Lasik ใบมีด และ FemtoLASIK ต่างกันอย่างไร
การรักษาค่าสายตาด้วยเทคนิคเลสิก (Lasik) ใบมีดจะแตกต่างจากเทคนิคเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) ตรงใช้ใบมีดในการแยกชั้นตา ความหนากระจกตา ระยะเวลาในการรักษา การพักฟื้นหลังทำ และราคาถูกกว่า
อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเลสิก (Lasik) เพื่อปรับค่าสายตาที่สั้น ยาว หรือเอียงมีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งปัจจุบันหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมคือ Femtosecond Laser Lasik หรือเรียกสั้นๆ ว่า Femto Lasik เป็นการผ่าตัดโดยใช้แสงเลเซอร์แยกชั้นกระจกตาและปรับแต่งความโค้งกระจกตาให้มีความโค้ง ความลึก หรือความหนาได้ตามต้องการ แต่ทั้งนี้ยังมีการผ่าตัดปรับค่าสายตาอีกวิธีที่เรียกว่า Lasik ใบมีด เป็นวิธีการรักษาค่าสายตาแบบดั้งเดิม ส่วนทั้งสองวิธีจะแตกต่างกันในเรื่องไหนบ้างนั้น เรามีคำตอบมาฝากคนที่สนใจ
Lasik ใบมีดหรือ Blade Lasik คืออะไร
ก่อนไปดูว่าการรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีดและการรักษาด้วย Femto Lasik ต่างกันอย่างไร มาทำความรู้จักกับการรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีดหรือ Blade Lasik ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อปรับค่าสายตาให้กลับมาเป็นปกติที่มีการใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 ในขั้นตอนการรักษาจักษุแพทย์จะดำเนินการแยกชั้นกระจกตาด้วยการใช้ใบมีด ซึ่งจะทำให้ได้ฝากระจกตาที่ความหนาประมาณ 90 – 120 ไมครอน จากนั้นใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Lase) ปรับแต่งความโค้งที่กระจกตาเพื่อให้ค่าสายตากลับมาเป็นปกติ แล้วจึงนำฝากระจกตาปิดกลับเข้าไปตามเดิม โดยที่ผู้ผ่าตัดไม่ต้องใส่คอนแทคเลนส์ (Contact Lens) ปิดทับ
ข้อดีของ Lasik ใบมีด
ถึงการรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีดหรือ Blade Lasik จะเป็นวิธีการ Lasik แบบดั้งเดิม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นตัวเลือกที่หลายคนสนใจ เนื่องด้วยมีข้อดีดังต่อไปนี้
- ราคาถูกกว่าการรักษาด้วยเทคนิคเฟมโตเลสิก (Femto Lasik)และรีเล็กซ์ สไมล์ (ReLEx SMILE)
- ใช้เวลาในการดำเนินการผ่าตัดสั้นประมาณ 15–20 นาที ทำให้เกิดการระคายเคืองในระหว่างการผ่าตัดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเทคนิค PRK หรือ Photorefractive Keratectomy ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดรักษาค่าสายตาแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกัน
- เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดน้อย อีกทั้งในการผ่าตัดมีการเก็บส่วนของเนื้อเยื่อบุผิวเอาไว้จึงไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง ใช้เวลาพักฟื้นไม่นานสามารถกลับมาใช้สายตาได้ตามปกติ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย
ข้อจำกัดของ Lasik ใบมีด
เช่นเดียวกับการ ทำ Lasik ด้วยเทคนิคอื่นๆ การรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีดเองมีข้อจำกัดเหมือนกัน โดยข้อจำกัดหลักๆ มีดังต่อไปนี้
- การรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีด มักทำให้ความหนาของฝากระจกตาไม่สม่ำเสมอ จึงไม่เหมาะสำหรับคนที่มีภาวะกระจกตาบาง
