ต้อหิน (Glaucoma) เป็นแล้วรีบรักษา ก่อนสูญเสียการมองเห็น

 ต้อหิน (Glaucoma) เป็นแล้วรีบรักษา ก่อนสูญเสียการมองเห็น

ต้อหิน ภัยต่อดวงตา ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หากไม่รีบเข้ารับการรักษาอาจส่งผลขั้นร้ายแรงจนสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดได้ ควรรู้ปัจจัยเสี่ยงและสังเกตอาการ

ต้อหิน โรคเกี่ยวกับดวงตาที่เกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แรกเริ่มอาจไม่มีสัญญาณเตือน และอาจสูญเสียการมองเห็นโดยไม่รู้ตัวได้ ฉะนั้นวันนี้ลองมาศึกษากันว่าจริง ๆ แล้วต้อหินคืออะไรต้อหิน สาเหตุ เกิดจากอะไร หรือเราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นต้อหินได้หรือไม่ และถ้าเป็นแล้วจะมีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง ตามมาอ่านพร้อม ๆ กันได้เลย 

ต้อหินคืออะไร

ต้อหิน (Glaucoma) กลุ่มอาการทางดวงตาที่เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (Aqueous Humor) ที่ไม่สามารถไหลออกจากลูกตาผ่านช่องด้านหน้าของลูกตา (Anterior Chamber) ได้ตามปกติ จึงเกิดการคั่งของของเหลว และเกิดความดันภายในลูกตาสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการกดทับขั้วประสาทตา ทำลายประสาทตา ส่งผลเสียต่อการมองเห็นได้ในที่สุด 

อาการแบบไหนเรียกว่าต้อหิน

ต้อหินมักไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อนเหมือนโรคต้อทั่วไป เช่น ต้อกระจก ต้อลม ซึ่งอาการต้อหินของแต่ละคนก็จะมีความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน โดยเราสามารถแบ่งเป็นต้อหินชนิดต่างๆ ดังนี้

1.ต้อหินชนิดปฐมภูมิ

อาการของโรคต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุดคือต้อหินชนิดปฐมภูมิ (Primary Glaucoma) ที่มีสาเหตุหลักมาจากลักษณะของลูกตาและพันธุกรรม ซึ่งสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ 

-ต้อหินชนิดมุมเปิด

ต้อหินชนิดมุมเปิด (Open Angle Glaucoma) รูปแบบของต้อหินที่พบได้บ่อยมากที่สุด เกิดจากการไหลเวียนของของเหลวในลูกตาผิดปกติ ส่งผลให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น มักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีลานสายตาที่แคบลงโดยไม่รู้สึกว่าตามัว จนเมื่อตัวโรคเป็นมากแล้วผู้ป่วยจึงเริ่มรู้สึกว่าตามัวลง

-ต้อหินชนิดมุมปิด

ต้อหินมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma) มักเป็นอาการต้อหินแบบเฉียบพลัน ที่อยู่ดี ๆ ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นผิดปกติ และทำให้ตาที่เคยมองเห็นชัดเจนกลับขุ่นมัวอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่ามัว มองเห็นแสงรุ้งรอบไฟ มองเห็นภาพซ้อน ตาแดง หรือมีอาการอื่น ๆ ทางร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดดวงตารุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด 

ขณะเดียวกันในผู้ป่วยต้อหินบางรายก็มีอาการต้อหินมุมปิด ชนิดเรื้อรัง ที่ความดันในลูกตาจะค่อย ๆ ขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้ภาพตรงหน้ามัว หรือเบลอเป็นครั้งคราว รวมถึงอาจมีอาการปวดตา ปวดศีรษะ ร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ แต่โดยรวมแล้วผู้ป่วยจะไม่ทันได้สังเกตตัวเองว่ากำลังเผชิญกับโรคต้อหินอยู่ จึงมักจะปล่อยไว้ไม่เข้ารับการรักษา เพราะอาจคิดว่าเป็นอาการทั่วไปตามสภาพร่างกายที่ถดถอยเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น 

2.ต้อหินทุติยภูมิ

ต้อหินทุตยิภูมิ (Secondary Glaucoma) จะเป็นอาการของ ต้อหินสาเหตุ ต่างจากต้อหินชนิดปฐมภูมิ คือ เกิดจากปัจจัยภายนอก หรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้การไหลเวียนของเหลวในลูกตาผิดปกติไป เช่น ผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่เป็นมากจนต้อสุก ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุกระทบดวงตารุนแรง ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา รวมถึงผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดดวงตามาก่อนและเกิดผลข้างเคียงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จนเกิดเป็นโรคต้อหิน และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด 

3.ต้อหินแต่กำเนิด

สำหรับอาการต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) จะปรากฏในเด็กตั้งแต่เด็กแรกคลอดจนถึงอายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นต้อหินที่มีสาเหตุมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยสามารถสังเกตอาการของลูกน้อยได้ว่าดวงตาของน้อง ๆ หนู ๆ จะมีน้ำตาไหลอยู่ตลอด กระพริบตาบ่อย ไม่ค่อยลืมตา เนื่องจากไม่สามารถสู้แสงจ้าได้เท่าที่ควร หรือลักษณะดวงตาอาจมีความกลมโต ลูกตาดำใหญ่ สังเกตดี ๆ อาจเห็นลักษณะกระจกตาดำมีความขาวขุ่นร่วมด้วย 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหิน

ความดันลูกตาปกติจะอยู่ในช่วง 5-21 มิลลิเมตรปรอท ความดันที่สูงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง แต่ไม่ได้หมายความว่าหากความดันลูกตาสูงจะเป็นต้อหินเสมอไป อาจต้องดูปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ประกอบ ดังนี้ 

