จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นต้อหินเฉียบพลัน

 จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นต้อหินเฉียบพลัน

อาการของโรคต้อหินเฉียบพลัน คือ ตาพร่ามัว ตาแดง ปวดลูกตา มองเห็นสีรุ้ง ปวดศีรษะ และอาเจียน ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อลดโอกาสสูญเสียการมองเห็นถาวร

​ต้อหิน เป็นโรคตาที่คนส่วนใหญ่คุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นโรคตาที่เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นถาวร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มคนอายุน้อย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนเป็นกังวลและตรวจสอบความผิดปกติของดวงตาตัวเองและคนในครอบครัว แต่ถึงอย่างนั้นมีหนึ่งโรคต้อหินที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัวและเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอด นั่นคือต้อหินเฉียบพลัน หรือ Acute Glaucoma แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังถูก ต้อชนิดนี้เล่นงาน วันนี้มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับโรคต้อหินเฉียบพลัน การเกิดต้อหินสาเหตุ จากอะไร รวมถึงวิธีการรักษาและการป้องกันมาฝาก

อาการของต้อหินเฉียบพลัน 

​เช่นเดียวกับโรค ต้อ ชนิดอื่น ๆ ผู้ป่วยโรคต้อหินเฉียบพลันมักเริ่มต้นด้วยอาการปวดลูกตา ตาแดง ตาพร่า ตามัว มองเห็นภาพเป็นสีรุ้ง แต่ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวต่อเนื่องเป็นวันและคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นทั้งแบบฉับพลันหรือมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ในช่วง 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ส่วนมากมักมีอาการในช่วงเวลาหัวค่ำ ขณะอยู่ในที่มืด หรือระหว่างที่มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว เนื่องจากม่านตาขยาย โดยมีอาการอยู่ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จะหายไปเอง ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเข้าใจว่าเกิดจากภาวะโรคอื่น อย่างปวดไมเกรน ตาอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ รวมทั้งมักเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ป่วยจึงไม่ทันสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของคุณภาพการมองเห็นและเข้ารับการรักษาช้า จอประสาทตาจะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายผู้ป่วยมีอาการตาบอดถาวรภายในไม่กี่วันหลังจากเริ่มมีอาการ

​​

สาเหตุของต้อหินเฉียบพลัน​

สำหรับโรคต้อหินเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นจากภาวะความดันในลูกตาเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันลูกตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีดังนี้

●การมีลักษณะช่องด้านหน้าลูกตาแคบ

ช่องด้านหน้าลูกตาหรือช่องว่างระหว่างกระจกตาและเลนส์ตามีหน้าที่ระบายน้ำในลูกตา แต่หากช่องด้านหน้าลูกตาแคบและตื้นก็จะทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาแคบเช่นกัน เมื่อกล้ามเนื้อม่านตาหดตัวส่งผลให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาปิดกั้น น้ำเลี้ยงลูกตาคั่งค้างในลูกตาเนื่องจากระบายออกไม่ได้ ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

●ภาวะจากอาการของโรคตาอื่น ๆ

โรคตาที่ก่อให้เกิดภาวะตาอักเสบหรือตาบวม อย่างโรคม่านตาอักเสบ โรคต้อกระจกในระยะต้อสุก หรือต้อหินมุมปิด ส่งผลให้มุมระบายน้ำเลี้ยงปิดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาจะทำให้เป็นโรคต้อหินเฉียบพลันได้

ใครบ้างเสี่ยงเป็นต้อหินเฉียบพลัน​

​แม้ว่าโรคต้อหินเฉียบพลันจะมีสาเหตุจากความผิดปกติของช่องด้านหน้าลูกตาแคบและผลจากโรคตาอื่น ๆ เท่านั้น แต่ในความจริงมีหลายกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเป็น

●กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเลนส์ตาหนาตัวทำให้ช่องลูกตาแคบขึ้น●กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน●กลุ่มคนที่มีกระบอกตาสั้นและช่องลูกตาแคบ●กลุ่มผู้ป่วยต้อกระจกต้อหินมุมปิดหรือม่านตาอักเสบติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม●กลุ่มคนที่มีปัญหาสายตายาว ต้องใส่แว่นเลนส์นูนก่อนอายุ 40 ปี แต่ทั้งนี้คนที่สายตาสั้นมาก จะเสี่ยงเป็นกลุ่มโรคต้อหินได้เช่นกัน●กลุ่มที่ใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาโรคเป็นเวลานาน●กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ●มีผลวิจัยพบว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหินเฉียบพลันมากกว่าผู้ชาย

วิธีสังเกตต้อหินเฉียบพลัน​

เนื่องจากอาการของโรคต้อหินเฉียบพลันคล้ายกับอาการไข้หรืออาการปวดศีรษะ อีกทั้งยังทุเลาไปได้เองเมื่อรับประทานยาหรือพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งต่างจากโรคตาต้อ ประเภทอื่น ๆ ที่มีการดำเนินโรคอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าตัวเองเป็นเพียงโรคทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน แต่ทั้งนี้สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นตาต้อ ชนิดนี้ แนะนำให้หมั่นสังเกตอาการดังต่อไปนี้

●มีอาการปวดลูกตาร่วมกับปวดศีรษะอย่างฉับพลันและรุนแรง ในบางรายรับประทานยาหรือพักผ่อนแล้วก็ยังไม่หาย●มีอาการปวดตาเวลาอ่านหนังสือหรือใช้สายตา●มีอาการตาแดง น้ำตาไหล●มีอาการตาพร่ามัว คุณภาพการมองเห็นแย่ลง และเห็นภาพเป็นสีรุ้งในช่วงเวลาเย็นหรือหัวค่ำ●มีอาการคลื่นไส้อาเจียน

การรักษาต้อหินเฉียบพลัน

​ผู้ป่วยโรคต้อหินเฉียบพลันถือเป็นเคสฉุกเฉินที่ต้องดำเนินการรักษาทันทีที่มีอาการ เพราะถ้าปล่อยไว้ความดันลูกตาจะเพิ่มขึ้น ทำลายจอประสาทตาเสียหาย และทำให้ตาบอดถาวรได้ในที่สุด ดังนั้นจึงควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษา สำหรับการรักษาต้อหินเฉียบพลันปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งการบรรเทาอาการและการรักษาให้หายขาดด้วยวิธีการรักษาดังต่อไปนี้ 

●การรักษาต้อหินเฉียบพลันด้วยยา

เป็นการรักษาที่มีเป้าหมายลดระดับความดันลูกตาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือน้อยกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท เพื่อลดการทำลายจอประสาทตาและลดโอกาสตาบอดถาวร สำหรับยาต้อหิน ที่ใช้ในการรักษาโรคต้อหินเฉียบพลันมีหลายกลุ่ม แต่ยาต้อหิน ทุกกลุ่มจะออกฤทธิ์คลายกันคือลดการสร้างน้ำเลี้ยงลูกตา รวมถึงช่วยให้น้ำเลี้ยงลูกตาไหลเวียนได้ดีขึ้น แต่การรักษาด้วยการหยอดยาเป็นเพียงการรักษาชั่วคราวต้องหยอดยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และรับการรักษากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากเป็นการประเมินผลการรักษาด้วยยาหยอดแล้ว จักษุแพทย์ยังติดตามการดำเนินโรคและผลข้างเคียงของยาหยอดที่สั่ง หากการหยอดยาไม่ได้ผลจักษุแพทย์อาจเปลี่ยนยาหยอดหรือเปลี่ยนวิธีการรักษา

