ไขข้อข้องใจ สายตาเอียง (Astigmatism) หายเองได้หรือไม่

 ไขข้อข้องใจ สายตาเอียง (Astigmatism) หายเองได้หรือไม่

ภาวะสายตาเอียงแตกต่างจากภาวะสายตาผิดปกติอื่น ๆ อย่างไร มาดูกันถึงสาเหตุของอาการ ,ประเภทของภาวะสายตาเอียง ,การทดสอบและวินิจฉัยผู้มีความเสี่ยงของภาวะสายตาเอียง รวมถึงแนวทางการรักษาและดูแลตัวเองของผู้มีภาวะสายตาเอียง

ปัญหาสายตาผิดปกติสามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง แต่ภาวะสายตาเอียงทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสนมากที่สุด บางคนคิดว่าสายตาเอียงทำให้เห็นภาพเอียงหรือบิดเบี้ยว ดังนั้นบทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจว่า สายตาเอียง (Astigmatism) คืออะไร อาการเป็นอย่างไรหรือรักษาอย่างไรได้บ้าง

สายตาเอียง (Astigmatism) คืออะไร ต่างจากภาวะสายตาผิดปกติอื่นอย่างไร

สายตาเอียงเกิดจากความโค้งของแกนกระจกตาไม่เท่ากัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนสายตาสั้นหรือยาวโดยกำเนิด แต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนสายตาสั้นมากกว่า ทำให้มองภาพมัวไม่คมชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน ไม่ได้เห็นภาพเอียงหรือบิดเบี้ยวอย่างที่หลายคนเข้าใจ ขณะที่ภาวะผิดปกติทางสายตาอื่น ๆ อย่างอาการสายตาสั้นจะทำให้มองเห็นวัตถุระยะไกลไม่ชัด เกิดจากดวงตามีการรวมแสงมากเกินไป สายตายาวโดยกำเนิดจะมองภาพไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล เกิดจากดวงตามีการรวมแสงน้อยเกินไป ส่วนสายตายาวเนื่องจากอายุเพิ่มขึ้นจะมองภาพระยะใกล้ไม่ชัด เป็นภาวะผิดปกติทางสายตาที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้ภาวะสายตาเอียง จึงต่างจากสายตาผิดปกติแบบอื่น อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาด้านความคมชัดของภาพ และปัญหาเกี่ยวกับจุดโฟกัสของสายตา อย่างไรก็ตามแม้อาการเริ่มต้นของสายตาเอียงจะไม่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ดูแลหรือหาทางรักษาที่เหมาะสมก็อาจกระทบกับชีวิตประจำวันอย่างมาก ทั้งด้านคุณภาพการใช้ชีวิตและความปลอดภัย

สาเหตุของภาวะสายตาเอียง

สายตาเอียง เกิดจากแกนภายในกระจกตามีความโค้งไม่เท่ากัน เวลามองภาพจึงเกิดจุดโฟกัส 2 จุด ทำให้ภาพที่เราเห็นไม่รวมเป็นภาพเดียว อาการนี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์เป็นโดยกำเนิด หรือเกิดขึ้นในภายหลังเมื่ออายุมากขึ้นก็ได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นจอประสาทตาของเราจะเริ่มเสื่อมลงทำให้เกิดภาวะผิดปกติต่าง ๆ นอกจากนี้อาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ หรือการผ่าตัดตา ก็ได้

อาการของคนสายตาเอียง (Astigmatism) เป็นอย่างไร

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเข้าใจผิดว่าสายตาเอียงหมายถึงอาการมองเห็นภาพเอียงหรือบิดเบี้ยว แต่จริง ๆ แล้วอาการของคนสายตาเอียงคือมองภาพไม่ชัด ภาพมัว, มีเงาซ้อน, ขอบภาพเป็นเงา, ทำให้เกิดปัญหาเวลามองตัวหนังสือหรือตัวเลขที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น 3 6 8 9 

