เบาหวานขึ้นตา รีบรักษาก่อนตาบอด

 เบาหวานขึ้นตา รีบรักษาก่อนตาบอด

รู้เท่าทันเบาหวานขึ้นตาก่อนจะสายเกินแก้      

    ​ “เบาหวาน” หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่องทั่วโลก โดยพบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมาคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง   5.2 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 3 แสนคน โรคเบาหวานยังก่อเกิดภาวะแทรกซ้อนมากมายรวมถึงภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดทั่วโลก

รู้จักกับภาวะเบาหวานขึ้นตา  

    ​เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวานซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจนทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กที่จอประสาทตาได้รับความเสียหาย ภาวะเบาหวานขึ้นตาในระยะแรกจะยังไม่ค่อยปรากฏอาการ หรือแสดงอาการน้อยจนอาจทำให้ผู้ป่วยละเลยไม่ได้เข้ารับการตรวจตาตามคำแนะนำของแพทย์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรงและถาวรได้

ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานขึ้นจอตา

-      ระยะเวลาในการเป็นเบาหวาน ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานมีความเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอตา

-      คุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี

ชนิดของเบาหวานขึ้นตา

แบ่งตามระดับความรุนแรงของโรค   ​

เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy : NPDR)        ในระยะนี้จะพบความผิดปกติของผนังหลอดเลือดที่จอประสาทตา เช่น พบมีลักษณะหลอดเลือดโป่งพอง มีจุดเลือดออกหรือไขมันรั่วที่ชั้นจอตา   

เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้าหรือระยะที่หลอดเลือดใหม่เจริญเติบโต (Proliferative Diabetic Retinopathy : PDR) เป็นระยะที่เบาหวานขึ้นตาพัฒนาสู่ภาวะที่รุนแรงขึ้น มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้จะมีลักษณะไม่สมบูรณ์ ผนังของหลอดเลือดเปราะบาง จึงฉีกขาดได้ง่าย อาจส่งผลให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา พังผืดที่จอตา จอตาลอก และต้อหินได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นรุนแรงและถาวรได้หากทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา

อาการของเบาหวานขึ้นตา

สำหรับเบาหวานขึ้นตานั้น ในระยะแรกๆผู้ป่วยอาจยังมีการมองเห็นเป็นปกติหรือตามัวลงเพียงเล็กน้อย จนเมื่อการดำเนินโรครุนแรงมากขึ้น มีการรั่วของสารน้ำและโปรตีนมากขึ้น มีการบวมของจอตาบริเวณจุดรับภาพชัด ทำให้ตามัวลงได้ หรือหากโรคดำเนินไปสู่ระยะที่มีหลอดเลือดใหม่เจริญเติบโต อาจทำให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา พังผืดดึงรั้งจอตา จอตาฉีกขาดหลุดลอก หรือมีเส้นเลือดงอกใหม่เกิดขึ้นบนม่านตาทำให้เกิดภาวะต้อหินแทรกซ้อน จะทำให้ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็น ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นจะมีความรุนแรงต่างกันตามสาเหตุและระยะของโรค

ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตา

​การควบคุมโรคเบาหวานโดยการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆ เช่นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงให้ดี นับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาเบาหวานขึ้นตาทุกระยะ ช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้

วิธีรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาจะใช้วิธีการที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของอาการและความรุนแรงของโรค 

การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก

ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย จักษุ แพทย์จะนัดตรวจติดตามเป็นระยะ ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลใน เลือดและระดับน้ำตาลสะสมอย่างเคร่งครัด เพื่อยับยั้งความรุนแรงและชะลอการลุกลามของโรค ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยที่จะใส่ใจโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น  ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น การติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์จะช่วยให้พบความผิดปกติได้เร็วและสามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที 

การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า

การรักษาในระยะนี้จักษุแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาโดยคำนึงถึงปัญหา  สาเหตุ และอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

·        การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้ออกซิเจน ในจอตา ส่งผลให้หลอดเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติฝ่อลง หรืออาจยิงบริเวณใกล้จุดรับภาพชัด เพื่อควบคุมภาวะรั่วซึมของหลอดเลือดและ เพื่อให้จอตายุบบวม ทั้งนี้การรักษาด้วยเลเซอร์ไม่ได้ทำให้การมองเห็น  ดีขึ้นทันที เพียงแต่ช่วยชะลอการดำเนินของโรค

