ศูนย์โรคตาทั่วไป

จอตาเสื่อมปล่อยไว้ไม่รักษาเสี่ยงตาบอด

ศูนย์โรคตาทั่วไป จอตาเสื่อมปล่อยไว้ไม่รักษาเสี่ยงตาบอด

โรคจอตาเสื่อม คืออะไร

โรคจอตาเสื่อม หรือ Age-Related Macular Degeneration (AMD)  เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากจุดกลางรับภาพของจอตาผิดปกติ ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไปและเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ โรค จอตาเสื่อมนี้ ส่งผลกระทบต่อจอตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจุดภาพชัด (Macular) ทำให้สูญเสียการมองเห็นตรงส่วนกลางของภาพเป็นหลัก

ปัจจัยเสี่ยงของโรคจอตาเสื่อม

  • อายุ : ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม : มีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคจอตาเสื่อม
  • การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคจอตาเสื่อมและยังทำให้โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
  • โรคประจำตัว : เช่นมีความดันโลหิตสูง

ประเภทของโรคจอตาเสื่อม

1.   โรคจอตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)

เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 80-90% ของผู้ป่วยจอตาเสื่อม โดยมีการเสื่อมสภาพของจอตาอย่างช้าๆ และมีการสะสมของสารที่ใต้ชั้นจอตา ช่วงแรกๆของโรคอาจยังไม่มีผลกระทบต่อการมองเห็นมากนัก จนเมื่อจอตาเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆจนถึงระยะท้ายๆ จะทำให้การมองเห็นบริเวณกลางภาพลดลง

2.   โรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)

พบได้น้อยกว่า ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยจอตาเสื่อม แต่มีความรุนแรงมากกว่า โดยจะมีการเจริญเติบโตของหลอดเลือดผิดปกติใต้ชั้นจอตาบริเวณจุดภาพชัด ทำให้จอตาบวม มีเลือดออกที่จอตาได้ อาจทำให้มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในโรคจอตาเสื่อม

อาการของโรค AMD

-การมองเห็นกลางภาพผิดปกติ: เช่น การเห็นภาพที่ผิดปกติ หรือมีจุดมืดในพื้นที่กลางของภาพ-การมองเห็นลดลง: การมองเห็นอาจลดลงหรือมีความคมชัดน้อยลง-ความผิดปกติในการมองเห็นสี: สีอาจดูหม่นหมองหรือสีผิดปกติ-การเห็นภาพบิวเบี้ยว : เส้นตรงอาจดูเป็นคลื่นหรือบิดเบี้ยว-การมองเห็นในที่มืด: อาจมีปัญหาในการมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อย

แนวทางการรักษา

  • การฉีดยายับยั้งการเจริญเติบโตของหลอดเลือดใหม่ (Anti-VEGF Therapy) เป็นการฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นตา เพื่อป้องกันการรั่วซึมและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ลดการบวมของจอตา ทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ วิธีนี้เป็นการรักษาหลักในโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)
  • การฉายแสงเลเซอร์เย็นร่วมกับการให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำ Photodynamic Therapy (PDT) เพื่อทำลายหลอดเลือดผิดปกติ
  • การใช้แสงเลเซอร์เพื่อทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติLaser Photocoagulation วิธีนี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของโรคห่างจากจุดภาพชัดพอสมควร
  • รับประทานอาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์หากมีข้อบ่งชี้

วิธีคัดกรองจอตาเสื่อมด้วยตัวเอง

​สำหรับผู้ที่มีอาการเข้าข่ายจอประสาทตาเสื่อม สามารถทดสอบด้วยตัวเองได้โดยใช้ตารางทดสอบจอตา (Amsler Grid) ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษที่มีภาพตารางสี่เหลี่ยมหลายช่อง และมีจุดดำตรงกลางดังภาพ ตารางนี้สามารถพิมพ์จากอินเทอร์เน็ตมาใช้ตรวจเองที่บ้านได้ โดยทำตามขั้นตอนนี้

  • วางตารางตั้งไว้ในระดับสายตาในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ
  • ยืนห่างจากตารางประมาณ 14 นิ้ว ใช้มือปิดตาไว้ 1 ข้างแล้วมองไปที่จุดกลางตาราง ว่าสามารถมองเห็นจุดดำตรงกลางหรือไม่
  • ขณะที่มองจุด เห็นตารางที่อยู่รอบ ๆ หรือไม่ ถ้าเห็น ให้สังเกตที่ตารางโดยรอบว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ขนาดเส้นของตารางปกติดีไหม เส้นมีขนาดเท่าไรถ้าปกติดีตารางจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ถ้าหากใครเห็นเป็นช่องบิดเบี้ยว ภาพมีจุดเบลอหรือมีส่วนใดขาดหายไปแสดงว่าผิดปกติ มีโอกาสที่จะเกิดอาการจอตาเสื่อม ควรรีบไปพบจักษุแพทย์

ตารางทดสอบนี้เป็นการทดสอบในเบื้องต้นเท่านั้น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อขยายม่านตาและตรวจจอประสาทตาโดยละเอียดอีกครั้ง 

การดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการสามารถช่วยชะลอการดำเนินของโรคจอตาเสื่อมได้

  • หยุดสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัดเป็นประจำ
  • ใส่แว่นตากันแดดที่มีการกรองแสดงยูวีเมื่อต้องเผชิญแสงแดดจัด
  • รับประทานอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป-ผู้ป่วยที่เป็นโรคจอตาเสื่อม ควรได้รับการตรวจติดตามโดยจักษุแพทย์เป็นระยะ ตามที่แพทย์นัดหมายเพื่อตรวจดูความก้าวหน้าโรค และเพื่อให้การรักษาได้ทันหากพบความผิดปกติ
  • ตารางทดสอบจอตา Amsler Grid : เป็นเครื่องมือที่ผู้ป่วยสามารถใช้ติดตามอาการด้วยตัวเองที่บ้านได้ หากตรวจด้วยตัวเองแล้วพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น หรือ มองเห็นภาพผิดปกติ ควรพบจักษุแพทย์Top of Form

สรุป

โรคจอตาเสื่อมเป็นโรคเรื้อรังของจุดรับภาพชัดในจอตา เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ การวินิจฉัยและการรักษาโรคจอตาเสื่อม จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อชะลอการดำเนินโรคและให้การรักษาได้ทันท่วงที

 ใครเสี่ยงเป็นวุ้นในตาเสื่อมบ้าง พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี
 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
 สังเกตอาการวุ้นในตาเสื่อม ทำไมมองเห็นจุดดำและหยากไย่ลอยไปมา
 มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?

Copyright © 2024 All Rights Reserved.