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างปวดตาปวดหัว ตาพร่า ตาล้า เห็นแสงไฟเป็นแสงกระจายในเวลากลางคืน ต้องขมวดคิ้วหรือหรี่ตาตลอดเวลาเพื่อปรับโฟกัสของสายตา หรือบางคนอาจเผลอเอียงคอเพื่อให้มองภาพได้ชัดขึ้น หากติดเป็นนิสัยอาจทำให้เสียบุคลิกได้

สายตาเอียง (Astigmatism) มีกี่ประเภท

ภาวะสายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นร่วมกับภาวะผิดปกติทางสายตาอื่น ๆ ได้ แบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ

1. สายตาสั้นและเอียง

ภาวะสายตาสั้นและเอียง หมายถึงผู้ที่ความโค้งของกระจกตามีความผิดปกติ เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาจะเกิดการหักเหทำให้จุดรวมแสงตกกระทบไม่ถึงจอประสาทตา เกิดจุดโฟกัสภาพมากกว่า 1 จุด ทำให้มองภาพระยะไกลไม่ชัด เกิดเงาภาพซ้อน เห็นภาพเบลอ

2. สายตายาวและเอียง

ภาวะสายตายาวและเอียง หมายถึงภาวะเมื่อแสงสะท้อนที่เข้าสู่ดวงตาเกิดการหักเหผิดพลาด จุดรวมแสงจึงตกกระทบหลังจอประสาทตา เกิดจุดโฟกัสภาพมากกว่า 1 จุด ทำให้มองภาพระยะใกล้ไม่ชัด เกิดเงาภาพซ้อน เห็นภาพเบลอไม่คมชัดหรือเห็นรูปทรงไม่ตรงกับความเป็นจริง

3. ภาวะสายตาผิดปกติแบบผสม

ภาวะสายตาผิดปกติแบบผสม เป็นปัญหาที่ซับซ้อนเพราะอาจเป็นได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงในดวงตาข้างเดียว การมองเห็นจึงไม่ชัดเจนทั้งระยะใกล้และไกล นอกจากนี้ยังมักมองภาพเบลอไม่คมชัด วิสัยของการมองเห็นเป็นภาพซ้อน ทัศนวิสัยถูกบิดเบือน ร่วมกับมีอาการปวดตาปวดหัว หากใช้สายตามากเกินไปด้วย

การทดสอบและวินิจฉัยสายตาเอียง

เมื่อเข้ารับการตรวจวัดสายตา แพทย์อาจใช้วิธีเหล่านี้เพื่อช่วยวินิจฉัยว่าเรามีปัญหาสายตาเอียงหรือไม่

1. ตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity assessment test)

เป็นการทดสอบโดยให้อ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนแผนภูมิในระยะที่กำหนดซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยกับการทดสอบนี้กันดีอยู่แล้ว

2. ทดสอบการหักเหของแสง (Refraction test)

แพทย์จะใช้เครื่องตรวจตา Phoropter ซึ่งมีเลนส์ขนาดกำลังต่าง ๆ ให้เราสวมและอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนแผนภูมิเพื่อหาค่ากำลังของเลนส์ที่เหมาะสมกับดวงตาของเรามากที่สุด

3. ตรวจค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometry)

แพทย์จะใช้เครื่องตรวจตา Keratometer ทำการวัดค่าความโค้งและค่าสายตาเอียง จากนั้นจึงนำผลที่ได้ไปวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะสายตาผิดปกติแบบใดและหาแนวทางการรักษาต่อไป

การรักษาและแนวทางดูแลตัวเองของผู้มีภาวะสายตาเอียง  (Astigmatism)

การรักษาภาวะสายตาเอียงมีทั้งการรักษาแบบถาวรและไม่ถาวร ดังนี้

●การรักษาแบบถาวร

การรักษาแบบถาวรใช้การผ่าตัดเพื่อแก้ไขสายตา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตาและการผ่าตัดที่ระดับของเลนส์ตา หลายคนที่สงสัยว่าสายตาเอียงทำเลสิคได้ไหม ลองมาดูคำตอบกัน

1. การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ที่นิยมในปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น การทำ Photorefractive Keratectomy (PRK) เป็นการเปิดผิวกระจกตาชั้นนอกสุดแล้วใช้เลเซอร์ชนิดเย็นยิงลงบนเนื้อกระจกตาเพื่อปรับความโค้ง การทำ Laser-assisted in situ Keratomileusis (LASIK) เป็นการผ่าตัดเปิดกระจกตาด้วยเครื่องมือใบมีดติดมอเตอร์ เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อนทำเลเซอร์ปรับความโค้งกระจกตา นอกจากนี้ยังมีวิธีการทำเลสิกแบบไร้ใบมีดอย่าง Femtosecond laser-assisted LASIK (Femto-LASIK) และ Refractive Lenticule Extraction Small Incision Lenticule Extraction (ReLex SMILE) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับกระจกตา ลดอาการระคายเคือง และทำให้ผู้รักษาฟื้นตัวเร็วขึ้น

2. การผ่าตัดระดับของเลนส์ตา ใช้วิธี Implantable Collamer Lens (ICL) เป็นการใส่เลนส์เสริมเข้าไปในดวงตาของเรา โดยแพทย์จะวางเลนส์เสริมนี้ด้านหลังม่านตาอยู่หน้าเลนส์ตาธรรมชาติ เป็นวิธีที่ใช้สำหรับผู้มีสายตาสั้นหรือเอียงมาก กระจกตาบาง และมีช่องหน้าลูกตาลึกพอสำหรับใส่เลนส์เสริม โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

●การรักษาแบบไม่ถาวร

การรักษาแบบไม่ถาวรเป็นการใช้เครื่องมือภายนอกเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการมองเห็น อย่างการใช้แว่นสายตาที่มีเลนส์ทรงกระบอก (Cylindrical lens) หรือเลนส์สัมผัสที่ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาเอียงโดยเฉพาะ

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงทำได้หลายวิธี แม้ปัญหานี้จะป้องกันไม่ได้แต่ก็สามารถดูแลดวงตา เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น โดยปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวและพฤติกรรมของเราเอง หากต้องทำงานหรืออ่านหนังสือควรมีแสงสว่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการใช้สายตามองจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือติดต่อกันนานเกินไป หมั่นพักสายตาเป็นระยะ และควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรง ๆ เพราะอาจกระทบกระเทือนกระจกตา นอกจากนี้ต้องหมั่นบำรุงสายตาจากภายในด้วยการกินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซี อี และลูทีน อย่างผักใบเขียวและผลไม้ด้วย

ปัญหาสายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่สำคัญยังเกิดได้จากหลายสาเหตุทำให้ป้องกันได้ยาก แต่เราก็สามารถป้องกันและบรรเทาภาวะสายตาเอียงที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตัวเอง หมั่นดูแลสายตาทั้งภายในและภายนอก หากพบว่าตัวเองมีสายตาผิดปกติมองภาพแปลกไป ภาพเบลอหรือภาพซ้อน ควรไปตรวจวัดสายตากับจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ใจก่อนหาแนวทางดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นในอนาคต

 ชวนสังเกตอาการเริ่มต้นต้อกระจก เมื่อไหร่ที่ควรรักษา
 คัดมาแล้ว! 5 อาหารเสริมบำรุงสายตา ลดเสี่ยงตาเสื่อมในวัยทำงาน
 ต้อหินเฉียบพลันและต้อหินเรื้อรังต่างกันอย่างไร
 กินหวานบ่อยๆ เสี่ยงเป็นภาวะเบาหวานขึ้นตาไหม
 เบาหวานขึ้นตา รีบรักษาก่อนตาบอด
 ใครเสี่ยงเป็นวุ้นในตาเสื่อมบ้าง พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี
 เปรียบเทียบราคาการทำ LASIK แต่ละประเภท คุ้มไหมกับราคาที่ต้องจ่าย
 อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร
 มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?
 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม