โรคต้อกระจกมีกี่ระยะ สังเกตจากอะไร

 โรคต้อกระจกมีกี่ระยะ สังเกตจากอะไร

มาทำความรู้จักต้อกระจกว่ามีกี่ระยะ อาการของต้อกระจกเป็นอย่างไร สามารถรักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง พร้อมแนวทางการดูแลหลังการรักษา

หากรู้สึกว่าการมองเห็นมัวลง มองภาพไม่ชัดแม้ใส่แว่นตา ตาพร่าหรือเห็นดวงไฟเป็นแสงกระจายหลายๆดวง อย่าชะล่าใจว่าเป็นเรื่องปกติของวัยหรืออาการทั่วไปที่เกิดขึ้นชั่วคราว เพราะว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการต้อกระจกระยะแรกเริ่ม หากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นปัญหารุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการมองเห็นในอนาคต

ต้อกระจก (Cataract) เกิดจากเลนส์ตาขุ่นมัวจนทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอย่างถูกวิธีอาจเป็นมากขึ้นจนทำให้การมองเห็นลดลงอย่างมากและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สามารถทำให้ตาบอดได้ ต้อกระจกอาจเกิดขึ้นกับดวงตาของเราทีละข้าง หรือพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก็ได้

บทความวันนี้จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับต้อกระจกให้มากกว่าเดิมและไปดูกันว่าการรักษาต้อกระจก มีกี่วิธี เพื่อให้รู้เท่าทันภาวะผิดปกติของดวงตาและสามารถรักษาได้ทันก่อนสายเกินแก้ไข

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของต้อกระจก

●     ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเลนส์แก้วตาเริ่มเสื่อมและขุ่นมัวตามวัย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจกตามธรรมชาติ

●     ผู้มีสายตาสั้นมากกว่า 6 ไดออปเตอร์ (Diopters - หน่วยวัดค่าสายตา)

●     มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือมีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม การติดเชื้อหัดเยอรมันจากครรภ์มารดา

●     เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคจอประสาทตาผิดปกติ ภาวะม่านตาน้อย ม่านตาอักเสบ หรือตาติดเชื้อ

●     เคยได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนรุนแรงบริเวณลูกตา รวมถึงเคยผ่าตัดตามาก่อน

●     สาเหตุอื่น ๆ เช่น ดวงตาได้รับรังสีเอกซเรย์ รังสียูวีจากการสัมผัสแสงแดดจัด รังสีไมโครเวฟ กินวิตามินซีไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาสเตียรอยด์ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

ต้อกระจก อาการเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยโรคต้อกระจกจะมีอาการมองไม่ชัด ตาขุ่นมัวคล้ายมีฝ้าหรือหมอกบังอยู่ในลูกตาโดยไม่มีอาการเจ็บปวด โดยระดับการมองเห็นจะขึ้นอยู่กับความขุ่นในเลนส์ตา เมื่อป่วยไปสักระยะจะเริ่มเกิดอาการมองเห็นภาพซ้อน ตาพร่า บางคนอาจมีภาวะสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยกว่าปกติ สายตาจะเริ่มสู้แสงไม่ได้ ตาไวต่อแสง เวลามองแสงไฟตอนกลางคืนจะเห็นเป็นจุดกระจาย มองเห็นสีต่าง ๆ เพี้ยนไปจากปกติและต้องใช้แสงมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน

เมื่อต้อกระจกขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เลนส์แก้วตาจะมีการเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองขุ่น และเข้มขึ้นเรื่อยๆจนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ หรือในบางคนหากทิ้งไว้นานมาก เลนส์แก้วตาอาจเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น อาจสังเกตเห็นเป็นจุดสีขาวตรงรูม่านตาด้วยตาเปล่า ซึ่งปกติแล้วจุดนี้จะมองเป็นสีดำ ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ไม่ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ตาอักเสบ ตาแดง ต้อหิน หรือถึงขั้นตาบอดได้

ต้อกระจกมีกี่ระยะ

1. ระยะเริ่มแรก (Early cataract)

ผู้ป่วยระยะเริ่มแรกจะรู้สึกว่าการมองระยะใกล้ – ไกลทำได้ยากขึ้นหรือมองไม่ชัดเนื่องจากระยะโฟกัสของสายตาเปลี่ยนไป ตาล้าง่ายขึ้น และตามัวเมื่อเกิดการสะท้อนจากแสงไฟ

2. ระยะก่อนต้อสุก (Immature cataract)

เมื่อเข้าสู่ระยะนี้โปรตีนในเลนส์แก้วตาจะขุ่นมากขึ้น หากไปพบแพทย์มักได้รับแว่นสายตาที่มีคุณสมบัติตัดแสงหรือแว่นกันแดดมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยให้มองเห็นใกล้เคียงปกติ แต่เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้นจะทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนอีก ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ หรือบางคนการมองเห็นไม่ดีขึ้นแม้จะใส่แว่น

3. ระยะต้อสุก (Mature cataract)

ความขุ่นของเลนส์แก้วตาในระยะนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ตาจะมัวลงมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าสู่ระยะนี้แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด

4. ระยะต้อสุกเกิน (Hypermature cataract)

