เลนส์มัว ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก
ผ่าตัดต้อกระจกช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น แต่อาการเลนส์มัวก็อาจเกิดขึ้นได้พร้อมกับผลข้างเคียงอื่นที่ควรเฝ้าระวัง เลนส์มัวควรรีบรักษาโดยการยิงเลเซอร์
ต้อกระจกหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยฟื้นคืนชีวิตให้กับดวงตา การผ่าตัดต้อกระจกเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยได้ เพราะการรักษาโรคนี้จำเป็นจะต้องสลายเลนส์ตาที่เสื่อมแล้วใส่เลนส์ตาเทียมแทน หลังจากการผ่าตัดจะเห็นภาพได้ชัดขึ้น แต่ก็อาจมาพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ในบางกรณี เช่น เลนส์มัว กระจกตาขุ่น
รู้ก่อนรักษา ผ่าตาต้อกระจกดีไหม
ผู้ที่เป็นต้อกระจกหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับการผ่าต้อกระจกว่าควรผ่าดีหรือไม่ เพราะเป็นการผ่าตัดที่ดวงตาจะเสี่ยงอันตรายไหม การผ่าตัดเพื่อสลายต้อกระจก เป็นวิธีที่ดีสุด มีความปลอดภัย เทคนิคที่ใช้หลัก ๆ มี 2 แบบ แต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยจากอาการของคนไข้ว่าควรใช้วิธีใดที่เหมาะสมและได้ผลดีที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละราย แต่ในบางกรณีแพทย์ไม่ทำการผ่าตัดให้ เพราะวินิจฉัยแล้วว่าอาจจะมีอันตรายจากผลข้างเคียง เช่น เนื้อเยื่อแก้วตาอ่อนแอ เสื่อมสภาพ หรือเคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงมาก่อน จอประสาทตาผิดปกติไม่ควรผ่าตัด ดังนั้นหากต้องการรู้ว่าควรผ่าตาต้อกระจก หรือไม่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด
การผ่าตาต้อกระจกช่วยให้เห็นชัดขึ้นหรือไม่
ในการผ่าตัดเลนส์ตาเดิมที่เป็นต้อจะถูกสลายออกไป คนไข้จะไม่มีต้อกระจกเหลืออยู่ หลังจากนั้นเมื่อแพทย์ได้ใส่เลนส์ใหม่ให้คนไข้แล้ว การมองเห็นจะกลับมาชัดเหมือนกับคนสายตาปกติ แต่มีบางกรณีที่เกิดกับคนไข้บางราย ซึ่งพบว่าหลังจากสลายต้อแล้วตายังมัวเหมือนเดิมหรือมัวกว่าเดิม เป็นเพราะว่าเซลล์ผิวบางส่วนของเลนส์เดิมยังคงมีอยู่และเกิดการเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้น กรณีนี้ต้องกลับมาแก้ไขใหม่โดยใช้เลเซอร์สลายอีกครั้งจะช่วยให้กลับมาเห็นภาพชัดเจนขึ้น
วิธีการผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธีหลัก คือ
1. การผ่าต้อกระจก ด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens) เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ยาสลบ ไม่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลหลายวัน วิธีนี้เป็นการผ่าเปิดถุงหุ้มเลนส์ที่ขอบตาดำออกเป็นรูกลมเพื่อที่จะสอดเครื่องสลายต้อเข้าไปที่ก้อนต้อและทำการสลายออกจนหมด จากนั้นนำเลนส์เทียมใส่เข้าไปในถุงหุ้มเลนส์แทนอันเดิม แผลที่ผ่าเป็นรูไว้นั้นมีขนาดเล็กมาก สามารถสมานตัวเองได้โดยไม่ต้องเย็บแผล ใช้เวลาไม่นานในการพักฟื้น วันรุ่งขึ้นก็มองเห็นชัดแล้ว แต่ต้องระวังน้ำเข้าตา ดูแลทำความสะอาดตาให้ดีประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ ร่วมกับการรับประทานยาและหยอดตาตามแพทย์สั่ง
2. การ ผ่าตัดต้อกระจก แบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) เป็นวิธีที่ใช้สำหรับต้อกระจกมีอาการรุนแรง ต้อกระจกระยะสุกมาก ต้องรับการผ่าตัดแบบเปิดแผลตามรอยต่อระหว่างกระจกตาดำกับผนังตาขาวครึ่งบน ขนาดความยาวประมาณ 10 มม. แล้วลอกตัวเลนส์ตาที่เป็นต้อออก เหลือไว้แค่ส่วนของถุงหุ้มเลนส์ เพื่อที่จะใส่เลนส์เทียมเข้าไปในถุงก่อนจะเย็บปิดแผลไว้
ชนิดของเลนส์ที่ใช้ในการผ่าต้อกระจก
เลนส์ที่ใช้สำหรับใส่แทนเลนส์ตาที่ถูกสลายต้อกระจก ออกเป็นเลนส์พับได้เพื่อให้สามารถพับใส่ผ่านช่องผ่าขนาดเล็กเข้าไปได้ เลนส์มีให้เลือกหลายชนิด ช่วยเรื่องค่าสายตาได้ด้วย หลังจากใส่เลนส์เทียมแล้ว บางคนอาจจะไม่ต้องใส่แว่นเลย บางคนก็ต้องใส่เพื่อช่วยโฟกัสภาพ
ก่อนการผ่าตาต้อกระจก จักษุแพทย์จะต้องตรวจค่าสายตา วัดความโค้งของกระจกตา ความยาวของลูกตา พร้อมกับขยายม่านตา เพื่อคำนวณค่าสายตาอย่างละเอียดว่าสายตาสั้นหรือยาวแค่ไหน เอียงด้วยหรือไม่ เพื่อเลือกใช้เลนส์อย่างเหมาะสม
สำหรับผู้ที่ไม่มีสายตาเอียงชนิดของเลนส์เทียมที่เหมาะสม คือ
· เลนส์ชัดระยะเดียว (Monofocal) ใส่แล้วมองด้วยตาเปล่าชัดในระยะไกล ถ้ามองใกล้ต้องใส่แว่น
· เลนส์ชัดหลายระยะ (Multifocal) ใส่แล้วสามารถมองด้วยตาเปล่าเห็นชัดได้หลายระยะ
· เลนส์ชัด 2 ระยะ (Bifocal และ EDOF) มีทั้งแบบชัดไกลและใกล้ กับแบบชัดไกลและระยะกลาง
· เลนส์ชัด 3 ระยะ (Trifocal) เป็นเลนส์ที่ช่วยให้มองเห็นได้อย่างต่อเนื่องทั้งระยะไกล กลาง และใกล้
หากผู้ป่วยมีสายตาเอียงร่วมด้วยมีเลนส์ทางเลือกสำหรับแก้สายตาเอียงด้วย (Toric Intraocular Lens) คือ
· ชนิดระยะเดียว (Monofocal Toric)
· ชนิดหลายระยะ (Multifocal Toric) เลือกได้ตามต้องการ
· เลนส์ชัด 2 ระยะ (Bifocal Toric และ EDOF Toric)
· เลนส์ชัด 3 ระยะ (Trifocal Toric)
เลนส์มัว ทำไมผ่าตัดแล้วมองเห็นไม่ชัด
การ ผ่าตัดต้อกระจก อาจมีผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น
อาการตามัว ภาพไม่ชัด ซึ่งมีสาเหตุจากการที่จุดรับภาพบวมหลังผ่าตัด นอกจากตามัวแล้วยังอาจมีอาการมองเห็นภาพบิดเบี้ยวได้ แต่ไม่ต้องตกใจคนไข้ที่มีอาการนี้สามารถรักษาให้หายได้ การมองเห็นจะกลับมาเป็นปกติ
อาการตามัวหลังผ่าตัดอาจเกิดได้จากอีกหนึ่งสาเหตุคือ ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น(posterior capsule opacification) อาการนี้มักจะเกิดกับคนไข้ที่เป็นเบาหวาน ซึ่งหลังผ่าตัดต้อกระจกเปลี่ยนเลนส์แล้วมีโอกาสที่จะเกิดภาวะถุงเลนส์ขุ่นได้มากกว่าคนปกติทั่วไป ในคนไข้ปกติก็เป็นได้แต่อาการนี้จะเกิดช้า จะเกิดหลังจากผ่าตัดไปแล้วเป็นปี ๆ คนไข้บางรายจะรู้สึกว่าตาค่อย ๆ มัวลง การแก้ไขทำได้ด้วยวิธีการยิงแสงเลเซอร์ไปที่ถุงเลนส์ตาที่ขุ่น ขจัดความขุ่นของเลนส์ให้กลับมาใสและมองเห็นภาพได้ชัดเหมือนเดิม
ปัญหาเลนส์มัวต้องแก้ไขเพราะหากปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการมองเห็นไม่ชัด นอกจากนี้หากในอนาคตคนไข้เกิดมีอาการผิดปกติของจอประสาทตาจะรักษายากเพราะถุงเลนส์ที่มัวทำให้แพทย์มองไม่เห็นต้นตอของอาการในจอประสาทตาได้
อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการผ่าต้อ
ในเรื่องของผลข้างเคียงจาก การลอกต้อกระจก อาจมีได้บ้าง เช่น
· มีเลือดออกในลูกตาจากการฉีดยาชา ปวดตา
· กระจกตาขุ่น อาการตาไวต่อแสง
· ความดันลูกตาสูงขึ้น เกิดได้จากการไอหรือจามอย่างแรง การก้มหน้าต่ำกว่าระดับเอว ยกของหนัก
· แผลเย็บดึงรั้ง เส้นเลือดม่านตาฉีกขาด มีโอกาสเกิดจากการปฏิบัติตนหลังผ่าตัดที่ไม่ถูกต้องของคนไข้
· ติดเชื้อ
· จอตาลอก หลุดออกมา เป็นอาการในระยะยาวที่อาจเกิดได้ แต่ใช้เวลาเป็นปี
การสังเกตอาการหลังผ่าต้อความผิดปกติที่ควรพบแพทย์
นอกจากเลนส์มัวแล้วการ ผ่าตัดต้อกระจก มีความเสี่ยงบางอย่างที่เราไม่อาจรู้ได้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนของทีมแพทย์จะเฝ้าระวังอาการของคนไข้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการให้ยาหยอดตาเพื่อป้องกันแผลผ่าตัดติดเชื้อ ส่วนตัวคนไข้เองก็ต้องคอยสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ และใช้ความระมัดระวังในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทุกอย่าง ไม่ให้น้ำไหลเข้าตา การเช็ดหน้าไม่ควรให้กระทบดวงตา
หลังจากผ่าตัดแล้วจักษุแพทย์จะให้คำแนะนำว่าถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นกับดวงตาในช่วงสัปดาห์แรก เช่น ตามัว มองเห็นไม่ชัด ปวดตามากผิดปกติ เปลือกตาบวม ตาแดง ให้ไปพบจักษุแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดหมายติดตามอาการ เพื่อจะได้รักษาแก้ไขได้ทันท่วงที
พร้อมกันนี้มีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องหลังจากผ่าตัดมาแนะนำสำหรับผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด
· ให้สวมแว่นตา จะเป็นแว่นเดิมที่ใช้อยู่เป็นประจำก่อนหน้านี้ก็ได้ เพื่อป้องกันตัวเราเองเผลอไปขยี้ตาซึ่งจะทำให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน
· ก่อนนอนตอนกลางคืนควรสวมที่ครอบตาหลังจากการผ่าสลายต้อกระจกเสมอ เพราะเวลานอนอาจเผลอเกา จับ หรือสัมผัสตาโดยไม่รู้ตัว
· ระวังน้ำเข้าตา เพราะในน้ำอาจมีเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หลังผ่าตัดใหม่ ๆ จึงไม่ควรล้างหน้าและสระผมเอง เพราะน้ำอาจเข้าตาได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าและสระผมที่ร้านไปก่อน
· ทำความสะอาดดวงตาอยู่เสมอ ตามวิธีที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ดวงตากลับมาใช้งานได้โดยเร็ว
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.