ศูนย์โรคตาทั่วไป
ตาเอียงเกิดจากอะไร ทำเลสิคได้ไหม
สายตาเอียงเกิดจากความผิดปกติทางสรีระของกระจกตา อาจเป็นแต่กำเนิด หรือเกิดพร้อมสายตาสั้นและยาว แก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นตา คอนแทคเลนส์ และทำเลสิค
สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นอีกหนึ่งปัญหาในการมองเห็นของหลาย ๆ คนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้คำตอบว่าเป็นอะไรจนกว่าจะได้รับการตรวจสายตา ในระยะเริ่มต้นคือรู้แค่ว่าอ่านหนังสือได้เป็นบางตัว แต่ตัวอักษรที่อยู่ในบรรทัดเดียวบางตัวก็มองไม่เห็น และปัญหาในการมองเห็นนี้ไม่เกี่ยวกับระยะสายตาว่าใกล้หรือไกล คือไม่ว่าวัตถุจะอยู่ใกล้หรือไกลก็มองไม่ชัดเป็นบางจุด
คำตอบที่เป็นไปได้ก็คือ สายตาเอียง เป็นปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นทั้งการเรียน การทำงาน การขับรถ ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจค่าสายตาให้แน่ใจและหาวิธีแก้ไขต่อไป
สายตาเอียงคืออะไร
สายตาเอียงไม่ใช่การมองเห็นภาพเอียง แต่เป็นภาวะผิดปกติของสายตาที่ทำให้มองเห็นภาพไม่คมชัด สายตาเอียงเกิดจากการที่ค่าสายตาไม่ปกติ สามารถพบร่วมกับทั้งสายตาสั้นและสายตายาว ผู้ป่วยบางคนหลังจากตรวจสายตาแล้วพบว่าสั้นด้วยเอียงด้วย บางคนทั้งยาวและเอียง ทำให้การมองเห็นผิดเพี้ยน ภาวะผิดปกตินี้เป็นการหักเหของแสงที่สะท้อนเข้าในตาทำให้การโฟกัสภาพมีปัญหา ลักษณะของภาพที่เกิดขึ้นเป็นได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับว่าแสงหักเหไปในแนวไหน เช่น แนวนอน แนวตั้ง แนวเอียง ภาพที่เห็นอาจจะเป็นภาพเบลอ ภาพซ้อน ภาพบิดเบี้ยว อาจเห็นภาพล้มหรือภาพยืดออกได้ในบางราย
สาเหตุที่ทำให้สายตาเอียง
สายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยทั่วไป สายตาเอียงเกิดจาก สาเหตุต่อไปนี้
- ลักษณะทางพันธุกรรม
- สายตาเอียงโดยกำเนิด จากการที่สรีระความโค้งของกระจกผิดรูปไปจากปกติ
- กระจกตาเป็นแผลเป็นจากสาเหตุใดๆ เช่น การติดเชื้อ หรืออุบัติเหตุต่อกระจกตาและเลนส์ตา
- ได้รับอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา
- เกิดจากการผ่าตัดดวงตา เช่นการลอกต้อเนื้อ หรือผ่าตัดสลายต้อกระจก
- สาเหตุจากโรคทางตาบางชนิดเช่น ต้อเนื้อ (Pterygium) หรือโรคกระจกตาโก่ง(Keratoconus)
สัญญาณชัดที่บอกว่าคุณมีปัญหาสายตาเอียง
ความผิดปกติของสายตาที่เกิดกับบางคน อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงทำให้ไม่มีสัญญาณบอกว่าสายตากำลังมีปัญหา และไม่มีอาการเห็นภาพเบลอ ภาพซ้อนมากนัก แต่ในรายที่เป็นมาก เช่น มีสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น หรือสายตาเอียงร่วมกับสายตายาว อาการจะบ่งบอกได้ชัดเจนมากกว่า เช่น
-อาการปวดตา รู้สึกล้าที่ดวงตา เพราะต้องใช้สายตาเพ่งมากในการมอง โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ การนั่งทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ ขับรถ-อาการปวดศีรษะ-มีปัญหากับการใช้สายตาในเวลากลางคืน หรือในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ-มองเห็นภาพเบลอ มีเงาซ้อนในภาพทั้งในระยะการมองใกล้และมองไกล
ทางเลือกสำหรับคนสายตาเอียง แก้ไขได้อย่างไรบ้าง
สายตาเอียงแก้ไขได้หลายวิธี การเลือกวิธีแก้ไขต้องได้รับการตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ก่อน ซึ่งจะบอกได้ว่าค่าสายตาที่เอียงอยู่ในระดับไหน และควรแก้ไขอย่างไรให้เหมาะสมและได้ผลดี
● การใส่แว่นสายตา
เป็นวิธีพื้นฐาน ปลอดภัยและง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาเอียงเพียงเล็กน้อย ช่วยให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนในทันทีขณะใส่แว่นตา แต่การตัดแว่นมีความสำคัญ ควรได้รับการตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ก่อนและขอคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรใช้แว่นและเลนส์แบบไหน เพราะสายตาเอียงต้องใช้เลนส์พิเศษเฉพาะ จึงจะทำให้การมองเห็นชัดขึ้น การเลือกแว่นตาจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ และมาตรฐานในการวัดค่าสายตาเพราะการใส่แว่นที่ไม่ได้ใช้เลนส์อย่างถูกต้องอาจทำให้ปวดศีรษะมากขึ้น
