ทำความรู้จัก “ต้อลมในผู้สูงวัย” เป็นแล้วรักษาให้หายได้หรือไม่

 ทำความรู้จัก “ต้อลมในผู้สูงวัย” เป็นแล้วรักษาให้หายได้หรือไม่

ต้อลมในผู้สูงวัย หนึ่งในโรคต้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัยทุกเพศ เป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการของโรคไม่ให้รุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ 

ต้อลม ปัญหาสุขภาพดวงตาและการมองเห็นที่มักพบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบได้บ่อยผู้สูงอายุ ต้อลมเป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาให้ถูกต้องเหมาะสมก็อาจก่อให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันและสร้างความรำคาญใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ต้อลมคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเป็นแล้วเราจะสามารถรักษาต้อลมได้ด้วยวิธีใดบ้างนั้น สามารถติดตามหาคำตอบได้ในบทความนี้

ต้อลมในผู้สูงวัยคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้อลม (Pinguecula) คือหนึ่งในโรคที่มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากการสะสมของโปรตีน ไขมัน หรือแคลเซียมบริเวณเยื่อบุตาขาวที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของคอลลาเจนตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก่อนจะจับตัวกันเป็นก้อนหนาบริเวณตาขาวมีลักษณะเป็นก้อนนูน อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวหรือสีเหลือง มักจะเกิดขึ้นบริเวณหัวตาหรือในบางรายมีต้อลมเกิดขึ้นที่หางตาได้ และต้อลมมีโอกาสที่จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออาจรุนแรงขยายตัวเข้าไปบริเวณกระจกตาจนพัฒนาเป็นต้อเนื้อได้อีกด้วย

โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดต้อลม นอกเหนือไปจากความเสื่อมโทรมของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้นแล้ว ต้อลมยังพบได้บ่อยในกลุ่มคนดังต่อไปนี้

-            ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ดวงตาต้องเผชิญกับรังสียูวีในแสงแดดโดยไม่มีการปกป้องดวงตา

-            ผู้ที่ใช้สายตาหนักเป็นประจำหรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ

-            ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะในโรงงานอุตสาหกรรม

-            ผู้ที่ทำงานกับสารเคมีและดวงตาสัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นจนเกิดอาการระคายเคืองโดยไม่มีการป้องกัน

-            ผู้ที่ใช้สายตาเพ่งมองวัตถุบางสิ่งบางอย่างอยู่เป็นประจำ เช่น นักเจียระไนจิวเวลรี

-            ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรืออยู่ในช่วงใช้ยาบางชนิด

-            ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อลม

อาการของต้อลมเป็นแบบไหน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาต้อลมในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการชัดเจน เพียงแต่ถ้าส่องกระจกจะมองเห็นก้อนนูนเล็กๆ สีเหลืองหรือสีขาวบริเวณตาขาวเท่านั้น แต่ถ้าหากก้อนต้อลมมีลักษณะขยายใหญ่หรือมีการอักเสบบวมแดงจนก่อให้เกิดอาการระคายเคืองดวงตาจะทำให้รู้สึกเจ็บ คัน แสบตา ตาแดง น้ำตาไหล หรือรู้สึกเหมือนมีฝุ่นผงอยู่ในดวงตาตลอดเวลา

ซึ่งภาวะต้อลมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และมีตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือบริเวณหัวตา อาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือมีโอกาสเป็นในดวงตาทั้งสองข้างเลยก็ได้ หรือในบางรายก็อาจเกิดต้อลมบริเวณหางตาได้เช่นกัน

ต้อลมเป็นแล้วอันตรายไหม 

ในความเป็นจริงแล้วการเป็นต้อลมไม่เป็นอันตรายและไม่รุนแรงจนถึงขั้นกระทบต่อการมองเห็นหรือทำให้ตาบอดแต่อย่างใด เพียงแต่จะทำให้รู้สึกระคายเคืองตาและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งเราสามารถบรรเทาอาการได้ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้อลมมีลักษณะขยายใหญ่เข้าไปที่กระจกตาหรือลูกตาดำจฃกลายเป็นต้อเนื้อในอนาคต

เป็นต้อลมแล้วรักษาอย่างไรดี 

ต้อลม เป็นภาวะที่เมื่อเป็นแล้วที่ไม่สามารถหายไปได้เอง แต่เราสามารถรักษาให้อาการคงที่ ไม่รุนแรงจนมีอาการไม่สบายตาหรือกระทบกับการมองเห็นได้ ซึ่งถ้าเข้ารับคำปรึกษากับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะได้รับการวินิจฉัยอาการของโรคต้อลมเบื้องต้นก่อนว่ามีความรุนแรงระดับไหน หรือสังเกตลักษณะของต้อลมว่ามีขนาดและรูปร่างเล็กใหญ่อย่างไร ร่วมกับซักประวัติผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำการรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ ดังนี้

-          ระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการอักเสบ แต่สังเกตเห็นความผิดปกติของเยื่อบุตาขาว ในช่วงนี้ควรศึกษาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้ต้อลมแย่กว่าเดิม โดยสามารถสวมแว่นตาเพื่อป้องกันลมและป้องกันแสงแดดเวลาอยู่กลางแจ้ง หรือใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาและลดอาการตาแห้งได้

-            ระยะที่มีต้อลมเกิดการอักเสบ รู้สึกระคายเคืองดวงตามากกว่าปกติ หรือมีอาการแสบตาน้ำตาไหลรวมด้วย แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของ Antazoline หรือ Tetrahydrozoline เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ หรือในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแก้อักเสบเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวได้เช่นกัน

