ใครเสี่ยงเป็นวุ้นในตาเสื่อมบ้าง พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี

 ใครเสี่ยงเป็นวุ้นในตาเสื่อมบ้าง พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี

มองเห็นจุดสีดำคล้ายลูกน้ำ เส้นใยคล้ายหยากไย่เวลามองท้องฟ้าหรือพื้นที่สว่าง อาจเป็นสัญญาณว่ากำลังเผชิญภาวะวุ้นในตาเสื่อม ซึ่งเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้ 

เคยไหม? มองภาพตรงหน้าเพลินๆ แต่เห็นจุดเล็กๆ คล้ายลูกน้ำ หยากไย่ ลอยไปลอยมาอยู่ตรงหน้าโดยเฉพาะเวลาอยู่ที่กลางแจ้ง ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะวุ้นในตาเสื่อมอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วโรคนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการแบบไหน หรือ มีใครที่จะเสี่ยงเป็นภาวะ วุ้นตาเสื่อม บ้าง ทั้งนี้หากมีอาการดังที่กล่าวมา ก็อย่าเพิ่งกังวลมากเกินไป เพราะภาวะวุ้นในตาเสื่อมนั้นสามารถรักษาให้หายได้ และถ้าเป็นแล้วจะมีแนวทางในการดูแลรักษาและป้องกันอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาให้ได้ทำความรู้จักแล้ว ตามมาอ่านกันได้เลย 

วุ้นในตาเสื่อมคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

วุ้นตา (Vitreous) หนึ่งในส่วนประกอบลูกตาอยู่ในตำแหน่งด้านหลังของเนื้อเยื่อเลนส์ตา มีลักษณะเป็นของเหลวหนืด ใสไร้สี ภายในประกอบไปด้วยน้ำกว่า 99% ที่เหลือจะเป็นโปรตีน เส้นใยคอลลาเจน ไฮยาลูอรอนิกแอซิด และสารเกลือแร่ต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยคงรูปร่างของลูกตาให้อยู่ในลักษณะที่ปกติ แต่เมื่อไหร่ที่อายุเพิ่มขึ้น วุ้นตาเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะเสื่อมสภาพ หรือเกิดเป็นภาวะวุ้นในตาเสื่อมได้ในที่สุด 

ภาวะวุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) ภาวะที่น้ำวุ้นในตาเกิดการเสื่อมสภาพและกลายเป็นตะกอนเล็กๆ ลอยอยู่ในโซนรับภาพของจอประสาทตา ทำให้ผู้ที่มีภาวะวุ้นในตาเสื่อมมองเห็นตะกอนเหล่านั้นลอยไปลอยมาเวลากลอกตานั่นเอง อาจมีอาการที่เกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ และเป็นภาวะสุขภาพดวงตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ 

อาการแบบไหนบ่งบอกว่าเป็นวุ้นในตาเสื่อม 

โดยในระยะเริ่มแรกที่วุ้นในตาเริ่มเสื่อมสภาพ ตกตะกอน และจับตัวกันเป็นก้อน ผู้ป่วยจะมองเห็นเงาของตะกอนวุ้นในตาเหล่านี้ลอยไปลอยมาทิศทางเดียวกันกับเวลาเรากลอกตา โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า มองท้องฟ้า หรือมองผนังสีขาว วัตถุขนาดใหญ่สีขาว ก็จะเห็นตะกอนเหล่านี้ที่มีลักษณะคล้ายลูกน้ำ หรือหยากไย่นั้นเคลื่อนที่ไปมา

ในบางครั้งตะกอนเหล่านี้ไปดึงรั้งจอประสาทตาทำให้มีอาการเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าผ่า หรือแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปร่วมด้วย โดยอาการมักจะปรากฏเวลาอยู่ในที่มืด หรือตอนกลางคืน

การดึงรั้งจอประสาทตา อาจทำให้จอประสาทตาฉีกขาด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจลุกลามจนจอประสาทตาหลุดลอก รุนแรงถึงขั้นกระทบต่อการมองเห็นในอนาคต หรือตาบอดในที่สุดได้ 

ใครเสี่ยงเป็นวุ้นในตาเสื่อมบ้าง

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นวุ้นในตาเสื่อมมีดังนี้ 

●ผู้สูงวัย

เมื่ออายุมากขึ้น ไม่เพียงแต่สุขภาพร่างกายจะเสื่อมโทรม สุขภาพดวงตาก็เสื่อมโทรมถดถอยไปเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวุ้นในตาที่มีโอกาสเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ส่งผลให้วุ้นตาเริ่มขุ่น เกิดการตกตะกอน เห็นเป็นหยอกไย่ลอยไปมาได้ได้ในที่สุด 

●ภาวะค่าสายตาผิดปกติ

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น ที่มีลักษณะลูกตายาว หรือมีโครงสร้างดวงตาที่อ่อนแอ เทำให้มีโอกาสเกิดวุ้นในตาเสื่อมเร็วกว่าปกตินั่นเอง 

●ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา

ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ หรืออุบัติเหตุที่รุนแรงกระทบกับดวงตาก็มีโอกาสทำให้วุ้นในตาเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติได้ หรือในบางรายที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรงมากๆ ก็เสี่ยงทำให้จอประสาทตาฉีกขาด หลุดลอก จนสูญเสียการมองเห็นเลยก็มี ฉะนั้นถ้าได้รับอุบัติเหตุกระทบกับดวงตา ควรเข้ารับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงทีจะดีที่สุด 

●ผู้ที่เคยผ่าตัดดวงตามาก่อน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา และเคยผ่าตัดดวงตามาก่อน เช่น ผู้ป่วยโรคต้อกระจก ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ทำให้วุ้นในตาหลุดลอก และส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพได้ง่ายกว่าปกติในอนาคต 

●ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานมีส่วนทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กที่อยู่ภายในดวงตาของเราเกิดอาการแตก เปราะ รั่วซึม มีอาการอุดตันได้ง่ายกว่าผู้ที่สุขภาพแข็งแรงทั่วไป และยิ่งถ้าผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะเบาหวานขึ้นตา ก็มีโอกาสที่จะทำให้เลือดออกในวุ้นตา หรือเกิดการแตก รั่วซึมของเส้นเลือดที่จอประสาทตา และส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อมสภาพได้เร็วมากยิ่งขึ้นได้ 

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นวุ้นในตาเสื่อม

เรียกได้ว่าอาการวุ้นในตาเสื่อมนั้นดูเหมือนจะไม่รุนแรง แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ก็มีโอกาสจะส่งผล กระทบต่อจอประสาทตา และสูญเสียการมองเห็นได้ ฉะนั้นจะดีกว่าไหม? ถ้าเราสามารถป้องกันภาวะวุ้นในตาเสื่อมได้ หรือถ้าเป็นแล้วก็สามารถบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรงกว่าเดิมได้ ดังนี้ 

●หากต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่รุนแรง มีการปะทะกัน เช่น การเล่นฟุตบอล บาสเกตบอล ชกมวย หรือทำงานในพื้นที่เสี่ยงที่จะมีวัตถุกระทบกับดวงตา แนะนำสวมแว่นนิรภัยเพื่อป้องกันดวงตาไม่ให้กระทบกระเทือน●หากเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน แนะนำเข้ารับการตรวจเบาหวาน พร้อมตรวจสุขภาพดวงตาร่วมด้วย เพื่อป้องกันการเกิดเบาหวานขึ้นตา●ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเห็นเส้นใยลอยไปมา

·        หากอายุเกิน 40 ปีและไม่เคยตรวจตามาก่อน ควรตรวจตาเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคตาต่าง ๆ เมื่อแพทย์ตรวจแล้วจะนัดหมายตรวจซ้ำหรือแนะนำให้ตรวจครั้งต่อไป ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ตรวจพบในขณะนั้น

·        หากมีอาการที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคจอประสาทตา 1 ใน 3 ข้อต่อไปนี้ ควรนัดหมายเพื่อตรวจตา

1.     สังเกตได้ว่าตะกอนที่ลอยไปลอยมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

2.     มีแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลชร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่อเห็นแสงแฟลชบ่อย วันละหลายสิบครั้ง

3.     มีภาวะตามัวลง โดยเฉพาะมัวคล้ายมีม่านบังด้านใดด้านหนึ่ง

วิธีรักษาวุ้นน้ำลูกตาเสื่อม

·        หากมีตะกอนในวุ้นตาไม่มากนัก แค่สร้างความรำคาญไม่มีความจำเป็นต้องรักษา เนื่องจากบ่อยครั้งที่ตะกอนจะลดลงได้เองโดยไม่ต้องรักษาเพิ่มเติม

·       หากรู้สึกว่าตะกอนวุ้นในตาเสื่อมรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันก็สามารถรักษาได้ด้วยการใช้เลเซอร์ชนิดพิเศษเพื่อลดตะกอนเหล่านั้นให้มีขนาดเล็กลง หรือระเหิดหายไป ก็จะทำให้การมองเห็นเป็นปกติมากขึ้น ทั้งนี้การใช้เลเซอร์เพื่อลดตะกอนวุ้นในตาเสื่อมนั้นมีความเสี่ยงทำให้จอประสาทตาเสียหายได้ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

·   ​ในกรณีที่เข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วว่ามีภาวะวุ้นในตาเสื่อมร่วมกับพบการฉีกขาดของจอประสาทตา  แพทย์จะรักษาด้วยการฉายเลเซอร์เพื่อลดโอกาสเกิดโรคจอประสาทตาหลุดลอกซึ่งทำให้ตาบอดได้

สำหรับใครที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะวุ้นในตาเสื่อมร่วมกับจอประสาทตาหลุดลอกแล้ว แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะวินิจฉัยอาการของโรคและประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด

อาการวุ้นตาเสื่อมเป็นภาวะทางสุขภาพดวงตาและการมองเห็น ที่เกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น วุ้นในตาจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ปรากฏอาการเด่นชัดเวลามองท้องฟ้า หรือในพื้นที่ที่สว่าง เห็นภาพตรงหน้าเป็นจุดคล้ายลูกน้ำ หรือเป็นเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปลอยมา แม้จะแค่หลับตาไปพักหนึ่งแล้วลืมตาขึ้นมาอาการจะดีขึ้น แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดวงตาและการมองเห็นได้ ฉะนั้นเมื่อรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับภาวะวุ้นในตาเสื่อมอยู่ ควรเข้ารับการปรึกษาและทำการดูแลรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 ทำไมทำเลสิกแล้วตาแห้ง น้ำตาเทียมช่วยได้อย่างไร?
 เบาหวานขึ้นตา รีบรักษาก่อนตาบอด
 ข้อควรรู้ก่อนทำเลสิก (Lasik) เลสิกมีกี่แบบ
 โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus)
 สายตาสั้นแต่อยากทำ LASIK ใบมีด อันตรายไหม?
 ไขข้อสงสัย อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กเกิดจากพันธุกรรมจริงหรือ
 ก่อนทำเลสิกต้องรู้ข้อมูลอะไรบ้าง? เตรียมตัวอย่างไร?
 ความต่างระหว่าง Femto Lasik vs ReLEx SMILE?
 ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL เจ็บไหม? อยู่ได้กี่ปี
 ทำความรู้จักกับภาวะกระจกตาอักเสบติดเชื้อ พร้อมวิธีการรักษา