงตาและระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
- ระวังการไอหรือจามอย่าให้แรงเกินไป อาจส่งผลถึงแผลที่ตา
- การล้างหน้าแบบปกติ สามารถทำได้หลังจากการผ่าตัดผ่านไปแล้ว 1 เดือน หรือเมื่อแพทย์อนุญาต
- การสระผม ควรสระที่ร้านก่อน หรือถ้าที่บ้านมีเตียงนอนสระผมก็สามารถนอนสระได้ เพราะการสระผมต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตา
- ใส่แว่นกันแดดเสมอ หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 1 เดือน
- ไม่ควรทำงานหนัก หรือออกกำลังกายแบบหักโหม
- หากมีสัตว์เลี้ยง ควรระวังการเล่นกับสัตว์ไม่ให้เข้าใกล้ใบหน้า
- ถ้ามีอาการตาแห้งสามารถใช้น้ำเทียมได้ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
- งดอาหารรสจัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใช้ยาหยอดตา การนัดหมายเพื่อติดตามอาการ และตรวจสุขภาพตาอย่างต่อเนื่อง
- ถ้ามีอาการผิดปกติหลังจาก ผ่าตัดต้อกระจก เช่น ตาแดง ปวดตา รีบไปพบแพทย์ทันที
ลดความเสี่ยงเป็นต้อกระจกได้ถ้าไม่อยากผ่าตัด
ต้อกระจก ถ้าเป็นมากต้องผ่าตัด ดังนั้นทุกคนที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็นต้อ ควรหาวิธีชะลออาการไม่ให้ลุกลาม สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นควรหาวิธีลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่จะส่งผลให้เป็นต้อกระจก และจะต้องตระหนักไว้เสมอว่า โรคนี้ไม่ได้รอให้ใครอายุมากถึงจะมาเยือน แต่สามารถเป็นได้ตั้งแต่วัยทำงาน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลและถนอมสายตา และความใส่ใจในสุขภาพดวงตาของตัวเราเอง
วิธีดูแลดวงตาและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง สามารถทำได้ดังนี้
- ไม่อยู่ในที่ที่มีแสงจ้า หรือแสงแดดจัด หากจำเป็นให้ใส่แว่นกันแดดเสมอเพื่อไม่ให้ได้ผลกระทบจากรังสียูวี
- ไม่ควรจ้องมองไปที่ดวงอาทิตย์บ่อย ๆ
- สำหรับผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่อดวงตา เช่น โรงงาน อู่ซ่อมรถ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตลอดเวลา
- ไม่ควรปล่อยให้สายตาทำงานหนัก เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือดูโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
- ในการทำงานในสำนักงานหรือทำงานจากที่บ้าน ควรจัดสถานที่ทำงานให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ไม่จ้าและไม่มืดเกินไป
- ไม่ควรซื้อยาหยอดตาใช้เอง แต่ควรได้รับการตรวจและใช้ยาตามคำสั่งของจักษุแพทย์เท่านั้น
- หากมีโรคประจำตัว ควรดูแลสุขภาพทั้งในเรื่องอาการของโรค พร้อมกับดูแลสุขภาพตาไปด้วย เพราะโรคบางอย่างมีผลกระทบต่อดวงตา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ หรือลดปริมาณให้น้อยลง
ต้อกระจกเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเมื่อมีอาการที่รุนแรงต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดต้อกระจกเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามทุกคนสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก และชะลอการเสื่อมสภาพของกระจกตาได้ด้วยการดูแลสุขภาพตาที่ดีอยู่เสมอ
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.