หากเข้าสู่ระยะนี้เลนส์แก้วตาจะเป็นสีขาวขุ่น ต้องทำการผ่าตัดเท่านั้น หากปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งรักษายาก อาจเกิดอาการโปรตีนรั่วจากเลนส์แก้วตา ตาอักเสบ กลายเป็นโรคต้อหิน แม้ผ่าตัดแล้วก็อาจไม่กลับมาเป็นปกติ

ต้อกระจกรักษาได้ไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาด้วยยากินหรือยาหยอดตา หากเป็นต้อกระจกแบบรุนแรงจนเข้าสู่ระยะที่ 3–4 สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดสลายต้อกระจกหรือผ่าตัดนำต้อกระจกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่  ก่อนเข้ารับการรักษาแพทย์จะทำการตรวจประเมินอย่างละเอียดเพื่อดประเมินลักษณะต้อกระจก รวมทั้งประเมินลูกตาส่วนอื่นๆและจอประสาทตาให้ละเอียด และตรวจวัดตาเพื่อนำมาคำนวณเลนส์แก้วตาเทียมก่อน โดยมักทำการวัดความโค้งของกระจกตาและความยาวลูกตาก่อนม่านตาขยาย เพื่อนำค่าที่ได้ไปเลือกเลนส์แก้วตาเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เลนส์แก้วตาเทียมคือตัวช่วยให้ผู้ป่วยต้อกระจกกลับมามองเห็นชัดเจนอีกครั้ง เมื่อใส่แล้วสามารถอยู่ในตาของเราได้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ แพทย์จะซักประวัติ สอบถามเรื่องโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำอย่างละเอียด หากผู้ป่วยรับประทานยาประเภทต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาสลายลิ่มเลือด ต้องทำการปรึกษาอายุรแพทย์ก่อนพิจารณาหยุดยา 5–7 วันก่อนผ่าตัดต้อกระจก ส่วนยาประเภทอื่นสามารถกินได้ตามปกติ

การผ่าตัดต้อกระจก มีกี่วิธี คำตอบคือวิธีการรักษาต้อกระจกที่ได้รับความนิยมมี 2 วิธี

1. การสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ

การรักษาด้วยเครื่องสลายต้อเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเนื่องจากเกิดแผลบริเวณกระจกตาเล็กเพียง 2.5-3 มิลลิเมตรเท่านั้น วิธีการคือแพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กที่กระจกตาและสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่บริเวณต้อกระจก จากนั้นใช้พลังงานความถี่สูงระดับอัลตราซาวด์เพื่อสลายต้อให้หมดแล้วทำการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลที่เกิดขึ้นนั้นมีขนาดเล็กและไม่จำเป็นต้องเย็บแผลหากแผลปิดสนิทดี

2. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง

การผ่าตัดวิธีนี้เป็นวิธีแบบดั้งเดิม มักใช้ในกรณีที่ต้อสุกและแข็งมากจนไม่สามารถสลายด้วยเครื่องสลายต้อได้ วิธีการคือแพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลบริเวณกระจกตาส่วนบน ขนาดประมาณ 10 มิลลิเมตร จากนั้นจึงทำการคลอดเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออกทางแผล แล้วทำการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แล้วจึงเย็บแผลปิด

เมื่อทำการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว การมองเห็นของผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้นเมื่อเปิดตาในวันถัดไป และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การดูแลหลังรักษาต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าตา 4 สัปดาห์ รวมถึงหมั่นทำความสะอาดดวงตา หยอดยาและกินยาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่งด้วย

การดูแลผู้ป่วยต้อกระจก

เมื่อรู้ตัวว่าเป็นต้อกระจกหรือมีผู้ใกล้ชิดเป็น ควรดูแลสายตาด้วยการสวมแว่นกันแดดเสมอเมื่ออยู่กลางแจ้งเพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวี หากมีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็ควรเข้ารับการตรวจสายตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ รวมถึงควบคุมโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจกแทรกซ้อน

โรคต้อกระจกระยะแรกเริ่มอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง ทำให้หลายคนนิ่งนอนใจ ทางที่ดีเราควรทำความเข้าใจสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และดูแลตัวเองให้ดีเมื่อมีอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อกระจกและการดูแลตัวเองจากภายในอย่างการพักผ่อนและการกินอาหารที่มีประโยชน์ หากพบว่าดวงตามีความผิดปกติควรพบแพทย์ทันทีก่อนสายเกินแก้ หรือหากมีอาการตามัวมากขึ้นก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ให้สามารถกลับมามีมองเห็นได้เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

 สังเกตอาการวุ้นในตาเสื่อม ทำไมมองเห็นจุดดำและหยากไย่ลอยไปมา
 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
 สาเหตุที่ทำตาสองชั้นแล้วชั้นตาก็ยังไม่เท่ากัน เกิดจากอะไร ?
 ทำความรู้จัก “ต้อลมในผู้สูงวัย” เป็นแล้วรักษาให้หายได้หรือไม่
 ทำไมทำเลสิกแล้วตาแห้ง น้ำตาเทียมช่วยได้อย่างไร?
 คัดมาแล้ว! 5 อาหารเสริมบำรุงสายตา ลดเสี่ยงตาเสื่อมในวัยทำงาน
 ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL เจ็บไหม? อยู่ได้กี่ปี
 อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร
 ต้อลม (pinguecula) รักษายังไงให้หายขาด
 ทำไมเด็กถึงตาเข หรือตาส่อนมากกว่าผู้ใหญ่

Copyright © 2024 All Rights Reserved.