ศูนย์โรคตาทั่วไป

สายตาเลือนรางคืออะไร มีวิธีการรักษาหรือไม่

ศูนย์โรคตาทั่วไป สายตาเลือนรางคืออะไร มีวิธีการรักษาหรือไม่

เบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้หากไม่รักษา ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นและตรวจสุขภาพตาเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้

​“เบาหวาน” ถือเป็นโรคประจำตัวที่คนส่วนใหญ่กลัว และมักพบร่วมกับโรคประจำตัวอื่น ๆ อย่างโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด โรคเส้นเลือดในสมองตีบ และโรคหัวใจแล้ว ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเองก็น่ากลัวและรักษายากเช่นเดียวกัน หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและร้ายแรงอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียการมองเห็นถาวรนั่นคือเบาหวานขึ้นตา แต่ภาวะนี้คืออะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เรามีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภาวะเบาหวานขึ้นตาที่น่าสนใจมาฝาก

เบาหวานขึ้นตาคืออะไร 

​ภาวะเบาหวานขึ้นตาหรือ Diabetic Retinopathy เป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน โดยเกิดจากการที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจนกระทั่งเกิดอุดตัน ไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงจอประสาทตาหรือ Retina ได้ตามปกติ ทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหาย ส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็น สำหรับความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นตาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

1.เบาหวานขึ้นตาระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่(Nonproliferative Diabetic Retinopathy : NPDR)เป็นระยะเริ่มต้นของภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งการอุดตันจะทำให้หลอดเลือดที่มีการพัฒนาแล้วบริเวณจอประสาทตามีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่สม่ำเสมอขัดขวางการไหลเวียนเลือด หรือผนังเลือดไม่แข็งแรงเกิดการโป่งพองจนทำให้เลือดและของเหลวไหลออกมาที่จอประสาทตา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการจอตาบวมและมีผลต่อการมองเห็นได้

2.เบาหวานขึ้นตาระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy : PDR)เป็นภาวะเบาหวานขึ้นตาที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยระยะนี้ร่างกายจะมีการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติบริเวณจอประสาทตาจากการที่หลอดเลือดเดิมเกิดการอุดตันจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่หลอดเลือดที่สร้างใหม่อาจเกิดการพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง เปราะบาง และฉีกขาดง่าย ทำให้เกิดการรั่วซึมของเลือดและของเหลวเข้าสู่วุ้นในตา เกิดเป็นพังผืดดึงรั้งจอตา ทำให้เกิดภาวะจอตาหลุดลอก นอกจากนั้นในกรณีหลอดเลือดใหม่ที่สร้างขึ้นไปขัดขวางระบบการระบายน้ำของลูกตาก็อาจทำให้ความดันตาสูงขึ้นจนสร้างความเสียหายให้กับเส้นประสาทตา นำไปสู่การเป็นโรคต้อหิน (Neovascular Glaucoma)ในอนาคตได้

สาเหตุของเบาหวานขึ้นตา

​สาเหตุของภาวะเบาหวานขึ้นตาเกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายมีความผิดปกติรวมถึงที่ดวงตาด้วย ซึ่งกรณี เบาหวาน ขึ้นจอประสาทตา จะเริ่มจากการที่ผนังเส้นเลือดฝอยบริเวณจอประสาทตามีการโป่งพองและเปราะบาง เกิดการรั่วซึมเข้าไปสู่จอประสาทตา แต่หากผู้ป่วยยังคงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ จะทำให้เส้นเลือดใหญ่ที่จอประสาทเกิดการขยายตัว เส้นใยประสาทตาและจุดรับภาพเกิดอาการบวม ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับรักษากับหมอตา อาการของภาวะเบาหวานขึ้นตาจะมีอาการรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคตา อย่างเลือดออกในวุ้นตา จอตาลอก ต้อหิน หรือร้ายแรงที่สุดคือสูญเสียการมองเห็น แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างเบาหวานขึ้นตาได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานยารักษาโรคเบาหวานหรือยารักษาโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และไม่สูงกว่าเกณฑ์
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด ระดับความดันโลหิต และดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามคำแนะนำของแพทย์
  • ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด หวานจัด ไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่ เพราะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและสุขภาพโดยรวมแย่ลง
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ป่วยเบาหวานต้องหมั่นสังเกตความปกติของร่างกาย หากเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น อย่างตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด หรือมองเห็นภาพมีจุดดำหรือบิดเบี๊ยวไป ควรรีบไปตรวจตากับจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งมีเครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์และสามารถดูแลรักษาตรงกับระยะของโรคได้อย่างแม่นยำ
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจสุขภาพตาและตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด เพื่อประเมินภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาระยะเริ่มแรกที่ผลการรักษาได้ผลดีนั้น มักจะไม่มีอาการใดๆที่ตา แต่ในกรณีที่ตั้งครรภ์ควรประเมินภาวะเบาหวานขึ้นตาตั้งแต่ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์เป็นปัจจัยที่ทำให้ภาวะเบาหวานขึ้นตามีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ได้

