จะรู้ได้อย่างไรว่าเบาหวานขึ้นตา

 จะรู้ได้อย่างไรว่าเบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นจาก “เบาหวานขึ้นตา” เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงดวงตาอุดตัน มีวิธีสังเกตอาการได้ด้วยตัวเอง

​โรคเบาหวานนั้นเป็นโรคที่คนไทยป่วยมากเป็นอันดับต้น ๆ โดยผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานนั้นมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดได้ง่ายกว่าคนปกติโดยทั่วไป โดยนอกจากจะส่งผลต่อสมองหรือหัวใจแล้ว เบาหวานยังส่งผลต่อดวงตาอีกด้วย หรือที่เรียกกันว่าเบาหวานขึ้นตา ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการเบาหวานขึ้นตาอย่างรุนแรง อาจส่งผลทำให้ตาบอดได้

เบาหวานขึ้นตาคืออะไร​

​เรามารู้จักโรคเบาหวานเบื้องตันกันก่อน โดยโรคเบาหวานนั้นแบ่งย่อยออกได้ ดังนี้

​- เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินในตับอ่อนทำให้สร้างฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ จึงต้องรักษาด้วยการให้อินซูลินทุกวัน โดยอาการแสดงเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก โรคเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ และพบได้ไม่บ่อยนัก

​- เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่พบได้มากต่อจำนวนประชากร เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน โดยอินซูลินนั้นทำหน้าที่ควบคุมลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อมีอาการดื้ออินซูลินจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ อาการเบาหวานชนิดที่ 2 นี้มักพบในประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่า แต่ด้วยพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ปัจจุบันตรวจพบอาการเบาหวานชนิดที่ 2 ในประชากรที่มีอายุน้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานึงก็จะส่งผลต่อดวงตาและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตาได้ ซึ่งหากคิดว่าตนเองมีอาการตาพร่ามัว มองไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานแบบไม่รู้ตัว

​- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะที่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่อาจเกิดมาผิดปกติหรือไม่แข็งแรง และแม้ว่าอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์นี้สามารถหายได้หลังคลอด แต่ก็มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต

​โดยอาการเบาหวานขึ้นตานั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนส่งผลทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาเกิดการอุดตัน ช่วงแรกอาจไม่พบความผิดปกติมากนัก แต่ถ้าปล่อยให้อาการหนักอาจส่งผลต่อการมองเห็น ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตาเกิดตาบอดถาวรได้

สาเหตุของเบาหวานขึ้นตา​

​จอประสาทตาเสื่อมอันเนื่องมาจากอาการเบาหวานขึ้นตา โดยมีสาเหตุมาจากการอุดตันของเส้นเลือดไปไปหล่อเลี้ยงดวงตา ในบางกรณีเส้นเลือดจะมีขนาดที่ไม่สม่ำเสมอ เล็กบ้างใหญ่บ้างสลับกันไป หลอดเลือดที่จอประสาทตาเสียหายอุดตัน ร่างกายจะพยายามสร้างเส้นเลือดใหม่เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงดวงตา แต่เส้นเลือดที่เกิดใหม่เหล่านั้นไม่แข็งแรง เปราะง่าย ทำให้เส้นเลือดแตกง่ายจนเลือดไหลเข้าไปในส่วนที่เรียกว่าวุ้นตา ส่งผลให้เกิดอาการตาพร่ามัวแบบเฉียบพลัน และหากเส้นเลือดที่เกิดใหม่นั้นไปขัดขวางการระบายน้ำในดวงตา จะทำให้เกิดความดันที่ดวงตาสูง เส้นประสาทตาจะเสียหายและอาจเกิดโรคต้อหินได้ โดยผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานาน หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะมีโอกาสที่จอประสาทตาจะเสื่อมและเสี่ยงตาบอดมากขึ้น

อาการของเบาหวานขึ้นตา

​อาการของเบาหวานขึ้นตานั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 ระยะ ดังนี้

​- อาการเบาหวานขึ้นตาระยะแรก ซึ่งระยะนี้จะยังไม่พบเส้นเลือดที่เกิดใหม่ แต่จะมีอาการเส้นเลือดดำในตาขยายใหญ่โป่งพอง แรก ๆ อาจจะยังไม่พบความผิดปกติ แต่เมื่ออาการมากขึ้นอาจมีเลือดรั่วไหลออกมาจนจอประสาทตาบวม ตาเริ่มมัวมองไม่ชัด หากการบวมของจอประสาทตานี้เกิดขึ้นในส่วนที่สำคัญเป็นพิเศษ เช่น จุดรับภาพชัด (macula) จะต้องรับการรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

​- อาการเบาหวานขึ้นตาระยะที่สอง ระยะนี้จะเกิดการอุดตันของเส้นเลือดหลายแห่ง และเมื่อเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ ร่างกายจะสร้างหลอดเลือดขึ้นมาทดแทน แต่หลอดเลือดที่เกิดใหม่เหล่านี้ไม่มีความแข็งแรง เปราะแตกได้ง่าย เมื่อเส้นเลือดแตกจะทำให้เลือดไหลเข้าวุ้นตา ทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัด รวมทั้งพังผืดที่เกิดขึ้นอาจดึงรังจอประสาทตาจนเกิดจอประสาทตาลอกหลุดหรือฉีกขาดได้ หากเส้นเลือดนั้นเข้าไปรบกวนการระบายน้ำในลูกตาจนความดันในตาสูงขึ้น อาจส่งผลให้มีอาการต้อหินได้ในอนาคต

​แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการเบาหวานขึ้นตา โดยอาการโดยทั่วไปของเบาหวานขึ้นตานั้น แรก ๆ อาจยังสังเกตได้ยาก ทำให้มองข้ามการเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหมั่นเข้ารับการตรวจตาจากจักษุแพทย์เป็นประจำ และควรสังเกตอาการคร่าว ๆ เช่น ตามัว มองเห็นภาพซ้อน ภาพบิดเบี้ยว มองเห็นจุดดำลอยอยู่ รวมไปถึงสูญเสียการมองเห็น

​ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนมีโอกาสเกิดเบาหวานขึ้นตาได้ แต่คนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงเบาหวานขึ้นตาสูงขึ้น

-เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน-ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี-มีความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย-ตั้งครรภ์-สูบบุหรี่

วิธีการรักษาอาการเบาหวานขึ้นตา

​การรักษาเบาหวานขึ้นตานั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็นก็ควรเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอด้วยการตรวจขยายม่านตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่ปรากฏ ดังนี้

​1. การควบคุมระดับน้ำตาล หากมีอาการเบาหวานขึ้นตาระยะแรก การรักษาจะเน้นเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และดูแลโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น ความดันโลหิต เป็นต้น 

​2. การรักษาด้วยวิธีเลเซอร์ เป็นวิธีที่ใช้แสงเลเซอร์ในการควบคุมการรั่วซึมของหลอดเลือด ช่วยทำให้เส้นเลือดที่ผิดปกติฝ่อลง เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเลือดออกและลดการบวมของจอประสาทตาเพื่อป้องกันไม่ให้การมองเห็นแย่ลง แม้จะไม่ใช่วิธีการรักษาให้หายขาด แต่เป็นการช่วยควบคุมการลุกลามของอาการเลือดออกในตา

​3. การรักษาด้วยการฉีดยา เป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาที่ดี โดยจะฉีดยาเข้าที่วุ้นตาเพื่อยับยั้งการงอกของเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ และช่วยลดอาการบวมของจอประสาทตา การฉีดยานี้มักทำภายใต้การหยอดยาชา ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล 

​4. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยการผ่าตัดนั้นมักจะเป็นตัวเลือกสุดท้าย หากมีอาการเบาหวานขึ้นตาที่รุนแรง เช่น มีเลือดออกในตาจำนวนมากหรือเลือดนั้นไม่ถูกดูดซึมกลับเข้าร่างกาย มีอาการจอประสาทตาลอกหรือฉีกขาด 

อาการแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นตา

โดยอาการแทรกซ้อนของอาการเบาหวานขึ้นตาที่สามารถพบได้ มีดังนี้

1. มีเลือดออกในวุ้นตา จากเส้นเลือดที่งอกใหม่ หากปริมาณของเลือดที่ออกไม่มากนักผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นจุดสีดำลอยไปมา หากเลือดออกมากจะมีอาการมองไม่เห็นจากเลือดที่มาบดบัง โดยมักไม่ได้เป็นการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวร หากสามารถนำเลือดออกจากวุ้นตาได้แล้ว จะสามารถกลับมามองเห็นได้

2. จอประสาทตาลอก จากเส้นเลือดที่งอกใหม่นี้กระตุ้นให้เกิดพังผืดดึงรังจอประสาทตา อาการคือมองเห็นจุดสีดำ รู้สึกมองเห็นแสงวาบแสงแฟลชในตา หากไม่รักษาสามารถทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้

3. ต้อหิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดที่งอกใหม่แทรกเข้าไปรบกวนการระบายน้ำในตา ทำให้ความดันในตาสูงจนเกิดเป็นต้อหินได้

4. ตาบอดถาวร หากอาการเบาหวานขึ้นตาอย่างรุนแรง ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเบาหวานขึ้นตา

​1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม ทั้งการทานอาหารที่เหมาะสมสอดคล้องกับร่างกายและเบาหวานที่เป็น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที การทานยาหรือฉีดยาเบาหวานตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

​2. หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยหรือเครียด ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ​

3. ควบคุมความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

​4. เข้ารับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอแม้จะไม่มีอาการก็ตาม

​5. หมั่นสังเกตอาการ เช่น สายตาพร่ามัว ปวดตา มองไม่ชัด หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์

เบาหวานขึ้นตาเป็นโรคที่ไม่มีทางป้องกันได้ 100% ดังนั้นการดูแลสุขภาพ ควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมัน ระดับความดันโลหิตอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการไปพบแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือตามแพทย์นัดจึงมีความสำคัญอย่างมาก  หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วทันการณ์ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นตาได้มาก อย่ารอให้สายเกินไป

 อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
 อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร
 โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus)
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้
 อาการตาแห้งแก้ได้อย่างไร ต้องหยอดตาหรือไม่
 ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัย กับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)
 ICL หรือ Implantable Collamer Lens ทางเลือกใหม่การรักษาสายตาผิดปกติ
 มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?
 ใครที่เหมาะ? ควรแก้ปัญหา สายตาสั้น ยาว เอียง ด้วยPRK
 นักทัศนมาตร (Optometrist) คือใคร ทำไมต้องตัดแว่นกับนักทัศนมาตร

Copyright © 2024 All Rights Reserved.