ชวนสังเกตอาการเริ่มต้นต้อกระจก เมื่อไหร่ที่ควรรักษา

 ชวนสังเกตอาการเริ่มต้นต้อกระจก เมื่อไหร่ที่ควรรักษา

อาการเริ่มต้นของโรคต้อกระจกคือตามัว เห็นภาพไม่ชัด คุณภาพการมองเห็นลดลงซึ่งมักมีอาการในที่มืดหรือมีแสงน้อย เช่น การขับรถเวลากลางคืน มองเห็นรุ้งรอบดวงไฟ ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์บ่อยขึ้น  มองเห็นภาพซ้อน มีการมองเห็นสีที่ผิดเพี๊ยนไป เช่น มองเห็นกระดาษสีขาวมีความเหลืองคล้ายกระดาษเก่าๆ ซึ่งหากพบว่ามีอาการควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา

จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีคนที่ต้องตาบอดจากโรคต้อกระจกมากกว่า 20 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเหตุผลนั้นหนีไม่พ้นคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอาการตาพร่า ตามัว และมองเห็นภาพไม่ชัดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา จึงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยล่าช้ากว่าจะรู้ตัวโรคต้อกระจกลุกลามเข้าสู่ระยะต้อสุกงอม ทำให้การผ่าตัดรักษาต้อกระจก หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ทำได้ยากมากขึ้น เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหรืออาจสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของดวงตาและคุณภาพการมองเห็นจึงเป็นเรื่องสำคัญ  หากมีอาการตามัวลงอย่างเฉียบพลัน มองเห็นแสงวาบคล้ายแสงแฟลชในตา เห็นภาพซ้อน มีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะเฉียบพลันควรรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว โรคต้อกระจกมีอาการเริ่มต้นอย่างไร ควรเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะไหน และ การรักษาต้อกระจกทำอย่างไรได้บ้าง บทความนี้มีคำตอบมาฝาก

ทำความรู้จักต้อกระจก

โรคต้อกระจก (Cataract) คือโรคทางตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโปรตีนของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตามีลักษณะเป็นไตแข็ง หรือมีสีขุ่นขึ้น มักเกิดขึ้นอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจเริ่มขุ่นจากบริเวณขอบเลนส์หรือจากกลางเลนส์ก็ได้ การที่เลนส์ตาเปลี่ยนแปลง มีความขุ่นจึงทำให้แสงผ่านได้น้อยลงหรือการโฟกัสของแสงเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลเสียต่อคุณภาพการมองเห็น โดยทั่วไปผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีสาเหตุจากความเสื่อมของร่างกาย แต่ถึงอย่างนั้นทารกและคนอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคต้อกระจกได้เช่นกัน ซึ่งมักมีสาเหตุจากอุบัติเหตุกระทบกระเทือนดวงตา การรับแสง UV ในปริมาณมากเกินไป การสูบบุหรี่ การรับประทานยารักษาโรคบางชนิด  และโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะต้อกระจก อย่างโรคเบาหวาน โรคกาแล็กโทซีเมีย โรควิลสัน โรคม่านตาอักเสบ หรือตาติดเชื้อ

ต้อกระจกมีกี่ประเภท

โรคต้อกระจกแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามลักษณะของต้อกระจกที่ตรวจพบ แบ่งตามสาเหตุการเกิดโรค เป็นต้น ในบทความนี้แบ่งโรคต้อกระจกออกเป็น 3 ประเภทตามช่วงอายุที่เกิดโรค ดังนี้

1.โรคต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenital Cataract)

เป็นโรคต้อกระจกที่เกิดกับทารกแรกเกิด มีสาเหตุจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกหรือมารดาได้รับการกระตุ้นจากรังสี ยาบางประเภท มีภาวะขาดสารอาหารในระหว่างตั้งครรภ์ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ ในกรณีเลนส์ตาขุ่นเพียงเล็กน้อยจะไม่ส่งผลกระทบกับการมองเห็น แต่ในรายที่มีอาการขุ่นมากจะทำให้เด็กมีภาวะตาขี้เกียจหรือมีปัญหาการมองเห็นได้

2.โรคต้อกระจกในวัยเด็กหรือวัยรุ่น (Juvenile Cataract)

เป็นโรคต้อกระจกที่เกิดในช่วงวัยทารกถึงวัยผู้ใหญ่ มีสาเหตุจากความผิดปกติของพันธุกรรม โรคพันธุกรรมเมตาบอลิค ภาวะม่านตาอักเสบ ประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนเลนส์ตา เป็นต้น