●การรักษาต้อหินเฉียบพลันด้วยเลเซอร์

เป็นวิธีการรักษาที่มีเป้าหมายลดความเสี่ยงเกิดต้อหินเฉียบพลัน เพราะการยิงเลเซอร์ผ่านขอบม่านตาให้เกิดรูเพื่อให้ลูกตาระบายน้ำออกและความดันตาลดลง แต่ความสำเร็จในการรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเป็นต้อ ความหนาของม่านตา และความรุนแรงของโรคต้อ สำหรับการทำเลเซอร์จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยเริ่มจากแพทย์หยอดยาหดรูม่านตาหรือ 2% Pilocarpine Eye Drop เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนยิงเลเซอร์ประมาณ 30 – 60 นาที จากนั้นแพทย์หยอดยาชาและยิงแสงเลเซอร์ไปบนม่านตา ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 นาทีเท่านั้น หลังจากยิงเลเซอร์แพทย์จะให้ผู้ป่วยหยอดยาฆ่าเชื้อ ยาลดการอักเสบ และจ่ายยาทั้งสองชนิดให้ผู้ป่วยกลับไปหยอดที่บ้านต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน แต่ทั้งนี้หลังจากทำผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่า ทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันจึงควรงดขับรถ รวมถึงทำกิจกรรมหนักเป็นเวลา 7 วัน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

●การรักษาต้อหินเฉียบพลันด้วยการผ่าตัด

เป็นวิธีการรักษาที่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเฉียบพลันด้วยยาต้อหิน และเลเซอร์ หรือรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์แล้วยังไม่สามารถลดความดันลูกตาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ สำหรับการผ่าตัดโรคต้อหินเป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดช่องระบายน้ำภายในลูกตาประมาณ 1 – 1.5 มิลลิลิตร ซึ่งจะทำให้น้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกได้ดีขึ้น ความดันลูกตาลดลง ลดความเสี่ยงเกิดต้อหินเฉียบพลัน แต่การผ่าตัดต้อหินจำเป็นต้องดำเนินการด้วยจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัด ต้องมีการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดและดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัด และที่สำคัญยังไม่สามารถทำได้ในกลุ่มผู้ที่เป็นต้อหินระยะลุกลาม โรคตาแห้งรุนแรง โรคกระจกตา หรือดวงตาอักเสบ และผู้ที่มีประวัติเสี่ยงหากเข้ารับการผ่าตัด

วิธีป้องกันต้อหินเฉียบพลัน

​โรคต้อหินเฉียบพลันเป็นต้อหินสาเหตุ จากความผิดปกติของช่องด้านหน้าลูกตาและการอักเสบที่เกิดจากโรคตาอื่น เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันโรคต้อหินเฉียบพลันที่ดีที่สุดคือการเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีเพื่อประเมินความเสี่ยง นอกจากนั้นควรสังเกตตัวเอง หากมีอาการตาพร่ามัว ตาแดง ปวดลูกตา มองเห็นสีรุ้ง ปวดศีรษะ และอาเจียน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อดำเนินการรักษาทันที

​จากข้อมูลจะเห็นว่าโรคต้อหินเฉียบพลันเป็นโรคอันตรายและสามารถเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงควรดูแลสุขภาพตา สังเกตอาการของตัวเอง และตรวจสอบสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องตาบอดจากต้อหินเฉียบพลันอีกต่อไป

 ประโยชน์ของน้ำตาเทียม ทำไมผู้สูงอายุควรใช้
 ทำความรู้จัก “ต้อลมในผู้สูงวัย” เป็นแล้วรักษาให้หายได้หรือไม่
 กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) กี่วันหาย ใช้ยาอะไร
 การรักษา ต้อกระจก ผ่าตัดเป็นเพียงวิธีเดียวใช่หรือไม่?
 อายุเท่าไหร่เสี่ยงเป็นต้อหินมุมปิด
 สาเหตุที่ทำตาสองชั้นแล้วชั้นตาก็ยังไม่เท่ากัน เกิดจากอะไร ?
 วิธีรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
 How To สวมคอนแทคเลนส์สายตาให้ปลอดภัย เคล็ดลับที่ต้องรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์
 ความแตกต่างของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและหนังตาตก
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved.