ศูนย์ตาและต้อกระจก
ต้อลม โรคใกล้ตัวที่ควรใส่ใจ
โรคต้อลมคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด ต่างกับต้อเนื้ออย่างไร โรคต้อลมรักษาได้ไหม พร้อมวิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงในการเป็นต้อลม
บางคนเคยมีอาการระคายเคืองที่ดวงตาอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็คิดว่าเกิดจากฝุ่นเข้าตาหรือใช้สายตามากเกินไปจนเกิดอาการตาล้า เคืองตา หรือแสบตา แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น อาการเคืองตาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นมาจากโรคต้อลม ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของโรคต้อ ที่เกิดกับดวงตา แล้วต้อลมคืออะไร มีอันตรายมากน้อยเพียงใด สามารถป้องกันได้หรือไม่ วันนี้มีข้อมูลมาบอกกล่าวเพื่อที่จะได้ตรวจสอบด้วยตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงใด
โรคต้อลมคืออะไร
ต้อลม (Pinguecula) นั้นเป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาของคนเราชนิดหนึ่ง โดยเกิดจากการเสื่อมของเยื่อบุตาขาวทำให้เซลล์เยื่อบุตาขาวสร้างโปรตีนรวมถึงสร้างไขมันออกมามากกว่าปกติ จนเกิดเป็นจุดหรือแผ่นบริเวณตาขาว โดยจะเริ่มต้นเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีเหลืองใส เมื่อขยายใหญ่จะทำให้เกิดแผ่นนูนสีเหลืองใส โดยจะมีอาการอยู่ที่ตาขาวเท่านั้น
ต้อชนิดนี้ไม่ได้มีความอันตรายมาก แต่จะสร้างความน่ารำคาญจากอาการระคายเคืองตาหรือแสบตาร่วมด้วย หากมีอาการมากจะส่งผลให้เกิดการอักเสบของดวงตาจนส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยมากจะพบในผู้ที่มีอายุมาก หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการตรวจพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน รังสียูวีจากแสงแดด จนส่งผลกระทบต่อดวงตา ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการต้อลมได้ก่อนวัยอันควรเช่นกัน
สาเหตุของการเกิดโรคต้อลม
ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดจากดวงตาสัมผัสกับรังสียูวีที่เป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรค ซึ่งในประเทศไทยที่มีแสงแดดจัดตลอดทั้งปีทำให้มีการตรวจพบผู้ป่วยต้อลมในอัตราที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ต้อลมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้ดวงตามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นต้อลมเช่นกัน ซึ่งพอจะสรุปปัจจัยดังกล่าวได้ดังนี้
- ปัจจัยด้านอายุ โดยเมื่อคนเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ดวงตาก็ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานเช่นกัน รวมถึงการฟื้นฟูสภาพดวงตามีความถดถอย จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อลมมากยิ่งขึ้น
- การเผชิญกับแสงแดดหรือฝุ่น ในแสงแดดนั้นเต็มไปด้วยรังสียูวีเอและยูวีบี ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อสภาพของดวงตามนุษย์ รวมไปถึงฝุ่นควันในชีวิตประจำวันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเช่นกัน
- มีอาการตาแห้งเป็นประจำ โดยอาการตาแห้งนี้เกิดได้หลายปัจจัย เช่น อยู่ในสภาพอากาศที่แห้งเป็นเวลานาน อยู่ในสถานที่ที่มีลมแรง ใช้สายตาจ้องมองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ จนเกิดอาการตาแห้ง ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดต้อลมได้
อาการของโรคต้อลม
อาการของต้อลมที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนมีดังนี้
- มีตุ่มหรือรอยนูนสีเหลืองใสที่บริเวณตาขาวข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดได้ทั้งสองข้าง
- มีอาการตาแดง ตาบวม รวมถึงมีอาการอักเสบที่ดวงตา
- รู้สึกระคายเคืองที่ดวงตาคล้ายมีเศษฝุ่นหรือผงอยู่ในตาตลอดเวลา
- มีอาการตาแห้ง รู้สึกแสบตา น้ำตาไหล
โรคต้อลมกับต้อเนื้อแตกต่างกันอย่างไร
แม้ว่าต้อทั้งสองชนิดจะเกิดที่บริเวณดวงตาเช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ต้อลม (Pinguecula) จะเกิดขึ้นที่บริเวณตาขาวเท่านั้น มีลักษณะเล็กสีเหลืองใสและจะไม่รุกล้ำเข้าไปที่บริเวณตาดำทำให้การรักษาทำได้ง่ายกว่า ส่วนต้อเนื้อ (Pterygium) จะมีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อเยื่อสีขาวเหลืองอยู่ที่บริเวณตาขาว หากมีอาการมากจะรุกล้ำเข้าไปในตาดำจนส่งผลในเรื่องของการมองเห็น นอกจากนี้ต้อเนื้อจะมีเส้นเลือดฝอยในตาจนทำให้ก้อนต้อเนื้อมีสีออกชมพูอ่อน ๆ ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าจึงทำให้ต้อเนื้อส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองต่อดวงตามากกว่าต้อลมและการรักษาต้องใช้วิธีการผ่าตัดลอกออกจึงจะกลับมามองเห็นได้ชัดเหมือนเดิม
