ศูนย์ตาและต้อกระจก
เป็นต้อหิน (Glaucoma) รักษาหายไหม อาการเป็นอย่างไร
โรค ต้อหิน สาเหตุ เกิดจากการเสื่อมของประสาทตา มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดต้อหินได้ ความน่ากลัวของโรคนี้คือ หากรู้ตัวช้า รักษาไม่ทันเวลา โรคต้อหินก็จะไปพัฒนาไปจนทำให้ผู้ป่วยตาบอดถาวรได้ สำหรับการรักษาต้อหินในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ เราทุกคนจึงต้องป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้โรคต้อหินเกิดขึ้น วันนี้จึงมีเรื่องราวของโรคต้อหินมาฝากเพื่อให้เรียนรู้เท่าทัน รวมถึงวิธีป้องกันให้ห่างไกลจากโรคต้อหิน
โรคต้อ มีกี่ประเภท
โรคต้อ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกี่ยวกับความผิดปกติของดวงตา มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท คือ
- ต้อกระจก (Cataract)โรคต้อกระจกส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ลักษณะอาการคือเลนส์แก้วตาขุ่นลง ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน มองเห็นพร่ามัวเหมือนมีฝ้า หรือหมอกบดบังอยู่ รวมถึงอาจจะเห็นภาพซ้อนสาเหตุหลักมาจากอาการเสื่อมของเลนส์ตาตามอายุ
- ต้อลม (Pinguecula)สาเหตุที่ก่อให้เกิดต้อลมมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของแสงแดด ลักษณะอาการคือมีเนื้อนูนขึ้นที่เยื่อบุตาบริเวณด้านข้างกระจกตาดำ โดยจะอยู่เฉพาะที่บริเวณเยื่อบุตาขาวเท่านั้น ส่วนใหญ่มักพบเจอในบริเวณหัวตาด้านในใกล้กับจมูก เนื้อนูนดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ทั้งหัวตาและหางตา เมื่อเยื่อบุตานูนขึ้นก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
- ต้อเนื้อ (Pterygium)สาเหตุที่ก่อนให้เกิดต้อเนื้อ ประเด็นหลักมาจากรังสี UV ของแสงแดดเช่นเดียวกันกับต้อลม ลักษณะอาการคือเห็นเป็นเนื้อสามเหลี่ยมโดยมีหัวอยู่ที่บริเวณกระจกตายื่นเข้าไปเกาะอยู่บนกระจกตาดำ บริเวณเนื้อเยื่อนี้จะมีเส้นเลือดอยู่ด้วย เนื้อเยื่ออาจจะมีขนาดเล็ก ๆ หรือขนาดใหญ่ก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเส้นเลือด เกิดได้ทั้งบริเวณหัวตาและหางตาในเวลาเดียวกัน เนื่องจากถูกรังสีUV จากแสงแดดเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน หากต้อเนื้อลุกลามไปถึงกระจกตาจะส่งผลให้ทัศนะในการมองเห็นแย่ลงได้
- ต้อหิน (Glaucoma)คือตัวการสำคัญที่เป็นสาเหตุให้ตาบอดถาวรในคนไทย รวมถึงประชากรทั่วโลก เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสื่อมของขั้วประสาทตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น ประเทศไทยเรามีผู้ป่วยโรคต้อหินในประชากรที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มากถึงร้อยละ 30 โดยคิดเป็นจำนวนสูงถึง 2 ล้านคนเลยทีเดียว
ทำความรู้จักต้อหิน คืออะไร โรคต้อหินคือโรคทางสายตาที่เกิดจากความเสื่อมของขั้วประสาทตาส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้อยู่เนื่องจากไม่มีอาการแจ้งเตือน เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนที่สังเกตได้ถึงความผิดปกติทางดวงตาเลยทำให้หลายคนไม่สามารถรักษาได้ทันการ ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด โรคต้อหินพบได้ในคนทุกช่วงอายุแต่ที่พบมากที่สุดคือวัย 40 ปีขึ้นไป
ต้อหินมีแบบไหนบ้าง อาการเป็นอย่างไร
1. ต้อหินชนิดปฐมภูมิ (Primary Glaucoma) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 ต้อหินมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma) เป็นต้อชนิดที่พบได้บ่อย ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความดันตาสูงและความดันตาปกติ โดยทั้งสองประเภทนี้จะไม่แสดงอาการปวดตา หรือตาแดง ส่งผลให้ผู้ป่วยหลายรายมักจะไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับต้อหิน จนกระทั่งสายตาค่อย ๆ มัวลง จนสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ก็อาจจะใช้เวลานับเดือน หรือแรมปี จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าหากไม่รู้ตัวและไม่รักษาอาการให้ทันเวลาก็อาจจะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
1.2 ต้อหินมุมปิด (Primary Angle-Closure Glaucoma) ต้อหินมุมปิดสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ
- ต้อหินชนิดเฉียบพลัน สาเหตุหลักเกิดจากความดันลูกตาที่สูงขึ้นทันทีจึงส่งผลให้ตามัวลงอย่างรวดเร็ว บางรายมีอาการเห็นแสงสีรุ้งรอบๆ ดวงตา รวมถึงปวดตาอย่างรุนแรงลามไปถึงการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากรักษาไม่ทันก็จะทำให้ตาบอดได้อย่างรวดเร็ว
