อาการตาแห้งแก้ได้อย่างไร ต้องหยอดตาหรือไม่

 อาการตาแห้งแก้ได้อย่างไร ต้องหยอดตาหรือไม่

อาการตาแห้งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก จนบางคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้มากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อคนไทยและคนทั่วโลกในทุกๆปี เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อดวงตามีปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ทำให้รู้สึกไม่สบายตาและเกิดอาการระคายเคือง บางครั้งอาจถึงขั้น เยื่อบุตาอักเสบ แสบตา ตาไวต่อแสงจนไม่สามารถที่จะลืมตาได้ แม้โดยทั่วไปจะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ก็สร้างปัญหาให้กับคนที่เป็นได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคนที่ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังจนการอักเสบรุนแรง เกิดผลข้างเคียงอาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้งประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

1.ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน

ต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Glands) เป็นต่อมเล็กๆ ที่อยู่บนขอบเปลือกตาใกล้กับขนตา ทำหน้าที่ผลิตไขมันออกมาเคลือบดวงตา ช่วยชะลอการระเหยของน้ำตาและรักษาความชุ่มชื้นให้กับดวงตาลดการเสียดสีของลูกตากับเนื้อเยื่อข้างเคียงขณะกระพริบตา เมื่อเกิดการอุดตันของต่อมไขมันนี้ จะทำให้ปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอหรือมีคุณภาพไม่ดี ส่งผลให้เกิดน้ำตากระเหยได้ง่่ายและเกิดอาการตาแห้งได้ 

ต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction – MGD) คือ การอุดตันหรือมีภาวะผิดปกติทำให้ต่อมที่เปลือกตาผลิตไขมันออกมาเคลือบตาและน้ำตาเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้น้ำตาระเหยเร็ว จนทำให้เกิดตาแห้ง นอกจากนี้หากพบอาการอักเสบ ติดเชื้อ ของต่อมไขมันที่เปลือกตา อาจนำพาไปสู่โรคเปลือกตาอักเสบและตากุ้งยิงได้

ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน

-อายุที่เพิ่มขึ้น-การใช้เครื่องสำอางบริเวณตา ขอบตาและเปลือกตา แล้วล้างทำความสะอาดไม่ดีหรือไม่ได้ล้าง-การใส่คอนแทคเลนส์นานๆ-คนที่เป็นโรคภูมิแพ้-โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน รูมาตอยด์ Sjogren’s syndrome โรคผิวหนังบางชนิด เช่น Rosacea

2.กลุ่มโรคบางชนิดที่ทำให้ต่อมน้ำตาผิดปกติหรือการกินยารักษาโรคนั้นๆ แล้วส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตา เช่น ภูมิแพ้ขึ้นตา, ไทรอยด์, กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง, รูมาตอยด์, ยากล่อมประสาท, ยาลดความดันโลหิต, กลุ่มยาแก้แพ้, ยาฮอร์โมนบางชนิด, ยารักษาสิวบางชนิด, ยารักษาโรคพาคินสัน เป็นต้น

3.การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิง โดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนและตอนวัยหมดประจำเดือน ที่ทำให้เยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกายผลิตน้ำได้น้อยลง

4.การใส่คอนแทคเลนส์นานๆปกติการใส่คอนแทคเลนส์ก็ทำให้ตาแห้งอยู่แล้ว แต่ยิ่งใส่นาน ๆจะทำให้ความไวของกระจกตาในการรับความรู้สึกลดลง และยิ่งทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้นได้

5.การทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือการใช้สายตาผ่านมือถือสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต นานมากเกินไป ซึ่งไม่เพียงแต่แสงจากหน้าจอเหล่านี้จะทำให้ตาแห้งเท่านั้น ขณะที่เราตั้งใจมองหรืออ่านอะไร ความถี่ในการกระพริบตาของเราจะลดลง ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้นได้อีก

6.โรคทางตาบางชนิดเช่น โรคเปลือกตาม้วนเข้าในหรือออกนอก มีผลต่อการกระจายของน้ำตา ทำให้ตาแห้งได้ หรือสารกันบูดในยาหยอดตาเอง ก็ทำให้น้ำตาระเหยง่ายและตาแห้งมากขึ้นได้เช่นกัน

7.สภาพแวดล้อมเช่น อยู่ในห้องแอร์นานๆ อยู่ในที่ๆอากาศแห้ง เช่น บนเครื่องบิน หรือเจอลมที่พัดรุนแรง

อาการตาแห้ง

อาการตาแห้งส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นอาการระคายเคือง คล้ายกับมีเศษผงเข้าตา รู้สึกแสบร้อนในตา น้ำตาเป็นเมือกเหนียว ใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่สบายตา มีอาการระคายเคืองตามากกว่าปกติ ในบางครั้งอาจมีอาการตาแดงร่วมด้วย รู้สึกฝืดตา ลืมตาลำบาก บางรายอาจมีอาการน้ำตาไหลมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อการระคายเคืองตา เมื่ออาการแสบตาลดลง น้ำตาก็จะหยุดไหล เมื่อน้ำตาแห้งไปก็จะกลับมาระคายเคืองอีก ตามัวตาล้าได้ง่าย

หากมีอาการที่กล่าวข้างต้นนานๆ มีตาแดง เคืองตา เจ็บตาจนรบกวนชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีรักษาอาการตาแห้ง

การรักษาอาการตาแห้งมีหลายวิธี รวมถึงวิธีการดูแลด้วยตัวเองหากพบว่ากำลังรู้สึกระคายเคืองอยู่ 

1.กระพริบตาถี่ๆ เป็นการดูแลตนเองเบื้องต้น เพื่อช่วยการกระจายของน้ำตาและพยายามอย่าจ้องอะไรนานๆ เพราะจะทำให้น้ำตาระเหยได้ไวขึ้น บางครั้งอาจใช้วิธีการหลับตาประมาณ 10-15 วินาที หรือเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงาน ด้วยการละสายตาจากสิ่งที่ทำอยู่ทุกๆ 20 นาที2.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอในแต่ละวัน จะทำให้ร่างกายและต่อมน้ำตาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ สามารถที่จะผลิตน้ำตาได้เป็นปกติ3.ลดเวลาการใช้คอนแทคเลนส์ โดยอาจหันมาใช้แว่นชั่วคราวหรือจนกว่าอาการตาแห้งจะดีขึ้น ปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสม หรือหยอดน้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา4.การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ เช่น ตับ แครอท บรอคโคลี่ และอาหารที่มีโอเมก้า3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ถั่ววอลนัท เมล็ดเจีย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด5.ใช้แว่นตากรอบพิเศษ โดยแว่นดังกล่าวจะมีคุณสมบัติในการป้องกันลมไม่ให้เข้าไปสัมผัสกับดวงตาได้รอบทิศ6.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงแล้วจ่อใส่หน้านานๆ การลดเวลาการใช้แอร์ หากต้องทำหน้าผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรพักสายตาเป็นระยะ และใช้งานภายใต้สภาวะแสงที่เพียงพอ หรือวางคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตา วิธีนี้จะช่วยให้เราไม่ลืมตาโตมาก ลดการระเหยของน้ำตาได้, การใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการระเหยของน้ำตาสู่สิ่งแวดล้อมได้7.งดสูบบุหรี่ หรืออยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่หนาแน่น8.การหยอดตาโดยการใช้น้ำตาเทียมควรเข้ารับคำปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อที่จะได้แนะนำชนิดของน้ำตาเทียมและวิธีการใช้งานที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

ประเภทของน้ำตาเทียม

น้ำตาเทียม(Artificial Tears) มีด้วยกัน 2 ประเภทหลักๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อบรรเทาอาการตาแห้งและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ได้แก่

1.น้ำตาเทียมสูตรน้ำเป็นน้ำตาเทียมที่มีส่วนประกอบของน้ำเป็นหลัก เหมาะที่จะใช้ตอนกลางวัน เพราะไม่เหนียวเหนอะหนะ สามารถใช้ได้ตลอดทั้งวัน

