โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus)

 โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus)

หากพูดถึงโรคตาที่มาด้วยตามัวเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงโรคต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ ต้อลม จอประสาทตาเสื่อม วุ้นตาเสื่อม ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหรือที่เรียกว่าภาวะเบาหวานขึ้นจอตา อีกหนึ่งโรคทางตาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและไม่สามารถรักษาด้วยการหยอดตา นั่นก็คือ Keratoconus หรือโรคกระจกตาโก่ง แต่หลายคนจะรู้จักในชื่อโรคกระจกตาย้วย โรคกระจกตาป้อแป้ หรือโรคกระจกตารูปกรวย โรคนี้คืออะไร วินิจฉัยและรักษาอย่างไร เรามีข้อมูลดีๆ พร้อมกับวิธีสังเกตตัวเองง่ายๆ มาฝาก

โรคกระจกตาโก่งคืออะไร

Keratoconus หรือโรคกระจกตาโก่ง เป็นภาวะผิดปกติของเส้นใยคอลลาเจนที่กระจกตา โดยเกิดได้จากการที่มีเส้นใยคอลลาเจนที่กระจกตาอ่อนแอลงและคอลลาเจนที่กระจกตาชั้นกลางเรียงตัวผิดปกติ ทำให้กระจกตาอ่อนแอ บริเวณตรงกลางจึงบางลงและโก่งนูนยื่นมาข้างหน้า ลักษณะเป็นรูปทรงกรวย ย้วยหรือเบี้ยว ส่งผลให้มีค่าสายตาสั้นหรือเอียงเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้การมองเห็นแย่ลง แต่หากไม่รีบทำการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกอาจมีอาการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น แผลที่กระจกตา กระจกตาทะลุ โรคกระจกตาโก่งสามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย พบได้ในอัตรา 1:10,000 คน โดยมักเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้างพร้อมกัน แต่ความรุนแรงอาจไม่เท่ากันได้

สาเหตุของโรคกระจกตาโก่ง

เหตุผลที่ทำให้โรคกระจกตาโก่งเป็นโรคตาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เนื่องจากเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

-พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระจกตา ที่พบได้บ่อยที่สุดคือการขยี้ตาแรงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะจากโรคภูมิแพ้ทางตา หรือการสวมใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานานซึ่งอาจทำให้มีอาการตาแห้งหรือภูมิแพ้-กรรมพันธุ์-การเป็นโรคบางชนิด เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม โรคหืด โรคหนังยืดผิดปกติ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือภาวะตาอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น-การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน-การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตต่อเนื่องเป็นเวลานาน-การทำหัตถการทางตาที่มีผลให้กระจกตาบางลง

รู้ได้อย่างไรว่ามีอาการของโรคกระจกตาโก่ง

   ​ปกติแล้วอาการโรคกระจกตาโก่งสามารถเริ่มแสดงอาการได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่เนื่องด้วยอาการเริ่มต้นจะคล้ายกับการมีภาวะสายตาสั้นหรือสายตาเอียง จึงทำให้หลายคนจะเข้าใจผิดคิดว่าค่าสายตาเปลี่ยนแปลงและเลือกที่จะไปตัดแว่นสายตา หรือบรรเทาอาการตามัวด้วยการหยอดตา แทนที่จะเข้าไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ ซึ่งโรคกระจกตาโก่งก็จะยังคงดำเนินอยู่หากไม่รีบทำการรักษา จะทำให้การมองเห็นค่อยๆแย่ลง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากเรารู้อาการของโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วจึงช่วยให้การรักษาเร็วขึ้น อีกทั้งยังลดผลกระทบที่อาจนำไปสู่โรคตาอื่นๆ ด้วย สำหรับอาการของโรคกระจกตาโก่งที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ มีดังต่อไปนี้

-คุณภาพการมองเห็นแย่ลง ตามัว เห็นภาพต่างๆ ไม่ชัดเจน แม้ว่าอายุยังน้อย-เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาสั้นหรือเอียงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยกว่าปกติ-มีอาการเคืองตา แสบตา หรือตาไม่สู้แสงแดด-มีอาการเคืองตา เนื่องจากกระจกตาที่โก่งอาจทำให้มีตาแห้งง่ายเกิดแผลที่กระจกตา เป็นอาการที่แสดงว่าโรคกระจกตาโก่งมีความรุนแรงมากขึ้น หรือเป็นจากภาวะเยื่อบุตาอักเสบ

