ศูนย์เลสิก

แก้ไขปัญหาสายตาด้วยการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)

ศูนย์เลสิก แก้ไขปัญหาสายตาด้วยการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)

นอกจากเลสิกการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม คืออีกหนึ่งทางเลือกแก้ปัญหาสายตา จัดการได้ทั้งสายตาสั้น ยาว เอียง เป็นการแก้ปัญหาถาวร ไม่ต้องพึ่งแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) อีกต่อไป

ผู้ที่มีปัญหาสายตา ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง วิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสายตาได้คือการผ่าตัดแก้ไขสายตา ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง นอกจากแก้ปัญหาสายตาได้หลายอย่างแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร ไม่ต้องพึ่งแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) โดยการผ่าตัดแก้ไขสายตายังถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการผ่าตัดเลนส์เสริม หรือที่เรียกว่า ICL (Implantable Collamer Lens) ตัวช่วยแก้ปัญหาสายตาด้วยการผ่าตัดที่ปลอดภัยอยู่กับร่างกายคนเราได้ตลอดชีวิต

การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) คืออะไร

การผ่าตัดเลนส์เสริมหรือ ICL (Implantable Collamer Lanes) คือการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาในระดับเลนส์ตา แต่จะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเลนส์เสริมซึ่งมีลักษณะบาง ใส และยืดหยุ่น วางลงไปยังบริเวณหลังม่านตาและด้านหน้าเลนส์แก้วตาธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเจนอีกครั้ง

การผ่าตัดเลนส์เสริมถือเป็นหนึ่งในวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตา เพียงแต่เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเลนส์เสริมใหม่ไปวาง ไม่ใช่การแก้ไขด้วยเลเซอร์ นั่นจึงทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง และเลนส์ดังกล่าวจะมีผลในระยะยาวหรือไม่ สำหรับข้อกังวลนี้เรียกได้ว่าหมดห่วง เนื่องจากเลนส์เสริมที่เลือกใช้ออกแบบมาให้เข้ากันได้ดีกับร่างกายมนุษย์ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้และไม่ทำให้กระจกตาเป็นแผล ที่สำคัญเมื่อผ่าตัดแล้วการมองเห็นตอนกลางคืนจะชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเลนส์เสริมออกแบบมาให้ลดแสงพร่ากระจายยามค่ำคืนได้ดี

การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมเหมาะกับใคร แก้ปัญหาใดได้บ้าง

แม้จะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์เสริมได้ โดยการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมสามารถแก้ไขได้ทุกปัญหาสายตา เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ที่สำคัญเหมาะกับผู้ที่อยากแก้ปัญหาสายตาให้กลับมามองเห็นปกติ แต่เมื่อปรึกษาแล้วแพทย์ไม่แนะนำให้ทำเลสิก (Lasik) เนื่องจากแพทย์ประเมินว่ากระจกตาบางหรือกระจกตาไม่แข็งแรงจนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมสามารถทำได้แม้ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง

นอกจากนี้การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมยังเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 21 - 45 ปี หากอายุมากกว่า 45 ปี ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เนื่องจากต้องตรวจภาวะต้อกระจกที่มักเกิดในช่วงอายุดังกล่าว รวมถึงผู้ที่ค่าสายตาคงที่แล้ว ผู้ที่มีช่องหน้าของดวงตาลึกพอ และผู้ที่ไม่มีประวัติโรคบางชนิดเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคต้อ โรคเบาหวานขึ้นจอตา และอาการม่านตาอักเสบ เป็นต้น

วิธีการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม

การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมมีขั้นตอนไม่มาก อีกทั้งใช้เวลาประมาณ 30 - 45 นาที เริ่มต้นผ่าตัดใส่เลนส์เสริมด้วยการที่แพทย์หยอดยาชาเฉพาะจุด โดยแพทย์จะขยายม่านตาก่อนการหยอดยาชา ตามด้วยการฉีดยาชาลงบนพื้นที่ตาขาว เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บในขั้นตอนผ่าตัด เมื่อคนไข้รู้สึกชาบริเวณดวงตาแล้ว แพทย์จะเริ่มต้นผ่าตัดไปยังบริเวณที่กำหนด ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร ตามด้วยการวางเลนส์ลงยังตำแหน่งดังกล่าว เลนส์ที่นำไปวางนั้นจะค่อยๆ แผ่ออกและถูกจัดวางบนตำแหน่งเหมาะสม ระหว่างผ่าตัดคนไข้อาจรู้สึกหน่วงๆ หรือรู้สึกถูกแตะต้องบริเวณดวงตาเท่านั้น เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการผ่าตัด

ปกติแล้วหลังผ่าตัดแพทย์จะสังเกตอาการคนไข้ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล หากไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ แพทย์จะให้กลับบ้านและนัดดูอาการอีกครั้งในวันถัดไป

ความแตกต่างระหว่างการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมและการทำเลสิก(Lasik)

แม้การผ่าตัดเลนส์เสริมจะเป็นหนึ่งในวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตา แต่ถึงอย่างนั้นกลับมีวิธีการแตกต่างกัน อีกทั้งคุณสมบัติของผู้ที่สามารถรับบริการผ่าตัดเลนส์เสริมและรับบริการทำเลสิก (Lasik) ได้ก็แตกต่างกันไปด้วย สำหรับการผ่าตัดเลนส์เสริมเป็นการใส่เลนส์เสริมลงไปในดวงตา ซึ่งเลนส์ที่ใส่ลงไปนั้นเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อให้เข้ากับร่างกายคนเรามากที่สุด โดยไม่มีการขัดหรือปรับแต่งกระจกตา ดังนั้นผู้ที่มีปัญหากระจกตาบางก็สามารถรับบริการได้ สำหรับตัวเลนส์เสริมมีคุณสมบัติอยู่ในร่างกายได้ถาวร แต่หากต้องการนำออกก็สามารถทำได้เช่นกัน