3.โรคต้อกระจกในวัยชรา (Senile Cataract)

เป็นโรคต้อกระจกที่พบมากที่สุด มีสาเหตุจากความเสื่อมของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้างใกล้เคียงกัน 

ระยะของต้อกระจก

เช่นเดียวกับโรคตาประเภทอื่น โรคต้อกระจกมีระดับความรุนแรงเริ่มต้นจากระดับน้อยแล้วจึงลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งในทางการแพทย์แบ่งระยะของโรคต้อกระจกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

●ระยะ Incipientเป็นระยะที่เลนส์ตาเริ่มมีอาการเกิดขึ้น โดยปกติจะเริ่มขุ่นจากกลางตาแต่รอบเลนส์ตาใสหรือกลางตาใส่แต่รอบดวงตาขุ่นก็ได้ ซึ่งในช่วงแรกมักจะเกิดขึ้นช้าๆทำให้ผู้ป่วยจะไม่สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง แต่หากเลนส์ตามีความขุ่นมากขึ้นจะส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็น●ระยะ Intumescentเป็นระยะที่เลนส์ตามีการดูดซึมน้ำมากขึ้น ทำให้เลนส์ตามีอาการบวม ระดับความโค้งมากขึ้น ม่านตาดันไปข้างหน้าและตื้นขึ้น●ระยะ Matureเป็นระยะที่เส้นใยในเลนส์ตาทุกเส้นขุ่น เมื่อมองด้วยตาจะเห็นเลนส์ตาเป็นสีขาว และจอประสาทตาไม่สะท้อนแสง ทำให้แสงผ่านเลนส์ตาไม่ได้  ●ระยะ Hypermatureเป็นระยะที่ต้อกระจกสุก เส้นใยเลนส์ตาสลายเป็นของเหลว ทำให้นิวเคลียสเลนส์ตาเคลื่อนที่ได้

ต้อกระจกสังเกตอย่างไร

อย่างที่รู้แล้วว่าโรคต้อกระจกมีการพัฒนาของโรค 4 ระยะ ซึ่งพัฒนาความรุนแรงจากน้อยไปหามากเช่นเดียวกัน โดยแต่ละระยะมีอาการดังต่อไปนี้

●ระยะที่ 1เนื่องจากเป็นระยะเริ่มต้นจึงทำให้ระยะนี้ความขุ่นที่เลนส์ตาและอาการต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน แต่โดยส่วนใหญ่จะมีอาการดวงตาล้า มองภาพไม่ชัด ค่าสายตาเปลี่ยน หรือมีอาการปวดหัว●ระยะที่ 2ถือเป็นระยะก่อนต้อสุก ระยะนี้จะเห็นเลนส์ตามีสีขาวขุ่นแต่ไม่มาก เหมือนมีหมอกขวางการมองเห็น การมองเห็นไม่ชัดแม้อยู่ในที่สว่าง และค่าสายตาเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งหากตรวจพบในระยะนี้แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยสวมแว่นสายตาเพื่อลดแสงสะท้อนและช่วยเรื่องการมองเห็น เปลี่ยนแว่นตามการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา เพิ่มแสงสว่างภายในบ้าน รวมถึงการหลีกเลี่ยงการขับรถเวลากลางคืน และอาจพิจารณาการผ่าตัดรักษา●ระยะที่ 3ระยะนี้เลนส์ตาขุ่นกระจายจนทั่วและส่งผลกระทบต่อการมองเห็นรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากตรวจพบในระยะนี้แพทย์ใช้การผ่าตัดรักษาต้อกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็น●ระยะที่ 4เป็นระยะที่เลนส์ตาขุ่นมัวมากกว่าในระยะที่ 3 เป็นระยะที่ต้องผ่าตัด เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคต้อหิน

วิธีการรักษาต้อกระจก

การรักษาหลักของต้อกระจก คือการผ่าตัดรักษา เพื่อนำเลนส์ที่เป็นต้อออกและใส่เลนส์ตาเทียมแทนที่ การดำเนินโรคมักเกิดขึ้นช้าๆเหมือนโรคที่เกิดจากความเสื่อมอื่นๆของร่างกาย โดยทั่วไปจักษุแพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดรักษาต้อกระจกเมื่อการมองเห็นเปลี่ยนแปลงจนเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อน สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกที่ได้รับความนิยมมีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่

1.การผ่าตัดลอกต้อกระจก หรือIntracapsular Cataract Extraction (ICCE)