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคกระจกตาโก่ง

แม้ว่าโรคกระจกตาโก่งจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและสามารถพบได้ในอัตรา 1:10,000 คน แต่ถึงอย่างนั้นภาวะหรือพฤติกรรมบางอย่างก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

-มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย-กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมขยี้ตาหรือใช้นิ้วกดลูกตาเป็นประจำ-กลุ่มที่มีโรคประจำตัวแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคหนังยืดผิดปกติ โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์ และโรคครูซอง จะทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ-กลุ่มผู้ป่วยโรคที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ หลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท จะมีเปอร์เซ็นต์เกิดภาวะคอลลาเจนเรียงตัวผิดปกติสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงของโรคกระจกตาโก่งมากกว่าคนปกติ-กลุ่มผู้มีปัญหาสายตาเอียงหรือสั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว-กลุ่มคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน-กลุ่มคนที่เคยได้รับการผ่าตัดที่กระจกตา เช่น การทำเลสิค เนื่องจากในขั้นตอนการทำมีการฝนกระจกตาทำให้กระจกตาบางลง-หญิงตั้งครรภ์ หากมีโรคกระจกตาโก่งอยู่แล้ว จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน-กลุ่มผู้ที่เริ่มมีโรคกระจกตาโก่งเมื่ออายุต่ำกว่า 20 ปี มักมีอาการรุนแรงและการดำเนินโรคได้เร็วกว่าคนที่มีอาการในช่วงอายุมากกว่า 20 ปี

การตรวจวินิจฉัยโรคกระจกตาโก่ง

โดยปกติคนที่มีโรคกระจกตาโก่งมักตรวจพบอาการโดยบังเอิญจากการเข้ามาตรวจสุขภาพตาเพื่อประเมินโรคตา ความเสี่ยง หรือทำหัตถกรรมอื่นๆ แต่หากตรวจพบว่ามีความผิดปกติที่กระจกตา จักษุแพทย์จะดำเนินการตรวจกระจกตาในเชิงลึก ร่วมกับการซักประวัติโรคประจำตัว ประวัติเกี่ยวกับโรคตาในครอบครัว สำหรับวิธีการตรวจกระจกตาโดยละเอียดมีวิธีการดังต่อไปนี้

●      การตรวจวัดความโค้งกระจกตาด้วยการใช้เครื่องวิเคราะห์กระจกตา (Corneal topography) เพื่อประเมินความผิดปกติของกระจกตา

●      การวิเคราะห์ความผิดปกติของค่าสายตาและค่าความโค้งกระจกตาด้วย เครื่องวัดสายตาแบบคอมพิวเตอร์ (Auto kerato-refractometer)

●      การใช้เครื่อง Slit-lamp หรือกล้องจุลทรรศน์ดวงตา ตรวจสอบความผิดปกติของกระจกตาและบริเวณอื่นๆทั้งหมดร่วมด้วย

การรักษาโรคกระจกตาโก่ง  

เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยกระจกตาและจักษุแพทย์ลงความเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการโรคกระจกตาโก่ง หลังจากนั้นแพทย์จะประเมินการมองเห็นและการดำเนินโรคว่ามีกระจกตาโก่งอย่างรวดเร็วหรือไม่ เพื่อกำหนดวิธีการรักษา โดยการรักษามีดังนี้

1.การรักษาเพื่อเพิ่มการมองเห็น

ในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรง

●  ​การใส่แว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ ในกรณีกระจกตายังมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก แพทย์จะให้ผู้ป่วยสวมแว่นตา ใส่คอนแทคเลนส์แบบนิ่ม(Soft contact lens) หรือแบบพิเศษต่างๆ เช่น คอนแทคเลนส์แบบแข็ง(RGP), คอนแทกเลนส์ไฮบริด(Hybrid contact lens), Scleral contact lens, Piggyback contact lens เพื่อเพิ่มการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น

ในกรณีที่อาการของโรคมีความรุนแรง

●  ​การผ่าตัดใส่วงแหวนขึงกระจกตา (Intracorneal ring segment implantation) ในกรณีที่กระจกตาโก่งมากจนไม่สามารถใส่คอนแทกเลนส์ได้หรือสายตาเอียงมากจนเกินค่าของคอนแทกเลนส์ที่มี จะต้องทำการรักษาโดยการใส่วงแหวนขึงที่กระจกตาเพื่อดันให้กระจกตาแบนลง มีระดับความโค้งใกล้เคียงในระดับปกติ และปรับสายตาให้เอียงน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษหรือใส่แว่นสายตาได้ตามปกติ ซึ่งในปัจจุบัน สามารถใช้เฟมโตเลเซอร์ (Femtosecond laser-assisted) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ทำให้สามารถได้แม่นยำและง่ายขึ้น

●      การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา หากว่ากระจกตาโก่งมากหรือบางมากจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการใส่วงแหวนหรือใส่คอนแทกเลนส์ได้ หรือมีแผลเป็นที่กระจกตาที่บดบังการมองเห็น ผู้ป่วยต้องรักษาโดยการเปลี่ยนกระจกตาใหม่ให้กับผู้ป่วยเพื่อทดแทนกระจกตาเก่าที่เสียหายรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตานั้นเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่มีความซับซ้อน ต้องดำเนินการโดยจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระจกตา และต้องรอคอยคิวกระจกตาบริจาคจากผู้บริจาคดวงตาซึ่งอาจนานถึง 4-5 ปี

2. การชะลอและป้องกันไม่ให้กรจกตาโก่งมากขึ้น

●      การฉายแสงอัลตราไวโอเลตร่วมกับวิตามินบี12 (Corneal Cross Linking) เป็นวิธีการรักษาโดยใช้วิตามินบี12 ร่วมกับการฉายแสงยูวีในปริมาณที่เหมาะสมที่กระจกตาเพื่อเพิ่มทำให้กระจกตามีความแข็งแรงขึ้น สำหรับวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่มีข้อดีตรงที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัด แต่การรักษามีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีกระจกตาหนาน้อยกว่า 400 ไมครอน ผู้ที่มีปัญหากระจกตาติดเชื้อ ผู้ที่มีแผลเป็นบริเวณกระจกตา หรือเพิ่งหายจากการเป็นแผลที่กระจกตา

●      การผ่าตัดใส่วงแหวนขึงกระจกตา (Intracorneal ring segment implantation) การใส่วงแหวนขึงที่กระจกตาเพื่อดันให้กระจกตาแบนลง มีระดับความโค้งใกล้เคียงในระดับปกติ และปรับสายตาให้เอียงน้อยลง นอกจากทำให้ผู้ป่วยสามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษหรือใส่แว่นสายตาได้ตามปกติตามข้างต้นแล้ว ยังช่วยชะลอการดำเนินความรุนแรงโรคได้อีกด้วย

●      การรักษาโรคทางตาที่เป็นต้นเหตุ

 เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ควรรักษาโรคทางตาให้สงบร่วมด้วย เพื่อลดการขยี้ตาแรงจากการคันเคืองตา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระจกตาโก่งมากขึ้น

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับโรคกระจกตาโก่งหรือ Keratoconus ที่นำมาฝาก ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากไม่มีปัจจัยเรื่องพันธุกรรม โรคที่มีแต่กำเนิด หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท สามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วยหลีกเลี้ยงการขยี้ตารุนแรง หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา คุณภาพการมองเห็น และตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็ลดความเสี่ยงห่างไกลจากโรคกระจกตาโก่งไก้

 ชวนสังเกตอาการเริ่มต้นต้อกระจก เมื่อไหร่ที่ควรรักษา
 เลนส์มัว ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก
 กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) กี่วันหาย ใช้ยาอะไร
 ประโยชน์ของน้ำตาเทียม ทำไมผู้สูงอายุควรใช้
 ในบางวันตื่นนอนแล้วตามี 3 ชั้น และบางวันมีแค่ 2 ชั้น
 เช็กให้ชัวร์อาการแบบนี้เป็นสัญญาณ “ต้อกระจก” หรือไม่
 ตรวจวัดสายตากับนักทัศนมาตรดีจริงไหม
 จะรู้ได้อย่างไรว่าเบาหวานขึ้นตา
 ความแตกต่างของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและหนังตาตก
 อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร

Copyright © 2024 All Rights Reserved.