ไขข้อสงสัย อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กเกิดจากพันธุกรรมจริงหรือ
อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ในเด็กมีสาเหตุหลักมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เมื่อเป็นแล้วควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อการมองเห็นและบุคลิกภาพของลูกน้อย
ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ลักษณะความผิดปกติในทารกที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนมองข้าม เพราะมักคิดว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรงหรือเมื่อโตขึ้นแล้วอาการเหล่านี้ก็จะสามารถหายเองได้ แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วตาเข ตาเหล่ ถือเป็นโรคทางดวงตาอย่างหนึ่งที่มีโอกาสจะกระทบต่อการมองเห็นของลูกน้อย และยังบั่นทอนความมั่นใจจนกลายเป็นปมด้อยในใจของเด็ก ๆ ได้อีกด้วย บทความนี้จึงจะมากล่าวถึงอาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ในเด็กกันว่ามีลักษณะเป็นแบบไหน เมื่อเป็นแล้วควรดูแลรักษาอย่างไร
ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ในเด็กคืออะไร มีลักษณะเป็นแบบไหน
ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) คือ สภาวะหรืออาการผิดปกติที่ลูกตาทั้งสองข้าง มีลักษณะที่ไม่ขนานกัน ทำงานไม่ประสานกัน เมื่อมองตรงจะเห็นได้ชัดว่าตาดำของเด็ก ๆ จะไม่อยู่ตรงกลาง อาจเหล่ไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งลักษณะของอาการตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus)สามารถแยกย่อยได้ดังนี้
1.ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia)
ตาเข ตาเหล่ในลักษณะแนวนอน ถือเป็นลักษณะอาการที่พบในเด็กได้มากที่สุด โดยมีลักษณะตาดำเขเข้าไปด้านในหัวตา ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการพัฒนากล้ามเนื้อด้านหัวตาที่ไม่สมดุล ซึ่งพบได้ในเด็กแรกเกิดหรือเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป
2.ตาเขออกด้านนอก (Exotropia)
อีกหนึ่งตาเข ตาเหล่ในลักษณะแนวนอน มีลักษณะตาดำเขหรือเหล่เฉียงออกไปด้านนอกหางตา มักมีอาการร่วมกับภาวะสายตาสั้น และมีสาเหตุมาจากโรคทางสายตาอื่น ๆ เช่น วุ้นลูกตาขุ่น รูม่านตาตีบ ประสาทจอรับภาพผิดปกติ ทำให้ตาดำไม่สามารถจับจ้องวัตถุหรือภาพตรงหน้าได้ ตาจึงเบนออกข้างนอกและมีลักษณะเป็นตาเข ตาเหล่ในที่สุด
3.ตาเขขึ้นด้านบน (Hypertropia)
อาการตาเข ตาเหล่ประเภทนี้จะมีลักษณะตาดำข้างที่เขลอยขึ้นด้านบนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการทำงานกล้ามเนื้อกลอกตา ทั้งนี้เป็นลักษณะอาการตาเข ตาเหล่ที่พบได้น้อย
4.ตาเขลงด้านล่าง (Hypotropia)
อาการตาเข ตาเหล่ลงด้านล่างมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการทำงานกล้ามเนื้อกลอกตาเช่นเดียวกัน แต่แทนที่จะเขไปด้านบนกลับมีลักษณะลูกตาถูกดึงรั้งหรือเขลงด้านล่าง ขณะเดียวกันหากเกิดอุบัติเหตุที่กล้ามเนื้อตาก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการตาเขลงด้านล่างได้เช่นกัน
5.อาการตาเขเทียม (Pseudostrabismus)
ตาเขหรือตาเหล่เทียมเป็นประเภทอาการที่มักพบได้กับเด็กที่มีสันจมูกแบนราบไปกับผิวหนังหรือมีลักษณะบริเวณหัวตาที่กว้างกว่าปกติจนทำให้ดวงตาชิดกับหัวตาจนเกินไป โดยจะมีลักษณะคล้ายกับตาเขเข้าด้านใน ซึ่งอาการนี้จะหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น นอกจากนี้การมีรูปหน้าแคบแต่ตำแหน่งของดวงตาอยู่ใกล้กัน หรือการมีรูปหน้ากว้างทำให้ตำแหน่งของลูกตาอยู่ห่างกันมาก จะทำให้ดูคล้ายว่าเด็กคนนั้นมีลักษณะตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุอากาตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็ก
อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อตาเกิดความไม่สมดุลหรือทำงานผิดปกติ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับดวงตาบางชนิดก็มีส่วนทำให้เกิดโรคตาเขในเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อตาผิดปกติ โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ,โรคตาไทรอยด์ ,โรคมะเร็งที่จอตา ,โรคต้อกระจกในเด็ก รวมถึงการมีภาวะค่าสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด หรือสายตาเอียงก็ตาม
และหากพ่อแม่ผู้ปกครองปล่อยให้ลูกน้อยที่อยู่ในช่วงวัยกล้ามเนื้อตากำลังพัฒนานั้นอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปก็มีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติจนส่งผลพัฒนากลายเป็นโรคตาเข ตาเหล่ในเด็กได้เช่นกัน ซึ่งจะพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1 - 2 ปีขึ้นไป
อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กเกิดจากพันธุกรรมจริงหรือไม่
เป็นความจริงที่ว่าอาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กสามารถเกิดจากพันธุกรรมได้ จะมีทั้งในรูปแบบที่ทราบสาเหตุของลักษณะอาการตาเหล่หรือไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก็ได้ โดยเฉพาะในเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด หรือ Trisomy 18 โดยลักษณะของโรคคือมีโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม ทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการต่อร่างกายและระบบประสาท ขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้ลูกน้อยเกิดอาการตาเข ตาเหล่ ได้อีกด้วย
วิธีสังเกตอาการตาเข ตาเหล่ในเด็ก
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองท่านไหนที่กังวลว่าลูกน้อยจะเป็นโรคตาเข ตาเหล่ในเด็ก สามารถสังเกตลักษณะดวงตาของลูกได้ตั้งแต่ในช่วงอายุ 5 เดือนขึ้นไป หรือคอยสังเกตพฤติกรรมการมองของลูกว่ามีลักษณะผิดแปลกอย่างไรหรือไม่ เช่น มักหรี่ตามองวัตถุตรงหน้า คอยเอียงคอมองภาพตรงหน้าอยู่ตลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาพซ้อนมองไม่ชัด หรือมักจะหันข้างมองสิ่งต่าง ๆ แทนการจ้องมองสิ่งนั้น ๆ แบบตรง ๆ
ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยหรือสามารถสื่อสารได้มีวิธีทดสอบการมองเห็นของลูกด้วยการปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นให้เขาจ้องมองสิ่งของขนาดเล็กที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 6 เมตร แล้วสอบถามว่าการมองเห็นเป็นอย่างไร ถ้าหากปิดตาข้างหนึ่งแล้วมองวัตถุเป็นภาพซ้อนกัน โฟกัสวัตถุไม่ได้ หรือมองไม่เห็น สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าเด็กมีอาการตาเข ตาเหล่ ควรเข้ารับการวินิจฉัยและรับฟังแนวทางการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
อาการตาเข ตาเหล่รักษาได้ไหม
อาการตาเข ตาเหล่ในเด็กเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคว่าเกิดจากอะไร โดยแนวทางการรักษาสามารถแบ่งเป็นแบบไม่ผ่าตัดในกลุ่มอาการของโรคที่ไม่รุนแรง และวิธีการรักษาแบบผ่าตัดในกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาตาเหล่แบบไม่ผ่าตัดจะเหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการตาเหล่ไม่รุนแรงหรือกลุ่มเด็กตาเหล่ที่มีภาวะค่าสายตาผิดปกติร่วมด้วย โดยแพทย์จะแนะนำให้สวมแว่นสายตาเพื่อปรับค่าสายตาให้กลับมามีระดับที่เหมาะสมและสามารถมองเห็นภาพตรงหน้าได้เป็นปกติมากยิ่งขึ้น หรืออาจให้สวมแว่น Prism เพื่อช่วยในการหักเหแสง ทำให้ดวงตารับภาพได้ดีมากยิ่งขึ้น
หากเด็กมีอาการตาเข ตาเหล่เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ จะต้องเข้ารับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อบรรเทาอาการโรคเหล่านั้นให้เป็นปกติมากที่สุด ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการตาเข ตาเหล่ในเด็กได้ในอนาคต
2.การรักษาแบบผ่าตัด
การรักษาตาเข ตาเหล่แบบผ่าตัดจะเหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ แนะนำว่าหากสังเกตพบลูกน้อยมีอาการตาเข ตาเหล่ ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้นานไม่เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจะทำให้รักษาได้ยากและดวงตากลับมามองเห็นเป็นปกติได้ยากมากกว่าเดิม
โดยการผ่าตัดรักษาอาการตาเข ตาเหล่นั้นจะเป็นการผ่าตัดเพื่อขยับหรือปรับความยาวของกล้ามเนื้อตาให้กลับมามีความยาวหรือขนาดที่เหมาะสม สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและสอดประสานกันอย่างเป็นปกติ หลังผ่าตัดอาการดวงตาที่เคยเหล่เคยเขก็จะกลับมาตรง สามารถมองเห็นภาพตรงหน้าหรือวัตถุทั้งในระยะใกล้ไกลได้ไม่ต้องกังวลว่าภาพจะเบลอ มัว หรือเกิดภาพซ้อนอีกต่อไป อีกทั้งยังช่วยให้บุคลิกภาพของลูกน้อยดีขึ้นได้อีกด้วย
อาการตาเข ตาเหล่ในเด็กเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและการทำงานของกล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติ หากสังเกตพบว่าลูกน้อยมีอาการตาเข ตาเหล่ ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาทันที ไม่ว่าจะด้วยการสวมใส่แว่นสายตาหรือการผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อตาก็ตาม ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้จนยากต่อการรักษาหรือส่งผลเสียต่อการมองเห็นของลูกน้อยในอนาคต
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.