2.น้ำตาเทียมสูตรเจลและขี้ผึ้งเป็นน้ำตาเทียมที่มีความเหนียวข้นมากขึ้น ให้ความชุ่มชื้นนานกว่าสูตรน้ำ เนื้อเจลทำให้ติดตาได้นาน เหมาะที่จะใช้ในเวลากลางคืน สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง หรือต้องการความชุ่มชื้นยาวนาน

วิธีใช้ยาหยอดตาอย่างถูกต้อง

สำหรับผู้ป่วยโรคตาแห้งควรใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยในการบรรเทาอาการตาแห้งไม่ให้เกิดการระคายเคือง มีคำแนะนำเบื้องต้นในการใช้ดังนี้

-สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งไม่มากหยอดตา ไม่เกิน 4-5 ครั้ง/วัน สามารถเลือกเป็นน้ำตาเทียมที่มีสารกันบูดได้ ซึ่งมักมีราคาถูกกว่าและช่วยลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ ลดภาวะโลกร้อนได้-สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งมาก สามารถที่จะหยอดตาได้มากกว่า 6 ครั้ง/วัน โดยเลือกน้ำตาเทียมที่ไม่ใส่สารกันบูด ซึ่งมีข้อจำกัดตรงระยะเวลาในการใช้งาน เพราะถ้าเปิดขวดแล้วจะมีอายุใช้งานเพียง 12-16 ชั่วโมงเท่านั้น เว้นแต่ขวดที่มีวาล์วเปิดปิดชนิดพิเศษที่มีอายุการใช้งานนานกว่านั้น

ปล่อยตาแห้งเรื้อรัง เสี่ยงตาบอด

โดยปกติแล้วอาการตาแห้ง ส่วนใหญ่จะหายได้เองหากผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะไม่นำไปสู่อาการตาแห้งอีก เว้นเสียแต่ว่ายังคงทำพฤติกรรมซ้ำๆ พอระคายเคืองมากๆ ก็จะเกิดการขยี้ตา ยิ่งขยี้ตาแรงมากเท่าไร เยื่อบุตาอักเสบ ยิ่งเสี่ยงให้กระจกตาฉีกขาดหรือเป็นแผลได้ พอถึงตอนนั้นก็จะทำให้ตาติดเชื้อจนนำไปสู่การอักเสบอย่างรุนแรงและท้ายที่สุด ก็ทำให้ตาบอด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

วิธีการป้องกันอาการตาแห้งที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเด็กนักเรียน คนวัยทำงานที่ทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้แท็บเล็ตหรือมือถือสมาร์ทโฟน เพราะต้องจดจ้องอยู่กับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ที่มีการปล่อยแสงสีฟ้าออกมา ซึ่งมักจะทำให้คนที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นระยะเวลานาน ๆ ติดต่อกันโดยไม่พักสายตา มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตาแห้ง มากกว่าคนอื่นๆ แต่ถ้ามีอาการตาแห้งแบบเรื้อรัง แนะนำให้เข้ารับการรักษาจากจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุพร้อมกับรักษาอย่างถูกวิธีแต่เนิ่น ๆ

 สายตาสั้นแต่อยากทำ LASIK ใบมีด อันตรายไหม?
 อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
 การรักษา ต้อกระจก ผ่าตัดเป็นเพียงวิธีเดียวใช่หรือไม่?
 นักทัศนมาตร (Optometrist) คือใคร ทำไมต้องตัดแว่นกับนักทัศนมาตร
 เช็กด่วน! อาการแบบไหนบ่งบอกว่าคุณได้เวลาตัดแว่น
 ความแตกต่างของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและหนังตาตก
 เลนส์มัว ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก
 ต้อลม (pinguecula) รักษายังไงให้หายขาด
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้
 ใครที่เหมาะ? ควรแก้ปัญหา สายตาสั้น ยาว เอียง ด้วยPRK

Copyright © 2024 All Rights Reserved.