อาการเบาหวานขึ้นตา

​หนึ่งในเหตุผลที่ภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะที่มีความอันตราย เพราะในระยะแรกนั้นสังเกตอาการได้ยาก อีกทั้งอาการส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับอาการของผู้มีปัญหาทางสายตาอยู่เดิมหรือคนที่พักผ่อนน้อย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือคนที่เสี่ยงเป็นเบาหวานจะเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองแค่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือพักผ่อนน้อย ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีอาการเบาหวานขึ้นตารุนแรงจนเสี่ยงต่อตาบอดถาวร ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยเบาหวานรวมถึงคนที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานสูงจึงควรตรวจตาโดยจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปีเพื่อประเมินความเสี่ยงภาวะเบาหวานขึ้นตา แต่อย่างไรก็ตามอาจสามารถสังเกตอาการในเบื้องต้นด้วยตนเองได้ดังนี้

  • อาการตามัวผิดปกติ ทำให้การมองเห็นแย่ลง
  • มองเห็นภาพตรงหน้าเป็นจุดหรือมีเส้นสีดำ เหมือนมีหยากไย่ลอยไปลอยมา
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว ภาพมืดเป็นบางจุด และไม่สามารถแยกแยะสีของภาพได้ตามปกติ
  • ในกรณีที่มีความรุนแรงมากขึ้นอาจเห็นว่ามีจุดเลือดออกในจอตาและเลือดออกในน้ำวุ้นตา
  • มีปัญหาจอตาลอก ซึ่งเป็นผลมาจากพังผืดดึงรั้งดึงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นจุดดำ แสงวาบคล้ายแสงแฟลช หากไม่รีบทำการรักษาอาจสูญเสียการมองเห็นถาวรได้

การรักษาเบาหวานขึ้นตา

​ปกติแล้วผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจะได้รับการตรวจวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นประจำทุกปีแม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติหรือควบคุมปริมาณน้ำตาลได้ก็ตาม แต่จากสถิติแล้วผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตานานกว่า 10 ปี มีโอกาสเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตามากกว่า 80% ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นต้องมีการตรวจประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ หากได้รับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเบาหวานขึ้นตาแล้ว หมอตาจะประเมินความรุนแรงของโรค ซึ่งแต่ละระยะมีแนวทางการรักษาแตกต่างกันดังต่อไปนี้ 

  • การรักษาเบาหวานขึ้นตาในระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่อาจมีการแสดงออกของอาการต่าง ๆ เล็กน้อยและไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการรักษาจึงเน้นการลดระดับน้ำตาลสะสมในเลือดและควบคุมอาการโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอการดำเนินของภาวะเบาหวานขึ้นตาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นในอนาคต
  • การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่เป็นระยะอาการเริ่มมีความรุนแรงและมีการแสดงออกของภาวะเบาหวานอย่างชัดเจน การรักษาจึงมุ่งเน้นในการบรรเทาอาการและซ่อมแซมหลอดเลือดตา ซึ่งการรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะนี้เบื้องต้น 3 วิธี ได้แก่ การรักษาด้วยเลเซอร์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการจุดรับภาพชัดบวม เพื่อให้จอประสาทตายุบบวมลง ลดการรั่วซึมของหลอดเลือด และลดอาการเลือดออกในตา, การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา และการผ่าตัดวุ้นตา เหมาะสำหรับคนที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาจำนวนมากและร่างกายไม่สามารถดูดซึมกลับได้เอง หรือมีพังผืดรั้งจอประสาทตา มีจอประสาทตาบวม หลุด หรือฉีกขาด เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นภาวะที่สามารถป้องกันและควบคุมได้ด้วยการดูแลระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นและรับการตรวจตาเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานห่างไกลจากภาวะเบาหวานขึ้นตาได้


Copyright © 2024 All Rights Reserved.