สาเหตุ อาการ และการรักษา กระจกตาเป็นแผลมองไม่ชัด

 สาเหตุ อาการ และการรักษา กระจกตาเป็นแผลมองไม่ชัด

กระจกตาเป็นแผล เป็นภาวะความผิดปกติของดวงตาซึ่งพบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยมีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บหรือติดเชื้อจุลินทรีย์แล้วส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการมองเห็น นั่นก็เพราะ“กระจกตา” คือองค์ประกอบสำคัญของดวงตา

รู้จัก “กระจกตา”

กระจกตา (Cornea) เป็นเนื้อเยื่อใส โปร่งแสง มีลักษณะโค้ง และปกคลุมอยู่ส่วนหน้าสุดของดวงตาดำ ทำหน้าที่ช่วยหักเหแสงที่เข้าสู่ดวงตาเพื่อความชัดเจนในการมองเห็น ทั้งยังเป็นด่านแรกของการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาด้วย ปกติแล้วกระจกตาจะมีความหนาประมาณ 551 ไมครอน แบ่งได้เป็น 5 ชั้น กล่าวคือ

1.    กระจกตาชั้นนอก (Epithelium layer) ทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาไม่ว่าจะเป็นสารเคมี เชื้อโรค ฝุ่นละออง หรือน้ำ หากเกิดบาดแผลในชั้นนี้จะหายได้เองภายใน 7 วัน เนื่องจากประกอบไปด้วยเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้ดี

2. ชั้นเยื่อรับรองผิว (Basement membrane) ทำหน้าที่ช่วยรักษารูปร่างของกระจกตา

3.    กระจกตาชั้นกลาง (Stroma) เป็นชั้นเนื้อเยื่อหลักที่มีความแข็งแรง และหนาที่สุดของกระจกตา หากเกิดบาดแผลในชั้นนี้จะส่งผลให้ดวงตามีสีขาวขุ่นไม่ใสเช่นปกติ

4.    ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane) เป็นชั้นเนื้อเยื่อบางๆ ที่มีความแข็งแรง และยืดหยุ่นสูงเนื่องจากมีEndothelial cells

5.​ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial cell) ทำหน้าที่ดูดน้ำส่วนเกินออกจากกระจกตาเพื่อป้องกันภาวะกระจกตาบวมน้ำ และช่วยให้กระจกตาใสตลอดเวลา

แม้บริเวณเนื้อเยื่อกระจกตาจะไม่มีหลอดเลือดแต่ก็ประกอบไปด้วยเส้นประสาทรับความรู้สึกมากมาย จึงไวต่อสัมผัสและความเจ็บปวด ดังนั้นเมื่อกระจกตาเป็นแผล นอกจากจะรู้สึกเจ็บแล้ว ยังพบว่ามีน้ำตาไหล ดวงตาสู้แสงไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อการมองเห็น

เมื่อกระจกตาเป็นแผลจะมีอาการเช่นไร

อาการโดยรวมในเบื้องต้นจะรู้สึกปวดตา ตาบวม เคืองตา ตาไม่สู้แสง คันตา ตาพร่ามัว ตาแดง ตาอักเสบ แสบตา น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนว่ามีบางอย่างอยู่ในตา อาจพบจุด แผล หรือรอยฝ้าสีเทาหรือสีขาวขนาดเล็กบริเวณกระจกตา บ้างก็พบว่ามีขี้ตาสีเหลืองเขียว หากอยู่ในระยะติดเชื้ออักเสบจะมีหนองหรือของเหลวไหลออกจากตา กรณีที่มีอาการรุนแรง เชื้อโรคนั้นอาจทะลุผ่านชั้นกระจกตาเข้าไปก่อให้เกิดการอักเสบภายในดวงตา ทำให้ม่านตาอักเสบหรือเกิดแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นลดลง และอาจถึงขั้นตาบอดในที่สุด

ถ้าแผลที่กระจกตามีขนาดเล็กและตื้นจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน โดยไม่ทิ้งร่องรอย แต่ถ้าแผลค่อนข้างลึกจะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นซึ่งทำให้กระจกตาบริเวณแผลเป็นนั้นทึบแสงหรือแสงผ่านได้น้อยจึงมองเห็นไม่ชัด ดังนั้นเมื่อสงสัยว่ากระจกตาเป็นแผลจึงควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มมากขึ้น

