ศูนย์โรคตาทั่วไป
ตาเข ตาเหล่ รู้ก่อน รักษาได้ มีโอกาสหาย
ตาเข ตาเหล่ คืออาการผิดปกติของตาทั้ง2ข้าง แต่อาจจะแสดงอาการออกมาเด่นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างได้ โรคตาเขรักษาได้ เรามาทำความเข้าใจสาเหตุอาการและรับคำแนะนำในการดูแลเพื่อป้องกันโรคเพื่อสุขภาพตาที่ดีขึ้น
ตาเข ตาเหล่ คืออาการผิดปกติของตาทั้ง2ข้างทำงานไม่สัมพันธ์กัน สามารถเคลื่อนที่หรือหันไปมาได้ตลอดเวลา โดยดวงตาอาจหันเข้า ออก ขึ้น ลง (อาจพบไม่บ่อยนัก) ซึ่งจะสังเกตได้จากการมองวัตถุหรือมีอาการเหนื่อยล้า อาการตาเขนี้สามารถพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาการตาเขพบได้ในเด็กประมาณ 3-5% เกิดจากกล้ามเนื้อตาผิดปกติและส่งผลต่อการมองเห็น
ตาเขเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตาเข แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ตาเขเทียม มักเกิดในเด็กและสามารถหายได้เองเมื่อโตขึ้น
- ตาเขซ่อนเร้น เป็นลักษณะของอาการตาเขที่แสดงออกมาในบางครั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่มีอาการอ่อนเพลีย ปวดตา
- ตาเขถาวร หรือ ตาเขแบบเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่จะเป็นตั้งแต่เกิด อาการตาเขเข้าใน ออกนอก ขึ้นบนและลงล่าง
- ตาเขชนิดอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตา หรือภาวะโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดตาเข
อาการตาเหล่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อตา ความไม่สมดุลในกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา หรืออาจเกิดจากก้อนมะเร็งกดทับกล้ามเนื้อตา หรือมีก้อนเนื้อกดทับเส้นประสาทตา เป็นต้น
- ปัญหาเส้นประสาท เกิดจากเส้นประสาทที่ส่งข้อมูลไปยังกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติ
- พันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด หรือ Trisomy 18 คือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากการมีสำเนาโครโมโซมที่ 18 เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสำเนารวมเป็นสามสำเนา ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในการพัฒนาของร่างกายและสมองของทารก
- เกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงบริเวณที่ตาหรือศีรษะ จนทำให้กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของดวงตาได้รับความผิดปกติ
- ปัจจัยที่มีมาแต่กำเนิด เนื่องมาจากการมีพัฒนาการที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อตาหรือเส้นประสาท
- ปริมาณความผิดปกติของการหักเหของแสงที่สูงในตาอาจทำให้ตาที่ได้รับผลกระทบหันเข้าด้านใน เพื่อพยายามที่จะโฟกัสได้ดีขึ้น ตาเหล่ที่เกิดจากความผิดปกติของการหักเหของแสงมักจะปรากฏขึ้นได้กับเด็กที่มีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป
- ภาวะน้ำคั่งในสมอง (Hydrocephalus) ก็สามารถนำไปสู่ตาเหล่ได้เช่นกัน ภาวะน้ำคั่งในสมองเป็นสภาวะที่มีของเหลวในสมองและรอบ ๆ สมองสะสมมากเกินไป จนไปกดทับเส้นประสาทตาหรือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อ
- ปัญหาจากการใช้สายตามากเกินไป ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นปัญหากับเด็กที่มีอายุ 2-7 ปี ที่ผู้ปกครองให้ใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดจอที่เล็ก จึงทำให้เด็กใช้กล้ามเนื้อตาในการจ้องมองเมื่อใช้งานติดต่อกันนานก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาตาเข ตาเหล่ได้ไวขึ้น
ผลกระทบจากอาการตาเข
สิ่งแรกที่ส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นตาเข ตาเหล่ คือ การสูญเสียความมั่นใจ โดยเฉพาะการเป็นตาเขในวัยเด็กเพราะอาจโดนเพื่อนล้อ อาจส่งผลให้เด็กไม่กล้าไปโรงเรียน เก็บตัวและไม่ยอมเข้าสังคม ถือเป็นปัญหาที่สำคัญมากและควรอธิบายให้เด็กที่เป็นตาเข ครู เพื่อน ๆ และสถานศึกษาให้เข้าใจ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางกายภาพ ดังนี้
- Double Vision การเห็นภาพซ้อนจากการมองวัตถุชิ้นเดียว
- การรับรู้เชิงลึกหรือความยากในการประเมินระยะทาง ไม่สามารถกะระยะได้
- ผลกระทบทางจิตใจและสังคม ทำให้เสียโอกาสทางอาชีพ ความประหม่าและความไม่มั่นใจอันเนื่องมาจากรูปลักษณ์ภายนอก
- อาการปวดตา เนื่องจากความพยายามในการบังคับสายตาให้เป็นปกติ
- หากไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง อาจนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ (Lazy Eyes) หรือภาวะการมองเห็นลดลงในตาเหล่เนื่องจากสมองเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ได้รับ