โรคต้อลมรักษาได้อย่างไร
การรักษาต้อลมนั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่มีอาการระคายเคืองดวงตาไม่แสบตา ภาวะการมองยังคงเป็นปกติ แพทย์จะแนะนำให้รักษาเบื้องต้นด้วยการป้องกันดวงตาจากแสงแดดและรังสียูวี พักสายตาเมื่อต้องทำงานเป็นเวลานาน
หากผู้ป่วยที่มีอาการแสบตา ระคายเคืองตา แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการอักเสบ แต่การใช้ยาหยอดตานั้นไม่ได้เป็นการรักษาให้ต้อลมหายไป เพียงแค่ช่วยลดการอักเสบเท่านั้น ดังนั้นหากไม่มีอาการตาแดง ระคายเคือง แสบตา ก็ไม่ควรใช้ยาหยอดตา รวมถึงอาจมีการให้หยอดน้ำตาเทียมในกรณีที่ตาแห้งร่วมด้วย
แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือมีโอกาสลุกลามกลายเป็นต้อเนื้อ แพทย์จะวินิจฉัยให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์ลอกต้อลมออก และทำการติดตามอาการหลังจากนั้นต่อเนื่อง เพราะยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่โดยส่วนมากวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์จะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์เลือกใช้ เพราะด้วยความรุนแรงของโรคต้อลมนั้นมีความรุนแรงน้อย จึงอาจไม่คุ้มต่อความเสี่ยงในการรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคต้อลมมีทางป้องกันไหม
แม้เราจะมั่นใจว่ามีสุขภาพที่แข็งแรง แต่การใช้ชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบันก็มีความเสี่ยงที่จะพบเจอกับแสงแดด รังสียูวี รวมไปถึงฝุ่นควันอยู่เป็นประจำดังนั้นการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเป็นโรคต้อลมสามารถทำได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงให้ดวงตาถูกแสงแดดโดยตรง ด้วยการสวมแว่นกันแดดหรือแว่นตาที่มีคุณสมบัติกรองแสงเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน ที่ส่งผลต่อดวงตา
- หลีกเลี่ยงการให้ลมปะทะที่ดวงตาเป็นเวลานาน ๆ เช่น สถานที่ที่มีลมแรงหรือในห้องแอร์
- หากจำเป็นต้องทำงานที่ใช้สายตาตลอดเวลาเป็นระยะเวลานาน ควรพักสายตาบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้สายตาทำงานหนักมากจนเกินไป หากมีอาการตาแห้งสามารถใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
- ผู้ที่มีอาการของต้อลมอยู่แล้ว ให้หมั่นสังเกตสีและขนาดของต้อลมในดวงตาอยู่เสมอว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเพียงใด หากพบความผิดปกติให้ไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อป้องกันการลุกลาม
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าอาการป่วยของโรคต้อลม ทำให้ประสิทธิภาพการใช้ชีวิตลดลง โรคต้อลมนั้นปัจจัยมาจากหลายอย่าง รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค การหมั่นดูแลสุขภาพดวงตาเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และลดการลุกลามของโรคต้อลมได้
โดยโรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากภายนอก แพทย์จะดูจากอาการของดวงตาภายนอกเป็นหลัก และใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีอาการอื่น เช่น กระจกตาเป็นแผล ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน
ในการวินิจฉัยโรคแพทย์จะทำการซักประวัติโดยละเอียด อาทิ มีอาการระคายเคืองตาหรือมีจุดนูนที่ตามานานเท่าไร รูปแบบการใช้ชีวิตมีความเสียงต่อการเผชิญแสงแดด รังสียูวี หรือฝุ่นควันมากน้อยเพียงใด เพื่อให้การวินิจฉัยโรคทำได้อย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่วิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ซึ่งหากพบความผิดปกติ เช่น ตาแห้ง ตาบวม แสบตาเป็นประจำ หรือสังเกตเห็นจุดนูนเล็ก ๆ ที่ตาขาวแล้วสงสัยว่าอาจมีความเสี่ยงในการเป็นต้อลม ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยด่วนก่อนที่อาการจะลุกลามมากขึ้น จะได้เข้ารับการวินิจฉัยอาการได้อย่างตรงจุดและรับการรักษาได้ทันท่วงที
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.