-          ระยะที่ต้อลมเกิดการขยายใหญ่จนกลายเป็นต้อเนื้อ มีอาการอักเสบเรื้อรังและรุนแรงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อนำต้อเนื้อออก แต่ทั้งนี้หลังการผ่าตัดในช่วงแรกอาจรู้สึกระคายเคืองดวงตาได้มากกว่าปกติ และมีโอกาสกลับมาเป็นต้อลมหรือต้อเนื้อได้อีกหากดูแลรักษาตัวเองไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ในบางรายที่ตาเป็นต้อลมแต่มีอาการที่ไม่รุนแรง ไม่มีการอักเสบ แต่ส่องกระจกแล้วเห็นว่ามีก้อนนูนๆ สีขาวหรือเหลืองในเยื่อบุตาขาวนั้นบั่นทอนความมั่นใจ เห็นแล้วรู้สึกไม่สวยงาม ถึงแม้ในปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์จี้เอาต้อลมออกได้เช่นกัน แต่ในประเทศไทยวิธีนี้ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากอาจต้องแบกรับความเสี่ยงหลังทำ ไม่ว่าจะเป็นอาการระคายเคืองดวงตา เลือดออก หรือถ้าหากดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไม่ดีก็มีโอกาสแผลติดเชื้อได้ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้  เมื่อเทียบกับอาการของต้อลมที่รุนแรงน้อยกว่าและสามารถบรรเทาได้ด้วยเพียงแค่การป้องกันปัจจัยเสี่ยงและการใช้ยาหยอดตาตามอาการ

การใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการอักเสบระคายเคืองดวงตาเนื่องจากต้อลมก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่าควรหยอดอย่าวไรและใช้ได้นานเท่า เนื่องจากการใช้ยาหยอดตาบางชนิดในระยะยาวมีโอกาสก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรค ต้อกระจกที่ทำให้มองภาพพร่ามัว หรือโรคต้อหินที่ส่งผลเสียต่อการมองเห็นแบบรุนแรงและถาวรได้

วิธีป้องกันการเกิดต้อลม 

แม้ว่าต้อลมจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และก็เป็นโรคที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่เราสามารถป้องกันให้ต้อลมไม่ลุกลามหรือบรรเทาอาการที่เกิดจากต้อลมไม่ให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยมีวิธีป้องกันดังนี้

-       สำหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงจะเป็นต้อลม ควรเข้ารับการตรวจรักษาสุขภาพดวงตากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

-            หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่ต้องเผชิญกับแสงแดดจัด มีรังสียูวีสูง หรือสถานที่ที่มีอากาศแห้งแล้ง ฝุ่นละออง และหมอกควัน

-            ปกป้องดวงตาด้วยแว่นกันแดดกันลมเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เผชิญกับแสงแดด แสงไฟจ้า หรืออยู่ในพื้นที่มีลมแรง อากาศแห้งแล้ง ฝุ่นละออง ควัน และมลพิษทางอากาศ

-            หลีกเลี่ยงการขยี้ดวงตารุนแรง เพราะจะทำให้อาการต้อลมย่ำแย่ เกิดอาการระคายเคืองหนักกว่าเดิมได้

-            หากระหว่างวันรู้สึกระคายเคืองตา ตาแห้ง ควรหมั่นหยอดน้ำตาเทียมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งซึ่งเสี่ยงเป็นต้อลมได้ง่าย

-            ในผู้ที่ใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน แนะนำให้หาช่วงพักสายตาเพื่อป้องกันอาการตาล้า ตาแห้ง

-         หากจำเป็นต้องทำงานเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือเชื่อมโลหะ แนะนำให้สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันสารเคมีและประกายไฟเชื่อมโลหะซึ่งเป็นอันตรายต่อดวงตา

-      หากเป็นต้อลมแล้วถ้าไม่อยากให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แนะนำให้หมั่นสังเกตลักษณะของต้อลมว่ามีการเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูปร่าง และเปลี่ยนขนาดอย่างไรบ้าง ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงที่ดูแล้วจะเป็นอันตรายกว่าเดิม ควรเข้ารับการดูแลจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

ต้อลมเป็นโรคทางตาที่ไม่อันตรายต่อการมองเห็น แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องก็สามารถสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่น้อย เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกระคายเคืองดวงตาจนไม่สามารถลืมตาได้ปกติ ดังนั้นเมื่อรู้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นต้อลม ควรรีบเข้ารับการปรึกษากับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางการป้องกันไม่ให้ต้อลมเป็นมากขึ้นหรืพัฒนากลายเป็นต้อเนื้อลุกลามเข้ากระจกตาในอนาคต

 Lasik ใบมีด และ FemtoLASIK ต่างกันอย่างไร
 ความแตกต่างของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและหนังตาตก
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้
 ใครบ้างเสี่ยงเป็นต้อลม เป็นแล้วหายได้หรือไม่
 ไขข้อข้องใจ สายตาเอียง (Astigmatism) หายเองได้หรือไม่
 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
 เปรียบเทียบราคาการทำ LASIK แต่ละประเภท คุ้มไหมกับราคาที่ต้องจ่าย
 PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนปลอดภัยกว่ากัน
 ใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่สบายตาเลือกยังไง : มือใหม่หัดใส่คอนแทคเลนส์ไม่ต้องเสี่ยงตาอักเสบแค่รู้สิ่งนี้!
 ต้อหิน (Glaucoma) เป็นแล้วรีบรักษา ก่อนสูญเสียการมองเห็น

Copyright © 2024 All Rights Reserved.