ศูนย์โรคตาทั่วไป

สายตาเลือนรางคืออะไร มีวิธีการรักษาหรือไม่

ศูนย์โรคตาทั่วไป สายตาเลือนรางคืออะไร มีวิธีการรักษาหรือไม่

ภาวะ “สายตาเลือนราง” การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคเป็นสำคัญ สายตาเลือนรางหากได้รับการดูแลจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับอาการป่วยได้อย่างเข้าใจ

ดวงตาถือเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็เกิดความเสื่อมของสายตา รวมไปถึงการมีความผิดปกติทางสายตาจากโรคต่างๆ ทำให้เกิดเป็นภาวะสายตาเลือนราง(Low Vision) ที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น

ความหมายของโรคสายตาเลือนราง

ภาวะที่เรียกว่าสายตาเลือนราง (Low Vision) คือความบกพร่องในการมองเห็นบางส่วน อันมีสาเหตุมาจาก โรคในตา ชนิดต่าง ๆ  การเกิดอุบัติเหตุ ความสูงอายุ และกรรมพันธุ์ ทำให้มองสิ่งต่างๆไม่ชัดเจนซึ่งแบ่งภาวะนี้ออกเป็นหลายระดับตามความรุนแรงของอาการ จึงกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

สายตาเลือนรางกับตาบอดต่างกันอย่างไร

ตาบอดคืออาการของผู้ที่มองเห็นได้น้อยมาก บางลักษณะมองเห็นเป็นแค่แสงโดยที่มองไม่เห็นภาพ ไปจนถึงผู้ที่ตาบอดสนิทมองไม่เห็นสิ่งใดเลย ต้องใช้ประสาทสัมผัสอื่น เช่น การสัมผัส การฟัง ในการใช้ชีวิตประจำวัน

สำหรับคนสายตาเลือนรางนั้นยังพอที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อยู่บ้าง โดยการมองเห็นที่บกพร่องนั้นจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะอาการที่จำแนกได้หลายลักษณะ

ลักษณะของอาการสายตาเลือนราง

ลักษณะของภาวะสายตาเลือนรางจำแนกได้ดังนี้

  1. 1.ภาพมัวหรือบิดเบี้ยวตรงจุดกลางมีลักษณะคือการเป็นรูขาดตรงจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา (Macular Hole) โดยผู้ที่มีอาการจะประสบปัญหาในการอ่านหนังสือ
  2. ภาพมัวทั่วไปมีอาการมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกระจกตา จอประสาทตา หรือจอตาลอ
  3. ลานสายตาแคบผู้ป่วยจะมีการมองเห็นคล้ายกับการมองผ่านอุโมงค์ โดยพบได้ในคนที่เป็นต้อหินรวมไปถึงจอประสาทตาเสื่อมอันเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ หากมีอาการลานสายตาแคบเกิน 10 องศา จะประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
  4. ลานสายตาเสียครึ่งซีกเป็นการสูญเสียการมองเห็นชนิดที่เรียกว่า Hemianopia เกิดจากโรคทางสมอง และจะมีอาการภาพมัวครึ่งบนหรือครึ่งล่างอันเนื่องมาจากเส้นเลือดในสมองที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นตีบ

สาเหตุของการทำให้เกิดอาการสายตาเลือนราง

สายตาเลือนรางมีสาเหตุได้หลายปัจจัย ทั้งการได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนดวงตา พันธุกรรม โรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา แต่เกิดขึ้นในระดับที่มีความรุนแรงน้อยกว่าที่จะทำให้ตาบอด ส่งผลทำให้สมรรถภาพการมองเห็นยังไม่สูญเสียไปจนหมด แต่จะลดน้อยลงจนทำให้การมองเห็นบกพร่องลง ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดอาการสายตาเลือนลางมีได้หลายโรค

โรคที่ทำให้เกิดภาวะสายตาเลือนราง

1. โรคจอประสาทตาหลุดลอก

โดยปกติจอประสาทตาของคนเราจะเป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะบางใส มีส่วนประกอบคือเส้นใยประสาทที่คลุมผนังส่วนหลังด้านในของลูกตา โดยเซลล์จอประสาทตาทำหน้าที่รับแสงที่ผ่านเข้ามาแปลงเป็นสัญญาณเข้าสู่เส้นประสาทตาเพื่อให้สมองประมวลภาพที่มองเห็น แต่ถ้าหากจอประสาทตาเกิดฉีกขาดหรือ จอตาลอก จะทำให้เซลล์ที่มีความไวแสงเสื่อมสภาพจนสูญเสียการส่งสัญญาณเข้าสู่เส้นประสาทตา ทำให้ดวงตามีปัญหาในการรับภาพ กลายเป็นอาการสายตาเลือนราง และหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง

การรักษาอาการจอประสาทตาหลุดลอกมีหลายวิธี เช่น การฉายแสงเลเซอร์ที่จอประสาทตา (Argon Multiwavelength), การรักษาโดยใช้ความเย็น (Cryoplexy), ฉีดแก๊ส (Retinopneumoplexy) เข้าไปในน้ำวุ้นตา, ผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy)