-อายุที่เพิ่มขึ้น ที่มีส่วนทำให้สุขภาพดวงตาเสื่อมถอย-การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อหิน ก็สามารถส่งต่อโรคต้อหินจากรุ่นสู่รุ่นได้-ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นมาก ๆ เนื่องจากมีลักษณะจอประสาทตาบาง ทำให้ความดันในลูกตากดทับเส้นประสาทตาได้ง่ายกว่าปกติ-ผู้ที่มีปัญหาสายตายาวมาก ๆ ที่มีลักษณะช่องด้านหน้าลูกตา และมุมตาแคบ มีส่วนทำให้การไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลเวียนได้ไม่ดีพอ ก็มีโอกาสทำให้เกิดต้อหินได้เช่นกัน-โรคไมเกรน-ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน-ผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดเกี่ยวกับดวงตามาก่อน หรือเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตาจนทำให้เกิดความเสียหายภายในลูกตา-การใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาโรคบางชนิดเป็นระยะเวลานาน-ผู้ที่มีลักษณะดวงตา หรือโครงสร้างลูกตาผิดปกติ เช่น มีมุมตาแคบลูกตาเล็ก หรือโรคตาโดยกำเนิดบางชนิดซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดต้อหิน

อันตรายของต้อหิน 

จะเห็นได้ว่าโรคต้อหินนั้นไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อนว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับต้อหินหรือไม่ เพราะรู้ตัวอีกทีคุณอาจสูญเสียการมองเห็น หรือร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้ในทันที หรือถ้าได้รับการรักษาแล้ว แต่รักษาไม่ต่อเนื่อง ก็ส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้การมองเห็นแคบลงกว่าเดิมได้อีกด้วย โรคต้อหินจึงถือเป็นโรค ต้อ ชนิดหนึ่งที่ควรระวังเป็นอย่างมาก โดยแนะนำว่าควรเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจะดีที่สุด 

เราสามารถป้องกันการเป็นต้อหินได้หรือไม่ 

เราไม่สามารถป้องกันการเป็นโรคต้อหินได้โดยตรง เพียงแต่เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ต้อหินมีอาการที่ย่ำแย่หรือรุนแรงกว่าเดิมได้ด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตามาก่อน ขณะเดียวกันก็ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงจนกระทบกับจอประสาทตา หรือดวงตาร่วมด้วย 

วิธีการรักษาต้อหิน

แม้ว่าเราจะไม่สามารถป้องกันการเกิดต้อหินได้ แต่เราสามารถเลือกแนวทางการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทตา หรือดวงตาของเราถูกทำลายเนื่องจากต้อหินได้ โดยวิธีการรักษาต้อหินมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

●การใช้ยาหยอดตา

เพื่อลดความดันภายในลูกตา การใช้ยาหยอดตาถือเป็นหนึ่งในวิธีรักษาต้อหินที่พื้นฐานที่สุด โดย ยาต้อหินเหล่านี้จะมีคุณสมบัติทั้งในการช่วยเพิ่มอัตราไหลของของเหลวในลูกตา และลดการผลิตของเหลวในดวงตา ส่งผลให้ความดันลูกตาลดลง

ทั้งนี้การใช้ยาหยอดตาเพื่อรักษาต้อหินจะออกฤทธิ์ได้ไม่นานนัก จำเป็นต้องใช้ตามความถี่ที่แพทย์สั่ง เพื่อประคับประคองอาการให้ไม่รุนแรง หากไม่ปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ ใช้ไม่ต่อเนื่องก็มีโอกาสที่ความดันในลูกตาจะกลับมาสูงขึ้น หรือถ้าใช้บ่อยจนเกินไปก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาและการมองเห็นได้เช่นกัน 

●การใช้เลเซอร์

ในผู้ป่วยที่ใช้ ยาต้อหิน รักษาแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถลดความดันในลูกตาให้กลับมาเป็นปกติได้ หรืออาจมีอาการแพ้ผลข้างเคียงของยา แพทย์ก็จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อดูแลรักษาต้อหินแทน หรืออาจแนะนำให้ทำเลเซอร์ควบคู่ไปกับการใช้ยาหยอดตาก็ได้ 

●การผ่าตัด

หากมีอาการต้อหินรุนแรง การผ่าตัดถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในการช่วยควบคุมอาการต้อหินไม่ให้รุนแรงหรือย่ำแย่ไปกว่าเดิม โดยจะเป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาใหม่ ทำให้สามารถลดความดันในตาให้กลับเป็นปกติได้ 

ต้อหิน เป็นปัญหาทางสายตาที่ไม่ควรละเลย เพราะไม่เพียงแต่จะไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้าแล้ว รู้ตัวอีกทีอาจจะสูญเสียการมองเห็นจนยากต่อการรักษาได้ ฉะนั้นควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและกำหนดหาแนวทางในการดูแลรักษาโรคต้อหินอย่างเหมาะสม

 คนสายตาเอียง (Astigmatism) มองเห็นภาพแบบไหน รักษาได้อย่างไรบ้าง
 ต้อหิน (Glaucoma) เป็นแล้วรีบรักษา ก่อนสูญเสียการมองเห็น
 หลังผ่าตัดต้อเนื้อจะเจ็บมากมั้ย พักฟื้นกี่วัน
 ต้อหินเฉียบพลันและต้อหินเรื้อรังต่างกันอย่างไร
 ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัย กับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)
 มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?
 ความต่างระหว่าง Femto Lasik vs ReLEx SMILE?
 สาเหตุ อาการ และการรักษา กระจกตาเป็นแผลมองไม่ชัด
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้
 ความแตกต่างของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและหนังตาตก

Copyright © 2024 All Rights Reserved.