- เป็นเทคนิคที่ไม่เหมาะกับคนมีภาวะความโค้งกระจกตาผิดปกติ รวมถึงมีลักษณะดวงตาเล็กหรือบีบตาสู้เครื่องมือ เพราะอาจทำให้การเปิดฝากระจกตาไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อการรักษาได้
- เป็นเทคนิคที่ไม่เหมาะกับคนมีภาวะตาแห้งเรื้อรัง เนื่องจากหลังทำการรักษามีโอกาสเกิดภาวะตาแห้งมากกว่าการทำเลสิก (Lasik)เทคนิคอื่น ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลง แต่สำหรับคนที่ไม่มีภาวะตาแห้งหากมีอาการตาแห้งสามารถใช้น้ำตาเทียมบรรเทาอาการได้
- สามารถรักษาค่าสายตาสั้นได้ไม่เกิน -1,000 สายตายาวไม่เกิน +500 และสายตาเอียงไม่เกิน -600 หากเกินกว่าข้อจำกัดต้องเปลี่ยนไปใช้การทำเลสิก (Lasik)วิธีอื่น
- หลังการรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีดจะส่งผลให้เนื้อเยื่อตามีความแข็งแรงลดลงจึงอาจส่งผลกระทบในอนาคตได้
- หากดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงอาจเกิดปัญหาฝากระจกตาเคลื่อนได้ในอนาคต
LASIK ใบมีดเหมาะกับใคร
เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับการรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีด แต่ปัจจุบันยังคงเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยม เนื่องจากรักษาได้ทั้งคนที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง นอกจากนั้นยังตอบโจทย์ในเรื่องระยะเวลาพักฟื้น เนื่องด้วยผู้เข้ารับการรักษากลับมาเห็นภาพชัดไว ประมาณ 2–3 วัน สามารถกลับไปมองเห็นได้ตามปกติ แต่โดยปกติแล้วผู้ทำเลสิก (Lasik) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 55 ปี
- เป็นผู้ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วพบว่าค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงต้องไม่ควรเกิน ±50 เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่านั้นจะทำให้ค่าสายตาเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หลังทำเลสิก
- เป็นผู้ที่ได้รับการประเมินจากจักษุแพทย์ว่าดวงตาและกระจกตามีความแข็งแรง ไม่เป็นโรคตาหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับกระจกตา อย่างภาวะตาแห้งรุนแรง ตาแดง ภาวะขี้ตาเยอะ ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม กระจกตาบาง หรือกระจกตาโค้งหรือแบนเกินกว่ากำหนด อีกทั้งต้องไม่เป็นโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูดวงตาหลังการทำ lasikเช่น โรคเบาหวาน โรค SLE หรือโรคอาการทางจิตเวชที่อยู่ในระหว่างการรักษา
- เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ความแตกต่างระหว่าง Lasik ใบมีดกับ FemtoLASIK
คนที่สงสัยว่าการรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีดกับ Femto LASIK ต่างกันอย่างไร เพราะนอกจากจะจัดอยู่กลุ่มการทำเลสิก (Lasik) และรักษาสายตาสั้นยาวเอียงได้เหมือนกันแล้ว หากพิจารณาในขั้นตอนการรักษายังใช้แสงเลเซอร์ปรับความโค้งกระจกตาและมีขนาดแผลบนกระจกตาเท่ากันด้วย แต่ทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันหลายจุดดังนี้
ขั้นตอนการดำเนินการรักษา
การรักษาด้วยเทคนิคเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) ถือเป็นนวัตกรรมการเลสิก (Lasik) รูปแบบใหม่ที่ไม่มีการใช้มีด แต่จะใช้แสงเลเซอร์จากเครื่องเฟมโตเซเคิน เลเซอร์ (Femtosecond Laser) ที่มีความถี่สูงและให้พลังงานต่ำในการแยกชั้นกระจกตา ทำให้ได้ขอบกระจกตาที่มีความเรียบเนียนมากกว่า ขณะที่การรักษาด้วยเทคนิคเลสิกใบมีด จะใช้ใบมีดในการแยกชั้นตา ซึ่งอาจทำให้กระจกตาไม่สม่ำเสมอ
ความหนาของกระจกตา
การรักษาด้วยเทคนิคเลสิก (Lasik) ใบมีดจะได้ฝากระจกตาที่ความหนา130-150 ไมครอน ส่วนการรักษาด้วยเทคนิคเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) จะได้ความหนา 90-120 ไมครอน ซึ่งเป็นความหนาเหมาะกับคนที่มีภาวะกระจกตาบางและต้องการสงวนเนื้อกระจกตา
เวลาในการผ่าตัด
ปกติแล้วการรักษาด้วยเทคนิคเลสิก (Lasik) ใบมีดจะใช้เวลาสั้นกว่าเทคนิคเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) โดยเทคนิคเลสิกใบมีดจะใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที ส่วนเทคนิคเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 30 นาที
ระยะเวลาพักฟื้น
แม้ว่าทั้งสองเทคนิคจะใช้เวลาพักฟื้นไม่นานเหมือนกัน แต่หากเทียบระหว่าง 2 เทคนิคจะเห็นได้ว่าการรักษาด้วยเทคนิคเลสิก (Lasik) ใบมีดใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่าเล็กน้อย โดยใช้เวลา 2 – 3 วัน สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การรักษาด้วยเทคนิคเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) อาจนานถึง 1 สัปดาห์
Lasik ใบมีดกับ Femto Lasik เลือกแบบไหนดีกว่ากัน
สำหรับคนที่ถามว่าระหว่าง Lasik ใบมีดกับ Femto Lasik ควรเลือกแบบไหนดี ควรเลือกจากราคาดีไหม ซึ่งแน่นอนว่าหากเลือกจากราคาคำตอบของคนส่วนใหญ่นั้นคงหนีไม่พ้นการรักษาด้วยเทคนิค Lasik ใบมีด แต่จริงๆ แล้วควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจประเมินความเหมาะสม เพราะเลสิกใบมีดมีข้อจำกัดตรงไม่สามารถใช้รักษาในผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว หรือเอียงมาก กระจกตาบาง กระจกตาโค้งหรือแบนมากกว่าปกติ สรีระตาเล็ก หากมีลักษณะนี้ควรเลือกใช้การรักษาด้วยเทคนิค เฟมโตเลสิก (Femto Lasik) แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดแนะนำให้พิจารณาสถานพยาบาลด้วย โดยพิจารณาดังนี้
- ควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงเรื่องภาวะแทรกซ้อน
- ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีการดำเนินการโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาค่าสายตา และทีมแพทย์มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยที่รับการรักษาดวงตาเท่านั้น รวมทั้งมีเครื่องมือที่ทันสมัยเหมาะสมในการดูแลสุขภาพตา
- ควรเลือกสถานพยาบาลที่เป็นศูนย์รักษาโรคตา เพราะในบางกรณีต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาวะตาแห้งที่ต้องมีบรรเทาอาการด้วยยาบางชนิดการประเมินคุณภาพการมองเห็น จะช่วยทำให้สะดวกมากขึ้น
- ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีบริการรักษาค่าสายตาหลายเทคนิค เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้เข้ารับการรักษามากขึ้น-ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่น้อยหรือสูงจนเกินไป
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการความแตกต่างระหว่างเลสิก (Lasik) ใบมีดกับเฟมโตเลสิก (Femto Lasik) ซึ่งจะเห็นว่าเลสิกทั้งสองวิธีนั้นแม้เป็นการแยกชั้นตาและปรับกระจกตาด้วยเลเซอร์เหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างกันทั้งการดำเนินการ ระยะเวลาการรักษา การพักฟื้น โอกาสเกิดผลข้างเคียง และราคา ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวเอง
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.