กระจกตาเป็นแผลเกิดจากสาเหตุใด

ภาวะกระจกตาเป็นแผลมักจะเกิดขึ้นเมื่อกระจกตาถูกรบกวนให้เป็นแผลหรือรอยถลอก ก่อนจะนำไปสู่การติดเชื้อจุลินทรีย์ประเภทต่างๆ โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลที่กระจกตาเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

  • ได้รับอุบัติเหตุ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น สารเคมี เศษหิน หรือใบไม้บาดตา●ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกสุขลักษณะ
  • เยื่อบุตาอักเสบ
  • เกิดภาวะตาแห้งอย่างรุนแรง ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ขาดสารอาหารโดยเฉพาะวิตามินเอ,ตาปิดไม่สนิทด้วยความผิดปกติหรือภาวะของโรคบางชนิด
  • ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
  • การติดเชื้อหลังจากการผ่าตัดดวงตา (โดยเฉพาะบริเวณกระจกตา) หรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง
  • ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น ขนตายาวจนอาจไปทิ่มหรือถูกับกระจกตาทำให้เกิดแผล เปลือกตาอักเสบเป็นกุ้งยิง เป็นต้น
  • ใช้ยาสำหรับการหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มากเกินไป

เมื่อกระจกตาเกิดบาดแผล เป็นรอยถลอก หรือได้รับความเสียหายด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งข้างต้นแล้ว มักจะตามมาด้วยการติดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ลักษณะของแผล และอาการแสดงแตกต่างกัน

●เชื้อแบคทีเรีย

แผลที่กระจกตาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย พบบ่อยในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์แบบไม่ถูกสุขอนามัย ฝุ่นละอองหรือสารเคมีเข้าตา ขยี้ตาแรงๆ ภาวะกระจกตาแห้งในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ดวงตาปิดไม่สนิท โดยจะเริ่มจากมีอาการตาแดง ตามัว รู้สึกเคืองตา น้ำตาไหล ปวดตา ตาบวม ขี้ตามาก มีรอยขุ่นขาวบริเวณกระจกตา เนื่องจากแผลที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้นจะมีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีอยู่ตรงกลางของกระจกตา และหากเป็นมากอาจมีหนองในช่องหน้าลูกตา

●เชื้อไวรัส

มักจะเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคเริม อีสุกอีใส หรืองูสวัด พบได้ในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ หรือได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองตา ตาไม่สู้แสง ปวดตาข้างใดข้างหนึ่งโดยเฉพาะเวลากลอกตา กระจกตาข้างที่เป็นจะมีลักษณะขาวเป็นฝ้า และรับความรู้สึกได้น้อยกว่าปกติ เยื่อบุผิวกระจกตาอาจมีรอยถลอกคล้ายกิ่งไม้

●เชื้อรา

เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ไม่ระมัดระวังในการใส่คอนแทคเลนส์ เป็นรอยแผลจากกิ่งไม้หรือใบไม้ทิ่มตา ฝุ่นละออง เศษผงดินเข้าตา รวมทั้งความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน การใช้ยาหยอดตาประเภทยาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตา ลืมตาไม่ขึ้น เคืองตา ตามัว และตาไม่สู้แสง แผลที่กระจกตามีลักษณะคล้ายขนนกสีขาวหรือสีเทา ขอบนูนไม่เรียบ อาจมีแผลขนาดเล็ก ๆ กระจายโดยรอบ และมักจะมีหนองบริเวณช่องหน้าลูกตา

●เชื้ออะมีบา

เป็นปัญหามาจากการใช้คอนแทคเลนส์เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผลเป็นถาวร และสูญเสียการมองเห็น ส่วนใหญ่เกิดจาก Acanthamoeba ซึ่งมักพบได้ในแหล่งน้ำ เช่น น้ำประปา สระว่ายน้ำ อ่างน้ำร้อน เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนจากกระจกตาเป็นแผล