- ต้อหินเรื้อรัง เกิดจากความดันลูกตาที่เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่อาจจะไม่สูงมาก ส่งผลให้มีอาการปวดตารวมถึงปวดศีรษะเล็กน้อย จากนั้นสายตาก็จะค่อย ๆ เห็นแคบลง หรือมัวลงอย่างช้า ๆ จนเราแทบจะไม่ค่อยได้สังเกตเห็นความผิดปกตินั้นเลย หลายคนจึงปล่อยทิ้งไว้จนทำให้ประสาทตาเสียไป เป็น ต้อหินมุมปิด ที่ค่อย ๆ เริ่มเป็นอย่างช้า ๆ ไม่ให้เรารู้ตัว เพราะฉะนั้นหากมีอาการเล็กน้อยก็ควรปรึกษาแพทย์อย่างเร่งด่วน
2. ต้อหินชนิดทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma) ต้อหินชนิดนี้ เป็นผลพวงมาจากสาเหตุของโรคตาชนิดอื่น ๆ ที่สะสมมาเป็นเวลานาน อย่างเช่น ม่านตาอักเสบ , อุบัติเหตุทางสายตา , ผลจากการใช้ยาพวกสเตียรอยด์เป็นเวลานาน , ผลจากเบาหวานขึ้นจอตา รวมไปถึงจากการที่เป็นต้อกระจกมาก่อน
3. ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) พบได้ในเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 3 ขวบ เนื่องจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะทำให้เด็กมีอาการน้ำตาไหล , ตาสู้แสงไม่ค่อยได้ , บางรายอาจมีขนาดตาดำใหญ่กว่าปกติ รวมถึงกระจกตาดำขาวขุ่น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เด็กสูญเสียมองเห็นในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุการเกิดต้อหิน
ต้อหิน สาเหตุ นั้นแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ต้อหินชนิดปฐมภูมินั้นเกิดขึ้นเอง ส่วนต้อหินชนิดทุติยภูมิมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา, โรคตาชนิดอื่น ๆ รวมถึงการผ่าตัด ซึ่งผู้ที่เป็นต้อหิน อาจเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ดังนี้
- ●ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- มีคนในครอบครัวเคยเป็นต้อหินมาก่อน
- สายตาสั้นหรือยาวเกินไป
- มีประวัติใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- เคยบาดเจ็บ หรือผ่าตัดดวงตามาก่อน
- เคยเป็นโรคที่ส่งผลเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด เช่น เบาหวาน , ความดันโลหิตสูง
วิธีการรักษาต้อหิน
เป็นการยากที่จะรักษาโรคต้อหินให้หายขาดเนื่องจากโรคนี้ทำให้เส้นประสาทตาของเราเสียหายอย่างถาวร การรักษาก็เพียงเพื่อประคับประคองและป้องกันไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
● รักษาด้วยยา ยาต้อหิน มีด้วยกันอยู่หลายกลุ่ม เป็นยาเพื่อลดการผลิตของน้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตา หรือเพื่อที่จะไปช่วยลดความดันลูกตา ขยายช่องถ่ายเทให้น้ำไหลออกสะดวกขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทำการหยอดยารักษาต้อหิน อยู่สม่ำเสมอและหมั่นตรวจเช็คกับจักษุแพทย์พร้อมติดตามอาการตามแพทย์นัดหมาย
● รักษาด้วยการผ่าตัด แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- Trabeculectomy คือการผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยการเจาะผนังลูกตาทำทางระบายน้ำเพื่อลดความดันตา
- Glucoma Drainage Device (GDD) คือการผ่าตัดที่แพทย์จะใส่ท่อวัสดุสังเคราะห์จำพวกซิลิโคนเข้าไปในช่องหน้าม่านตา จะมีจานกักเก็บเย็บวางไว้หลังลูกตาเพื่อช่วยระบายน้ำออกจากช่องหน้าม่านตา โดยวิธีการนี้มักจะใช้หลังจากเคยทำการการผ่าตัดแบบ Trabeculectomy มาก่อนแล้วล้มเหลว
● รักษาด้วยเลเซอร์สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะต้องพิจารณาที่ชนิดและระยะของโรคก่อนการรักษา
แนวทางป้องกันต้อหิน
- อย่าชะล่าใจเมื่อมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสายตา ไม่ว่าจะเป็นตาพร่า , มองไม่ชัด หรือตาอักเสบ ต้องหมั่นเช็กการมองเห็นของตัวเองอยู่เสมอ หากเกิดสิ่งผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ควรตรวจสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- หากเป็นโรคเบาหวาน , ความดันโลหิตสูง ควรควบคุมโรคและรักษาอาการให้ดีเนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเป็นโรคต้อหินได้
- ทำงานในที่แจ้งกลางแสงแดด ควรปกป้องดวงตาโดยการสวมแว่นกันแดดและหมวกปีกกว้างทุกครั้ง
- หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาไม่ควรซื้อยาใช้เอง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นจำพวกบำรุงสายตาอย่าง วิตามินเอ , วิตามินอี และวิตามินซี
โรคต้อรู้ทันรักษาได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรชะล่าใจต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็กสายตาของตัวเองอยู่เสมอโดยเฉพาะในวัยที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจสายตาทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหมั่นเอาใจใส่ดูแลสุขภาพดวงตาอยู่เสมอเพื่อให้ห่างไกลจากโรคต้อ
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.