● การใส่คอนแทคเลนส์(Contact Lens)
เนื่องจากบางคนมีปัญหาปวดศีรษะมากจากการใส่แว่นตา หรือไม่ชอบใส่แว่น จึงมีทางเลือกอีกหนึ่งวิธีที่ทดแทนกันได้คือการใช้คอนแทคเลนส์แก้ไขสายตาเอียง ช่วยแก้ปัญหาได้ในลักษณะเดียวกันเพียงแต่คอนแทคเลนส์จะมีมุมมองที่กว้างเท่ากับการใช้สายตาจริง สามารถกวาดสายตามองไปรอบ ๆ ได้โดยไม่ติดอยู่ในกรอบเหมือนกับการใส่แว่นตา เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าใส่แว่นตาอาจจะไม่สะดวก อย่างไรก็ตามการใส่คอนแทคเลนส์ต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อเวลาใส่และถอดคอนแทคเลนส์ นอกจากนี้ คอนแทคเลนส์ยังสามารถแก้ไขค่าสายตาเอียงได้อย่างจำกัด
● การผ่าตัด
ไม่ว่าสายตาเอียงเกิดจากสาเหตุใด แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัด หากค่าสายตาเอียงไม่มากจนเกินไป และได้รับการตรวจประเมินแล้วว่าสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด
การแก้ไขสายตาเอียงด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดแก้ไขสายตา เป็นการรักษาสายตาผิดปกติที่นิยมในปัจจุบัน เป็นวิธีที่ปลอดภัย รวดเร็ว ทำได้ภายในวันเดียว หลังจากผ่าตัดแล้วฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ค่อยพบว่ามีปัญหาระคายเคืองตา การผ่าตัดเป็นการรักษาสายตาผิดปกติอย่างถาวร
การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ สามารถทำได้โดยแก้ไขที่กระจกตา หรือที่เลนส์ตา ในทีนี้จะกล่าวถึงการแก้ไขสายตาผิดปกติที่กระจกตาด้วยเลเซอร์เป็นหลัก มี 3 วิธีดังนี้
- PRK (Photorefractive Keratectomy) เป็นการขัดผิวกระจกตาเพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติ โดยไม่มีการเปิดฝากระจกตา
- LASIK(Laser In-Situ Keratomileusis) เป็นการเปิดฝากระจกตาด้วยเลเซอร์ หรือใบมีด แล้วขัดผิวกระจกตา หลังจากนั้นจึงปิดฝากระจกตากลับที่เดิม
- SMILE (Small Incision Lenticule eExtraction) เป็นการใช้เลเซอร์ตัดด้านในเนื้อกระจกตาให้เป็นชิ้นเลนส์ขนาดเท่าที่ต้องการแก้ไขสายตา หลังจากนั้นเจาะช่องขนาดเล็กเพื่อนำชิ้นเลนส์ดังกล่าวออก โดยไม่มีการเปิดฝากระจกตา
ทุกวิธีสามารถรักษาสายตาสั้น สายตายาว และรักษาสายตาเอียงได้ด้วย หลักการของการผ่าตัดแก้ไขสายตาเอียงคือการปรับแก้ไขการหักเหแสงของกระจกตาเพื่อให้การมองเห็นเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด
สายตาเอียงทำเลสิคได้ไหม
หากไม่สะดวกที่จะใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ การผ่าตัดแก้ไขสายตาเอียงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ควรปรึกษาจักษุแพทย์ในรายละเอียดก่อนว่าจะใช้วิธีใดที่เหมาะสมที่สุดเพราะแต่ละคนจะมีลักษณะปัญหาที่แตกต่างกัน หากว่าจักษุแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยว่าสามารถทำได้ ก็สามารถเตรียมความพร้อมเข้ารับการผ่าตัดได้ทันที
การดูแลตนเองเพื่อลดความรุนแรงของอาการตาเอียง
สายตาเอียงถึงแม้จะเป็นไม่มากในตอนนี้ แต่ค่าสายตาอาจเพิ่มสูงขึ้นและถ้าไม่ดูแลสายตาอาจทำให้อาการลุกลามเร็วขึ้น หากปล่อยให้ปัญหาสายตาแย่ลง เมื่อสายตาไม่ดี การใช้สายตาจะต้องเพ่งมองมากขึ้น อาจทำให้ไม่สบายตา ปวดศีรษะ ลำบากในการใช้ชีวิต ดังนั้น ควรดูแลตัวเองเพื่อถนอมสายตาด้วยวิธีต่อไปนี้
- ในการทำงานที่ต้องใช้สายตา หรืออ่านหนังสือ ควรอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ
- พักสายตาบ่อย ๆ ในระหว่างการทำงาน
- ไม่ขยี้ตาแรง ๆ เพราะอาจทำให้กระจกตาได้รับการกระทบกระเทือน
- เลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามิน เช่น วิตามินเอ วิตามินอี ลูทีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา วิตามินเหล่านี้มีอยู่มากในผักใบเขียวและผลไม้ต่าง ๆ
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.