การวินิจฉัยอาการตาเข
การวินิจฉัยอาการ ตาเข จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ อาการตาเขเทียมและตาเขถาวร ซึ่งตาเขเทียม (Pseudostrabismus) จะพบได้ในเด็กเล็กที่มีพัฒนาการของสันจมูกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ประกอบกับบริเวณหัวตากว้าง จึงทำให้มองเห็นว่าเด็กตาเหล่ แต่พอโตขึ้น สันจมูกสูงขึ้นอาการตาเหล่ในเด็กก็จะหายไป ในขณะที่อาการตาเขถาวร พ่อแม่ของเด็กสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ 5-6 เดือนหลังแรกเกิด โดยสังเกตจากการที่เด็กมองหน้าพ่อแม่แล้วทำตาแปลก ๆ สามารถที่จะนำเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ ซึ่งในวัยดังกล่าวสามารถที่จะตรวจได้เลยว่าเป็นภาวะตาเขจริงหรือไม่
การรักษาตาเข
การรักษาอาการตาเข ตาเหล่ สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และไม่ผ่าตัดโดยวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น
- การใช้แว่นสายตา ในผู้ป่วยบางรายอาการตาเข อาจมาจากความผิดปกติทางสายตา เช่น คนสายตายาวมักจะทำให้ตาเขเข้าด้านใน
- การใช้แว่นปริซึม ซึ่งเป็นเลนส์ชนิดพิเศษเพื่อใช้ลดการมองเห็นภาพซ้อน
- การออกกำลังกายกล้ามเนื้อตาเพื่อปรับปรุงการประสานงานของดวงตา
- การฉีดโบท็อกซ์ไปที่กล้ามเนื้อตาบางครั้งอาจใช้รักษาอาการเหล่บางประเภท โดยเฉพาะอาการตาเหล่เข้าด้านใน (Esotropia) เป็นทางเลือกแทนการผ่าตัด การฉีดโบท็อกจะหยุดการทำงานของกล้ามเนื้อ ใช้สำหรับสภาวะที่เป็นประโยชน์ในการทำให้กล้ามเนื้อหนึ่งหรือหลายมัดอ่อนลงเพื่อป้องกันไม่ให้ดึงแรงมาก
- การผ่าตัดศัลยกรรม เป็นการรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาถาวร ช่วยปรับกล้ามเนื้อตาและปรับปรุงการจัดตำแหน่งของดวงตา การผ่าตัดยังสามารถปรับปรุงหรือฟื้นฟูการมองเห็นด้วยสองตาได้ (ช่วยให้เด็กมองเห็นความลึกได้ดีขึ้น)
หากมีภาวะตามัว ตาขี้เกียจ แพทย์มักจะให้เข้ารับการรักษาในทันที เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ภาวะแทรกซ้อนของตาเข
หากผู้ป่วยมีอาการตามัว ตาขี้เกียจและไม่ยอมเข้ารับการรักษา อาจส่งผลกระทบขั้นร้ายแรงถึงการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ดังนั้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าตรวจพบอาการตาขี้เกียจร่วมอยู่ด้วย แพทย์จะทำการรักษาอาการตาขี้เกียจให้ก่อน หากเป็นในเด็กจะมีแผ่นปิดตา เพื่อบังคับให้ตาทำงาน โดยอาจให้แผ่นปิดตารักษาไปจนเด็กเริ่มโตและมั่นใจว่าระดับการมองเห็นเป็นปกติ จึงจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หลังการผ่าตัด ประกอบไปด้วย
- เยื่อบุตามีเลือดออกแต่จะสามารถกลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์
- อาการตาเหล่กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นจะต้องทำการผ่าตัดซ้ำ หรือเลือกใช้การฉีดโบท็อกซ์ หากพบว่าอาการดังกล่าวเล็กน้อยมากและเป็นที่ยอมรับของตัวผู้ป่วยเอง
การป้องกันอาการตาเข
อาการตาเข ตาเหล่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นมาตั้งแต่วัยเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรให้ความสนใจและหมั่นตรวจสอบทักษะการมองเห็นของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะการเป็นตาเหล่ไม่สามารถหายด้วยตัวเองได้ ยกเว้นตาเหล่เทียมซึ่งจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น ในการป้องกันกรณีอื่น ๆ ได้แก่
- การตรวจตาเป็นประจำ ตรวจหาและรักษาปัญหาสายตาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะในเด็ก
- การใช้แว่นตานิรภัยเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ดวงตา เมื่อทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
- การใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่กำหนดเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการหักเหของแสง
- ลดการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลานาน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดตา จนนำไปสู่ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
โรคตาเข ตาเหล่ เป็นโรคที่ต้องเข้ารับการปรึกษาและรักษาด้วยแพทย์ เพราะวิธีการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัด จึงมีการวางยาสลบโดยเฉพาะในเด็กที่ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.