ทำไมเด็กถึงตาเข หรือตาส่อนมากกว่าผู้ใหญ่
อาการตาเขหรือตาส่อน (Strabismus) เกิดขึ้นกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นช่วงอายุที่ดวงตายังทำงานไม่ประสานกัน หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ดีที่สุด
หากจะกล่าวถึง ตาเข หรือ ตาเหล่ (Strabismus) เป็นโรคที่พบได้ทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากดวงตาสองข้างทำงานไม่ประสานกันดี ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงลักษณะภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาการมองเห็นเป็นภาพซ้อนด้วย เรามาติดตามสาเหตุและวิธีการรักษากัน
ตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) เกิดจากสาเหตุใด
“ตาเหล่ ตาเข” เป็นโรคทางตาที่พบได้บ่อยในเด็ก พบได้ประมาณ 3-5% เลยทีเดียวโดยจะแสดงลักษณะความผิดปกติของดวงตาที่ไม่สามารถขยับมองเพื่อให้โฟกัสวัตถุในตำแหน่งเดียวกันได้
อาการตาเหล่ ตาเข (Strabismus) เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ความผิดปกติทางสมองในส่วนของการควบคุมกล้ามเนื้อ ดาวน์ซินโดรม ,กรรมพันธุ์ ,น้ำคั่งในกะโหลกศีรษะ ,เนื้องอกในสมอง ,ต้อกระจก ,มะเร็งจอตา การคลอดก่อนกำหนด แต่อย่างไรก็ตามตาเข ตาเหล่ในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้เองโดยที่สาเหตุไม่แน่ชัด ดังนั้นจากที่กล่าวมาข้างต้นอาการตาเหล่ ตาเข (Strabismus) ไม่เพียงรบกวนการมองเห็นเท่านั้น ยังเป็นสัญญาณบอกถึงโรคร้ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิตด้วย
การที่ผู้ป่วยมีอาการดวงตาสองข้างไม่ขนานกันและทำงานไม่สอดประสานกันเป็นแนวตรงตามธรรมชาติ ทำให้เห็นภาพซ้อนจนต้องใช้ตาสลับกันมองทีละข้าง บ้างทีต้องหรี่ตามอง เอียงคอหรือหันข้าง เพราะถ้าใช้ตาสองข้างพร้อมกันจะเห็นเป็นภาพซ้อน จึงส่งผลทำให้ผู้ป่วยมองไม่เห็นความลึกของวัตถุ ทำให้มองภาพเป็นสามมิติไม่ได้ หรือ ตาข้างที่เป็นตาเหล่ ตาเข (Strabismus) มองเห็นภาพไม่ชัดจนทำให้สมองเกิดการเพิกเฉยต่อภาพที่เกิด ทำให้ตาข้างนั้นไม่ถูกใช้งานอาการที่กล่าวมาคือภาวะตาขี้เกียจ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาตาข้างนั้นก็จะบอดไปในที่สุด
อาการตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) มีกี่ชนิด
ตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus)แบ่งเป็น 4 ชนิด ดังนี้
1.ตาเขชนิดหลอกหรือตาเหล่เทียม (Pseudo strabismus) คือ ลักษณะของตาที่ดูคล้ายตาเขมักพบในเด็กทารก เนื่องจากสันจมูกยังแบนราบกับผิวหนัง และบริเวณหัวตากว้าง แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้นสันจมูกมีดั้งสูงขึ้นแล้ว อาการนี้จะหายไปได้เอง
2.ตาเขชนิดซ่อนเร้นหรือตาส่อน (Latent strabismus) คือ มีอาการตาเขเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย ใช้สายตามาก ๆ ทำให้ปวดตา มึนศีรษะ หากได้ฝึกกล้ามเนื้อตาให้แข็งแรงจะช่วยแก้ไขได้
3.ตาเขชนิดเห็นได้ชัด (Manifest strabismus) คือ อาการตาเขที่สามารถเห็นได้ชัดเจนและแบ่งออกได้หลายลักษณะ เช่น ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia), ตาเขออกด้านนอก (Exotropia), ตาเขขึ้นด้านบน (Hypertropia) หรือตาเขลงด้านล่าง (Hypotropia)
4.ตาเขชนิดเป็นอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตา หรือจากโรคทางร่างกายอย่างอื่นมักพบในผู้ใหญ่เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน, กล้ามเนื้อตาอักเสบ, เนื้องอกในสมอง, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ภาวะสมองขาดเลือด, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, มีพยาธิฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อ หรืออุบัติเหตุที่ทำให้ประสาทบังคับการกลอกลูกตาเป็นอัมพาต เป็นต้น
ตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ต้องรักษา หายเองไม่ได้
ตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) หากเกิดกับเด็กเล็กถึงวัยเข้าเรียนโดนเพื่อนล้อ ทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจไม่ยอมไปโรงเรียน หากเกิดในวัยผู้ใหญ่ ไม่เพียงมีความผิดปกติในการมองเห็นเท่านั้นยังส่งผลต่อบุคลิกภาพ ขาดความมั่นใจ ทำให้เป็นปมด้อย
การรักษาตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) มีอยู่หลายวิธี เช่น การผ่าตัดเพื่อแก้ไขตาเข การฉีดยาโบท็อกซ์ และหรือการใส่แว่น เป็นต้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ดังนั้นหากเกิดอาการตาเขขึ้นมา ผู้ใหญ่สังเกตเห็นแล้วควรรีบพาไปรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจใช้ตาข้างนั้นน้อยลง ส่งผลต่อบุคลิกภาพเป็นอันดับแรก อาจสูญเสียการมองเห็นจนถึงขั้นตาบอดในอนาคต
ตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ทำไมพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
อาการตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเกิดจากกรรมพันธุ์ พบได้ตั้งแต่แรกเกิด กรณีที่ทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน ตาสองข้างเหล่เข้าเหล่ออกบ้าง สามารถพบได้เป็นปกติ เพราะเป็นช่วงอายุที่ดวงตายังทำงานไม่ประสานกัน หากอายุมากกว่า 3 เดือนไปแล้วเด็กยังแสดงอาการตาเขเช่นเดิม ควรพามาพบแพทย์เพราะอาจจะมีภาวะตาเขจริงและได้ทราบแนวทางการรักษา
แม้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีอาจตรวจยากเพราะเด็กเล็กอยู่ไม่นิ่ง และไม่ค่อยให้ความร่วมมือ แต่ไม่ควรรอจนเด็กอายุเกิน 3 ปีเพราะจะล่าช้าเกินไป ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควร
ซึ่งวิธีการตรวจตาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสายตาจะใช้ไฟฉายขนาดเล็กส่องตาเด็ก เพื่อตรวจสอบแสงสะท้อนบริเวณกึ่งกลางตาดำหรือกระจกตาทั้งสองข้างหากพบแสงสะท้อนในตาข้างเดียวแสดงว่ามีอาการตาเขข้างหนึ่ง
กล่าวโดยสรุปอาการตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus)เกิดขึ้นกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดและเป็นช่วงอายุที่ดวงตายังทำงานไม่ประสานกัน
ถ้าไม่รักษา อาการตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ตาจะพิการได้ไหม?
หากสงสัยว่าเด็กมีอาการตาเขควรพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็กสายตาก่อนวัยเข้าเรียน เพื่อให้แพทย์ช่วยรักษาป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลาม การรักษาให้หายก่อนเข้าเรียนจะดีกว่ามากเพราะหากตรวจพบช้าเด็กจะมีปัญหาด้านการมองเห็น และความมั่นใจตัวเอง มีโอกาสทำให้เป็นผู้พิการในอนาคตได้
การรักษาตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) 2 วิธี
1.ผ่าตัดขยับกล้ามเนื้อตา
2.ไม่ผ่าตัด เช่น ใส่แว่น ฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา ฉีดโบท็อกช์
ทั้งนี้ในแง่เรื่องการรักษาด้วยวิธีใดขึ้นกับสาเหตุของโรค ความรุนแรงของมุมตาเข ตาเหล่ ดังนั้น ก่อนการรักษาควรพบแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุหรือความผิดปกติ เช่น หากสาเหตุของภาวะตาเหล่เกิดจากโรคมะเร็งจอตา ต้องรักษามะเร็งก่อนเพื่อให้ป้องกันการเกิดโรคตาเหล่ ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีสายตาปกติในที่สุด
โรคตาส่อน ตาเข ตาเหล่ (Strabismus)จะหายได้ไม่เพียงเพราะการรักษาด้วยตัวเองเท่านั้น คนในครอบครัวและตัวแพทย์เองก็มีบทบาทสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยร่วมมือ ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และหายดีในที่สุด
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.