เมื่อกระจกตาเป็นแผลแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น

●ในระยะของการติดเชื้อซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบนั้น เชื้อโรคอาจลุกลามทะลุชั้นกระจกตาแล้วทำให้ลูกตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ มีหนองขังในช่องลูกตาหน้า อันจะนำไปสู่ภาวะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้●แผลที่กระจกตาอาจกลายเป็นแผลเป็นที่มีลักษณะขุ่นขาวซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง และหากแผลเป็นนั้นมีขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางของตาดำก็จะยิ่งบดบังสายตา ทำให้การมองเห็นมีปัญหา นำไปสู่ภาวะสายตาพิการได้●ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น สายตาเอียง กระจกตาบาง กระจกตาทะลุ ภาวะผิวกระจกตาหลุดลอก และหากเกิดการติดเชื้อรุนแรงภายในลูกตา อาจทำให้เป็นต้อหินหรือต้อกระจกได้

วิธีการรักษาเมื่อเกิดอาการกระจกตาเป็นแผล

แพทย์จะซักประวัติพร้อมอาการเบื้องต้น จากนั้นจึงตรวจความเสียหายของกระจกตา และตรวจหาประเภทของเชื้อในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้แพทย์จะรักษาตามอาการ และสาเหตุของโรคเป็นหลัก

●การใช้ยา

ระยะแรกผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมในวงกว้าง จนเมื่อได้รับทราบผลการตรวจเชื้อที่แน่ชัดจากห้องปฏิบัติการแล้ว แพทย์จึงจะปรับใช้ยาเฉพาะทางที่ส่งผลต่อเชื้อชนิดนั้น ๆ ซึ่งมีทั้งยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส และยาต้านเชื้อรา โดยพิจารณาการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาฆ่าเชื้อที่ผู้ป่วยได้รับจะมีหลายรูปแบบ เช่น ยาหยอดตา ยาป้ายตา ยาฉีด และยารับประทาน บางรายอาจมีการใช้ยาหยอดขยายม่านตา ยาลดความดันลูกตา ยาระงับปวด และวิตามิน ร่วมด้วย ระหว่างใช้ยาในการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมประจำวันที่อาจส่งผลกระทบต่อดวงตา เช่น การแต่งหน้า การใส่คอนแทคเลนส์ ใช้มือสัมผัสดวงตาโดยไม่ระวัง และการรับประทานยาบางชนิด

●การผ่าตัด

หากแผลมีการอักเสบลุกลามหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระจกตาบาง กระจกตาทะลุ เกิดแผลเป็นที่กระจกตา หรือกระจกตาเป็นฝ้าขาว แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา การผ่าตัดใส่กาวบริเวณที่กระจกตาบาง หรือกระจกตาทะลุ เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกลภาวะกระจกตาเป็นแผล

●เพิ่มความระมัดระวังในการใช้คอนแทคเลนส์ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกวิธี งดใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ เลี่ยงการใช้คอนแทคเลนส์หากรู้สึกระคายเคือง เป็นต้น●เลี่ยงการสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น และควรล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนสัมผัสดวงตา●สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาทุกครั้งเมื่อต้องใช้เครื่องมือช่าง●ป้องกันไม่ให้กิ่งไม้ใบหญ้าบาดตา●ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา เป็นเริมหรืองูสวัดบริเวณดวงตา มีภาวะตาแห้ง หรือตาปิดไม่สนิทเป็นระยะเวลานาน●เลี่ยงการหยอดตาด้วยยาสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น​

แม้อาการพื้นฐานเบื้องต้นของภาวะกระจกตาเป็นแผลจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการ เยื่อบุตาอักเสบ หรือตาแดงซึ่งเป็นโรคที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่ทว่าเรื่องของดวงตาและการมองเห็นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเกิดความผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจ รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีเพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้

 ไขข้อสงสัย อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กเกิดจากพันธุกรรมจริงหรือ
 ถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก รักษาอย่างไร
 “น้ำตาเทียม” มีประโยชน์จริงไหม เลือกอย่างไร? รู้ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
 มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?
 เลนส์มัว ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก
 ข้อควรรู้ก่อนทำเลสิก (Lasik) เลสิกมีกี่แบบ
 โรคต้อกระจกมีกี่ระยะ สังเกตจากอะไร
 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
 ทำไมทำเลสิกแล้วตาแห้ง น้ำตาเทียมช่วยได้อย่างไร?
 ใครที่เหมาะ? ควรแก้ปัญหา สายตาสั้น ยาว เอียง ด้วยPRK