สำหรับการทำเลสิก (Lasik) จะเป็นการแก้ปัญหาสายตาด้วยการเลเซอร์ตา ซึ่งแพทย์จะใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตา โดยไม่มีการใส่เลนส์เสริมเข้าไป การทำเลสิก (Lasik) นี้จึงไม่เหมาะกับผู้ที่กระจกตาบาง รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระจกตา อีกทั้งบางรายเกิดปัญหาตาแห้งร่วมด้วย

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าตัดใส่เลนส์เสริม

การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมคือการผ่าตัดดวงตารูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการผ่าตัดอย่างราบรื่นและไร้ผลข้างเคียง

  • ตรวจระดับการมองเห็นและสุขภาพตาอย่างละเอียด โดยเฉพาะความโค้งของกระจกตาและความลึกของช่องม่านตา โดยทุกการตรวจควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • งดยาแอสไพรินและยาละลายลิ่มเลือดอย่างน้อย 7 วัน ก่อนการผ่าตัด ทั้งนี้หากมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาบางชนิดสามารถรับประทานได้ปกติ แต่บางชนิดควรงด
  • งดใส่คอนแทคเลนส์ (Contact Lens) และเปลี่ยนมาใส่แว่นสายตาอย่างน้อย 7 วัน ก่อนการผ่าตัด
  • วันที่เข้ารับการผ่าตัดควรสระผมมาให้พร้อม เพราะหากผ่าตัดแล้วแพทย์จะเลี่ยงไม่ให้ดวงตาโดนน้ำ เพื่อรักษาความสะอาด ลดการติดเชื้อ นอกจากนี้ควรตัดเล็บ ไม่ทาเล็บ ไม่แต่งหน้า และไม่ติดขนตาปลอม เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสังเกตอาการผิดปกติระหว่างผ่าตัดได้ชัดเจนขึ้น
  • หากแพทย์มีคำแนะนำการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเฉพาะบุคคล ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง

หลังผ่าตัดใส่เลนส์เสริมควรดูแลตัวเองอย่างไร

ไม่เพียงแต่การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าตัดใส่เลนส์เสริมเท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะการดูแลหลังผ่าตัดก็มีความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ

  • - หลังผ่าตัด 7 - 10 วัน ควรงดเว้นการใส่คอนแทคเลนส์ (Contact Lens) แต่ให้เปลี่ยนมาสวมใส่แว่นสายตาแทนในตอนกลางวัน สำหรับตอนกลางคืนแนะนำให้ใส่ที่ครอบดวงตา เพื่อไม่ให้ดวงตากระทบกระเทือนและไม่ให้มีเศษฝุ่นเข้าตาได้ง่าย
  • รับประทานยาและหยอดตาตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ รวมถึงยาหยอดตาที่ช่วยลดอาการอักเสบจากการผ่าตัด
  • ไม่ควรให้ดวงตาโดนน้ำประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงตาอ่อนแอเป็นพิเศษและติดเชื้อได้ง่าย
  • งดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากหรือเสี่ยงต่อการกระแทก เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกาย เพื่อลดการกระทบกระเทือนต่อดวงตา ไม่ขยี้ตาและไม่แคะตา ระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
  • ล้างมือให้สะอาดเสมอ เพราะบางครั้งอาจเผลอใช้มือขยี้ตา อย่างน้อยจะได้ไม่มีสิ่งสกปรกเข้าในดวงตาได้
  • หลังการผ่าตัดเลนส์เสริมสิ่งหนึ่งที่แพทย์ระวังเป็นพิเศษคือความดันลูกตา ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่พบอาการเหล่านี้ แต่หากบางรายที่พบแพทย์จะให้ยาลดความดันลูกตาเพื่อปรับความดันให้อยู่ในระดับปกติ
  • หลังจากผ่าตัดประมาณ 1 เดือน หากพบว่าอาการปกติ ไม่มีอาการเจ็บปวดหรือไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเลนส์ที่สวมใส่เข้าไปสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต แก้ปัญหาสายตาได้อย่างถาวร

การทำ ICL (Implantable Collamer Lanes)  คือการผ่าตัดแก้ไขสายตาประเภทหนึ่ง แม้จะมีข้อดีมากมายแต่ถึงอย่างนั้นควรศึกษาก่อนเสมอ เพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อย รวมถึงปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อขอคำแนะนำวิธีการรักษาปัญหาสายตาที่เหมาะกับตัวเองและเหมาะกับงบประมาณ โดยสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์เลสิกของโรงพยาบาลที่ท่านสนใจ ที่สำคัญเมื่อทำเลสิก (Lasik) แล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยและลดการเกิดผลข้างเคียงในอนาคต

 ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL เจ็บไหม? อยู่ได้กี่ปี
 ICL หรือ Implantable Collamer Lens ทางเลือกใหม่การรักษาสายตาผิดปกติ
 สายตาแบบไหน ควรทำ ICL ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม
 ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัย กับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)

Copyright © 2024 All Rights Reserved.