เป็นการผ่าตัดต้อกระจก โดยการนำเลนส์ตา ถุงหุ้มเลนส์ทั้งแคปซูลออกด้วย Freezing Probe และใส่เลนส์ตาเทียมแทนที่ แต่การผ่าตัดวิธีนี้มีข้อเสียตรงที่แผลผ่าตัดใหญ่ จึงใช้เวลาพักฟื้นนาน ทำให้ความโค้งกระจกตาเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็นในภายหลังได้ ปัจจุบันจีงแทบไม่ได้ใช้การผ่าตัดวิธีนี้

2.การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ หรือ  Extracapsular Extraction (ECCE)

เป็นการผ่าตัดนำเอาเลนส์ตาออกให้เหลือเพียงเยื่อหุ้มเลนส์บางส่วนและใส่เลนส์ตาเทียมแทนที่ ซึ่งข้อเสียของการรักษาวิธีนี้คือมีบาดแผลขนาดใหญ่และต้องมีการเย็บปิดปากแผลบริเวณกระจกตา จึงต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเช่นเดียวกับวิธีแรก ในอนาคตอาจมีภาวะสายตาเอียงจากแผลขนาดใหญ่บริเวณกระจกตาและพังผืดบริเวณตาขาวได้

3.การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ Phacoemulsification

เป็นการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงหรือคลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูงเข้าไปสลายเนื้อเลนส์และดูดออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งข้อดีของการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงมีข้อดีตรงที่แผลเล็กมาก ขนาดแผลมักไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ใช้เวลาพักฟื้นน้อย และลดโอกาสเกิดปัญหาสายตาเอียงในอนาคต จึงเป็นวิธีการผ่าตัดที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันเนื่องจากได้ผลการรักษาดี และใช้เวลาการพักฝื้นเร็ว 

ป้องกันต้อกระจกไม่ใช่เรื่องยาก

โรคต้อกระจกเป็นโรคที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น ในปัจจุบันยังไม่มีการป้องกันหรือชะลอโรคแบบ 100% แต่ความรู้ทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบันเชื่อว่ามีหลายวิธีที่มีประโยชน์ โดยแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

●เวลาออกแดดควรสวมแว่นตากันแดดเพื่อชะลอการเสื่อมของเลนส์ตาจากแสง UV●เสริมความแข็งแรงให้ดวงตาด้วยการรับประทานผักผลไม้ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ปัจจุบันการรับประทานอาหารเสริมต่างๆยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสามารถป้องกันโรคต้อกระจก แต่จากงานวิจัยพบว่าการรับประทานผักและผลไม้ตามธรรมชาติสามารถลดความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกได้●ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์●หากมีโรคประจำตัวควรควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามคำแนะนำของแพทย์●รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม●ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อประเมินความเสี่ยงเรื่องโรคประจำตัวและโรคต้อกระจก ช่วยคัดกรองโรคแต่เนิ่นๆ ซึ่งความถี่ในการตรวจตาของแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกันไป

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับโรคต้อกระจกที่นำมาฝาก ซึ่งถึงแม้โรคต้อกระจกจะเป็นโรคที่ยังป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นรวมทั้งยังมีผลการรักษาที่ดี ดังนั้นการหมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตาและการมองเห็น หากรู้เร็วรักษาเร็วหมดกังวลเรื่องสูญเสียการมองเห็นไปได้เลย

 ประโยชน์ของน้ำตาเทียม ทำไมผู้สูงอายุควรใช้
 อาการตาแห้งแก้ได้อย่างไร ต้องหยอดตาหรือไม่
 PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนปลอดภัยกว่ากัน
 ความดันในลูกตาสูง เสี่ยงเป็นต้อหินจริงไหม ต้อหินมุมปิดอันตรายอย่างไร
 เปรียบเทียบราคาการทำ LASIK แต่ละประเภท คุ้มไหมกับราคาที่ต้องจ่าย
 ทำไมทำเลสิกแล้วตาแห้ง น้ำตาเทียมช่วยได้อย่างไร?
 ใครบ้างเสี่ยงเป็นต้อลม เป็นแล้วหายได้หรือไม่
 Femto Lasik เลสิกไร้ใบมีด นวัตกรรมแก้ไขปัญหาสายตา
 สายตาแบบไหน ควรทำ ICL ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม
 ตรวจวัดสายตากับนักทัศนมาตรดีจริงไหม

Copyright © 2024 All Rights Reserved.