2. โรคเบาหวานขึ้นจอตา

โรคเบาหวานนั้นสร้างความอันตรายต่อเส้นเลือดทั่วร่างกายรวมไปถึงดวงตาด้วย โดยเป็นอาการแทรกซ้อนที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงกับหลอดเลือดขนาดเล็กที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงที่จอประสาทตา เบาหวานทำให้หลอดเลือดนั้นมีขนาดที่ไม่คงที่ บางส่วนมีขนาดใหญ่บางส่วนเล็กคล้ายคอคอด หากมีอาการรุนแรงจะทำให้เส้นเลือดฝอยแตกตัวออกมาจากจอประสาทตาเข้าไปในส่วนที่เรียกว่าน้ำวุ้นตา โดยเส้นเลือดที่แตกแขนงใหม่นี้มีความเปราะบางเป็นอย่างมาก หากเกิดการแตกจะส่งผลให้สายตาเลือนรางอย่างเฉียบพลัน เพราะจอประสาทตาถูกทำลาย

การรักษาโรคเบาหวานขึ้นจอตาคือการฉีดยาเข้าวุ้นตา เพื่อลดการรั่วซึมของน้ำเหลืองจากหลอดเลือดและทำให้เส้นเลือดที่งอกผิดปกติฝ่อลง ลดอาการบวมของจุดรับภาพชัดจอตาทำให้การมองเห็นดีขึ้น ส่วนวิธีต่อมาคือการรักษาด้วยการฉายแสงเลเซอร์ไปที่จอประสาทตา โดยการใช้ความร้อนกระตุ้นหยุดการไหลซึมของน้ำเหลืองจากหลอดเลือด และลดการงอกใหม่ของเส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติ

3. โรคจุดรับภาพชัดจอตาเสื่อมจากอายุ

โรคจุดรับภาพชัดจอตาเสื่อมจากอายุเป็นโรค ที่เกิดจากความผิดปกติบริเวณศูนย์กลางของจอประสาทตาที่ทำหน้าที่รับภาพ ซึ่งจะส่งผลทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะตรงกลางภาพ แต่ด้านข้างยังมองเห็นอยู่เป็นปกติ โดยพบมากในผู้สูงอายุ ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง โดยหากพบโรคนี้ในตาข้างใดข้างหนึ่งแล้ว มีความเสี่ยงสูงว่าจะพบในตาอีกข้างหลังจากนั้นภายในไม่กี่ปี อาการของโรคมีความร้ายแรงพอสมควร โดยการรักษานั้นทำได้หลายวิธี เช่น ฉายแสงเลเซอร์ที่ทำให้เกิดความร้อนลงบนจอประสาทตา เพื่อลดการเกิดเลือดออกใต้จอประสาทตา แต่วิธีนี้จะส่งผลให้จอประสาทตาส่วนที่ถูกเลเซอร์นั้นโดนความร้อนทำลายและเกิดจุดมืดดำแบบถาวร ประสิทธิภาพการมองเห็นจะลดลงหลังเข้ารับการรักษา,การฉีดยากลุ่ม Anti-Vascular Endothelial Growth Factor : Anti-VEGF เข้าไปที่น้ำวุ้นตา เพื่อให้เส้นเลือดที่งอกตัวผิดปกติสลายไป โดยวิธีนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องตามการวินิจฉัยของแพทย์ หรือการรักษาด้วยการ ผ่าตัดตา

4. โรคต้อหิน

โรคต้อหินนับว่าเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสายตาเลือนราง สามารถเกิดได้กับตาทั้งสองข้าง โดยต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุดคือต้อหินมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma) ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นต้อหินจนกระทั่งอาการแย่ลงเมื่อสังเกตว่าตาเริ่มมองไม่ชัด

สาเหตุของการเกิดต้อหินเกิดจากมีการอุดกี้นที่ระบบระบายน้ำของช่องหน้าม่านตาทำให้ความดันภายในลูกตาสูง โดยดวงตาของคนเราจะมีส่วนที่เรียกว่าช่องว่างด้านหน้าลูกตา ซึ่งอยู่หลังกระจกตา และส่วนนี้มีสารน้ำในลูกตา (Aqueous Humor) บรรจุอยู่ โดยของเหลวนี้จะทำหน้าที่นำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อใกล้เคียง และมีความดันคงที่

แต่ถ้าความดันในตาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมากดเส้นประสาทตา เลือดที่มาเลี้ยงประสาทตาไหลเวียนไม่ดี จะทำให้ประสาทตาเสื่อมส่งผลต่อภาวะสายตาเลือนรางได้ในที่สุด โดยการรักษาต้อหินมีทั้งวิธีหยอดยา ผ่าตัดตา และรักษาด้วยการยิงเลเซอร์

การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการสายตาเลือนราง

หากพบว่ามีอาการสายตาเลือนรางควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางโดยเร็ว เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการว่าเกิดขึ้นจากโรคทางตาชนิดใด จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี 

แม้ว่าในบางอาการภาวะสายตาเลือนรางจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีที่ทำให้อาการไม่แย่ลงไปกว่าเดิม โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้

  1. ใช้แสงสว่างให้เหมาะสมกับดวงตา เพราะภาวะสายตาเลือนรางในแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน การใช้แสงสว่างให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต เช่น อ่านหนังสือ ทำงาน จะเป็น การถนอมสายตา ที่ดี
  2. อ่านหนังสือที่มีตัวอักษรใหญ่กว่าปกติ ใช้โทรศัพท์มือถือที่ปรับตัวอักษรใหญ่ได้จะช่วยให้สบายตามากขึ้น
  3. ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือสายตา เช่น แว่นขยาย เครื่องมือช่วยกำกับบรรทัดหนังสือ แว่นกรองแสง เป็นต้นเพื่อเป็น การถนอมสายตา

อาการป่วยเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนจะต้องพบเจอ หากเรามีอาการสายตาเลือนรางที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต การดูแลไม่ให้อาการลุกลามเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับอาการป่วยต่อไปอย่างเข้าใจและมีความสุขได้

 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved.