สังเกตอาการวุ้นในตาเสื่อม ทำไมมองเห็นจุดดำและหยากไย่ลอยไปมา
อาการภาวะวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นโรคที่พบส่วนมากเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันมีโอกาสพบได้ในคนวัยหนุ่มสาวสืบเนื่องจากพฤติกรรมการใช้สายตา แต่พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ โดยทั่วไปภาวะนี้มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากการเสื่อมสภาพของวุ้นตาจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกาย หากสายตาเกิดความผิดปกติมีอาการของโรควุ้นตาเสื่อม เริ่มเห็นเงาดำคล้ายหยากไย่ ใยแมงมุม หรือยุงบินไปมา ตามัวข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อาจรู้สึกคล้ายมีแสงฟ้าแลบในตา อาการเหล่านี้จะเกิดจากโรคต่างๆ ของน้ำวุ้นตาและจอประสาทตาที่ไม่จำเป็นต้องรักษา หรือกรณีที่เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนก็ควรรักษาตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้ลุกลามถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ควรนัดพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาโดยเร็ว
โรควุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นอย่างไร
ภาวะวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) มักเกิดจากความเสื่อมตามวัยเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป อาการวุ้นตาเสื่อมเกิดจากน้ำวุ้นตาที่อยู่ภายในโพรงลูกตาเริ่มหดตัวและทึบแสงมากขึ้น จนเกิดตะกอนขนาดเล็กเป็นเงาดำหรือจุดดำในดวงตา บางรายเห็นแสงวาบในตา เกิดขึ้นในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ หากอาการวุ้นตาเสื่อมรุนแรงในลักษณะเห็นเงาดำคล้ายม่านบังตาบดบังการมองเห็นบางส่วน ทำให้เกิดความรำคาญและใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือหรือขับรถ หากเกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบจักษุแพทย์โดยเร่งด่วน เพราะมีหลายสาเหตุที่เกี่ยวข้องและเกิดขึ้นอื่นตามมาที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ในกรณีที่แพทย์ทำการผ่าตัดไปแล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง เช่น เลือดออกในวุ้นตา, ความดันลูกตาสูงหรือต่ำผิดปกติ, เกิดต้อกระจกหลังผ่าตัด, ลูกตาติดเชื้อหลังผ่าตัด การรักษานับว่ามีความเสี่ยงพอสมควร ควรปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดความเสี่ยงหลังการผ่าตัดได้
สาเหตุวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)
ภาวะวุ้นตาเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยเป็นสาเหตุ มีอะไรบ้างสาเหตุหลัก ๆ คือ
-ภาวะความเสื่อมตามวัย เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยปกติแล้วมักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี-คนที่มีภาวะสายตาสั้นมาก มักมีขนาดลูกตาที่ยาวกว่าปกติและวุ้นตาจะมีการแกว่งตัวมากกว่าลูกตาปกติ ทำให้เส้นใยคอลลาเจนเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ในกรณีคนที่ใช้คอมพิวเตอร์นานเกินไป ทำให้ดวงตาตึงเครียดและเสื่อมสภาพเร็วตามไปด้วย-เคยมีอุบัติเหตุที่ดวงตา ได้รับการกระทบกระเทือนจากการเล่นกีฬา ดวงตาถูกกระทบอย่างรุนแรงจากลูกบอล ลูกเทนนิส ชกมวย หรือหกล้ม ตลอดจนได้รับการผ่าตัดที่ลูกตาซึ่งมีการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมแทนเลนส์ตาเดิม อาจมีผลให้วุ้นในตาหลุดลอกและมีภาวะเสี่ยงฉีกขาด หรือหลุดลอก หรือเสื่อมสภาพเร็วกว่าคนทั่วไป ทั้งยังเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังการผ่าตัดด้วย-การอักเสบในวุ้นตาและจอตา (intermediate and posterior uveitis) หรือยูเวียอักเสบ อาจเกิดจากการบาดเจ็บติดเชื้อ หรือโรคที่เกิดการอักเสบ เช่น โรคมะเร็ง หรือปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดและภูมิคุ้มกันของร่างกาย-ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตาเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น เบาหวานและโรคเลือดบางชนิด-ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก เกิดมองเห็นจุดดำคล้ายตะกอนหรือเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปมา ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเสี่ยงเป็นวุ้นตาเสื่อมแล้ว
ทราบได้อย่างไรว่าวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)
อาการที่เข้าข่ายโรควุ้นตาเสื่อมมีอะไรบ้าง สิ่งแรกคือสังเกตเห็นเงาดำเป็นเส้นคล้ายหยากไย่ ใยแมงมุม หรือเป็นจุดคล้ายยุงลอยไปลอยมาเวลากลอกตา เรียกอาการนี้ว่า Eye Floaters บางครั้งก็จะมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือแสงแฟลชกล้องถ่ายรูปในที่มืด อาจเกิดอาการตามัวข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ตะกอนในน้ำวุ้นตาจะชัดขึ้นเมื่อมองออกไปในบริเวณที่มีแสงสว่าง มองท้องฟ้าหรือผนังห้องสีขาว ทำให้ขอบเขตการมองเห็นลดลง อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของจากโรควุ้นตาเสื่อมที่ควรรีบรักษาตั้งแต่แรก เมื่อขอบเขตการมองเห็นลดลง หากละเลยไม่รักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญอยู่เรื่อยๆ และโรคลุกลามส่งผลให้ตาบอดในภายหลัง
รักษาอย่างไร หายได้หรือไม่
วิธีการรักษา วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) ในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีตะกอนในวุ้นตาไม่มากนัก ไม่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง จึงไม่คิดว่าจำเป็นต้องรักษา บ่อยครั้งที่ตะกอนลดลงได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติม สำหรับคนที่โรควุ้นตาเสื่อมบดบังการมองเห็น ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก ผู้ป่วยหลายคนใช้ยาหยอดตาหรือยาอื่น ๆ แต่รักษาแล้วไม่ได้ผลและไม่ทำให้อาการหายไปได้ ในระยะแรก ๆ อาจรู้สึกรำคาญสายตาบ้าง พอนาน ๆ เข้าสมองจะเริ่มรู้สึกคุ้นชินและเลิกโฟกัสตะกอนเงาดำนั้นไปเอง
หากมีจอประสาทตาบางและเกิดการฉีกขาดร่วมด้วย แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดวุ้นตาหรือฉายเลเซอร์ส่วนที่เป็นปัญหานั้นออกไป สำหรับวิธีการรักษาในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่
1.การผ่าตัดระบบวุ้นตา
หลังการผ่าตัดจะใส่สารละลายน้ำเกลือเข้าไปแทนที่เพื่อคงรูปของดวงตาเอาไว้ จากนั้นร่างกายจะสร้างวุ้นตาใหม่ขึ้นมาทดแทนส่วนที่ถูกลอกออกไป ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดอาจเกิดขึ้นได้ เช่น ความเสี่ยงติดเชื้อหลังผ่าตัด เลือดออกในวุ้นตา จอประสาทตาฉีกขาด หรือเกิดต้อกระจก เป็นต้น
2.การใช้เลเซอร์กำจัดตะกอน
เป็นการใช้เลเซอร์ชนิดพิเศษยิงเงาตะกอนให้แตกตัวเล็กลง เกิดผลดีทำให้บางรายมองเห็นดีขึ้น บางรายพบการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่บางรายไม่เกิดผลแต่อย่างใด นอกจากนั้นการรักษาด้วยเลเซอร์มีความเสี่ยงสูง อาจทำให้จอประสาทตาฉีกขาดเกิดความเสียหายได้หากทำการรักษาไม่ถูกต้องเหมาะสม
การรักษาจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อลดโอกาสเกิดโรคจอประสาทตาหลุดลอกซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ ยิ่งต้องระวังเรื่องการกินยาบำรุง วิตามิน หรืออาหารบำรุงสายตาที่ไม่มีข้อมูลน่าเชื่อถือนั้นไม่สามารถป้องกันหรือรักษาภาวะวุ้นตาเสื่อมได้แต่อย่างใด
ปัจจัยเสื่ยงวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)
ถึงแม้ทราบสาเหตุของโรควุ้นตาเสื่อมมีอะไรบ้าง แต่ปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคนแตกต่างกัน ปัจจุบันภาวะวุ้นในตาเสื่อมเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากพฤติกรรมของหนุ่มสาววัยทำงานที่ส่งผลเสียต่อดวงตา แม้ว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นกับคนอายุมากกว่า 40-50 ปี แต่พฤติกรรมการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ วันละหลายชั่วโมงโดยไม่หยุดพักสายตา อาจเพิ่มความเสี่ยงให้คนรุ่นใหม่เกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้ว ยังมีภาวะสายตาสั้นมากทำให้วุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าปกติ บางกรณีก็เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เกิดอุบัติเหตุทางดวงตา หรือมีประวัติเคยผ่าตัดดวงตามาก่อน เมื่อทราบว่าเป็นโรควุ้นตาเสื่อมแล้ว ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็ว เพราะเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้ตาบอดได้
วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) ป้องกันได้ไหม
นับว่าโรควุ้นตาเสื่อมเป็นปัญหาในการมองเห็นอย่างหนึ่งซึ่งมักจะพบเมื่ออายุมากแล้ว บางกรณีไม่มีอันตรายไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่ก็มีบางกรณีที่เป็นต้นเหตุ ทำให้เกิดโรคทางประสาทตาที่ร้ายแรง หากไม่รักษาและปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้แนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดโรคสำหรับคนรุ่นใหม่ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ควรปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมด้วยการพักสายตาทุกชั่วโมง อย่าอ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์ เล่นคอมพิวเตอร์ในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือในที่ที่มีแสงจ้า รวมถึงป้องกันไม่ให้ดวงตาถูกกระทบกระเทือนแรงๆ ช่วยป้องกันภาวะสายตาสั้นและลดปัญหาวุ้นตาเสื่อมได้ ในกรณีผู้สูงอายุควรไปพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือทุก 2 ปี เพื่อตรวจอาการตั้งแต่ระยะแรก แพทย์จะได้วินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นอันตรายต่อการมองเห็น หากปล่อยให้วุ้นในตาลอกออกจากจอตา อาจทำให้จอประสาทตาเกิดการฉีกขาดหรือมีโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาอีก ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หากเงาดำหรือตะกอนในวุ้นตาเริ่มส่งผลต่อการมองเห็นหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุ โดยแพทย์จะตรวจตาด้วยกล้องจุลทรรศน์ หยอดยาขยายม่านตา หรือส่งถ่ายภาพจอประสาทตา เป็นการประเมินจอประสาทตาอย่างละเอียดและแก้ไขปัญหาที่มีแนวโน้มร้ายแรงอย่างทันท่วงที
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.