·        การรักษาด้วยวิธีการฉีดยา หากผู้ป่วยมีภาวะจุดรับภาพชัดบวมน้ำ (Diabetic macular edema หรือ DME) จักษุแพทย์อาจพิจารณาฉีดยา Anti – Vascular Endothelial Growth Factor (Anti –  VEGF) เข้าไปในวุ้นตาเพื่อลดอาการบวมของจุดรับภาพชัด เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีและช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้ นอกจากนี้การฉีดยาเข้าวุ้นยายังสามารถช่วยยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติได้ ทั้งนี้จักษุแพทย์อาจพิจารณาฉีด ยาเข้าวุ้นตาผู้ป่วยตามสาเหตุเป็นรายๆไป  

·        การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด หากตรวจพบว่าผู้ป่วยมีพังผืดดึงรั้งจอตา  เลือดออกในวุ้นตามาก จอประสาทตาลอก จักษุแพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดวุ้นตาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวร

จะเห็นได้ว่าภาวะเบาหวานขึ้นตามีวิธีการรักษาหลากหลายขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการและดุลยพินิจของจักษุแพทย์ ซึ่งแต่ละวิธีจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ทั้งนี้หาก ภาวะเบาหวานขึ้นตาอยู่ในขั้นรุนแรงอาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และ  เสี่ยงที่จะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดถาวรได้

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตา

  • เลือดออกในวุ้นตาผู้ป่วยจะมองเห็นเป็นจุดสีดำลอยหรือแดงลอยไปมา  หากเลือดออกในวุ้นตามากจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นรุนแรงได้  
  • จอตาลอกในผู้ป่วยเบาหวาน มักเป็นจอตาลอกจากพังผืดดึงรั้งจอตา  ความรุนแรงเป็นได้ตั้งแต่รุนแรงน้อยจนถึงรุนแรงมาก อาจทำให้สูญเสียการ มองเห็นขั้นรุนแรงหรือตาบอดได้ แม้จะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดก็ตาม
  • จุดภาพชัดบวมจากการรั่วของสารน้ำจากเส้นเลือด ทำให้ผู้ป่วยตามัวลงได้  
  • ต้อหินภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้เมื่อเข้าสู่ระยะที่มีการสร้างหลอดเลือด ใหม่ที่ผิดปกติ อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นขั้นรุนแรงหรือตาบอดถาวรได้

วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นจากภาวะเบาหวานขึ้นตา

-      สำหรับคนปกติทั่วไปที่ยังตรวจไม่พบว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรเลี่ยงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่จะนำไปสู่ภาวะของโรคเบาหวาน เช่น เลี่ยงหรือลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม อาหารแปรรูป รวมถึงกลุ่มคาร์โบไฮเดรต, รับประทานอาหารที่ให้กากใยสูง, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลี่ยงบุหรี่และแอลกอฮอล์ เป็นต้น

-      สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน นอกจากต้องเพิ่มความใส่ใจในการดูแลสุขภาพทั้งอาหารและการออกกำลังกายเช่นเดียวกับกลุ่มข้างต้นแล้ว ยังควร                                                             

·        ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดรวมถึงรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินตามที่แพทย์กำหนด          

·        พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 

·        หมั่นตรวจเช็กและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองโดยใช้เครื่องวัดน้ำตาล

·        ควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ   

·        หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เช่น ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน มองเห็นภาพมีจุดดำ เป็นต้น                                               

·        ผู้ป่วยเบาหวานควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นจอตา ด้วยการถ่ายภาพจอประสาทตา หรือพบจักษุแพทย์เพื่อขยายม่านตาตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องการมองเห็นก็ตาม หากมีภาวะเบาหวานขึ้นตาแล้ว ควรมาตรวจติดตามตามแพทย์นัด

·        หญิงตั้งครรภ์ที่มีเบาหวานเป็นโรคประจำตัว ควรเข้ารับการตรวจตาทันทีที่ตั้งครรภ์หรือภายในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากภาวะตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความรุนแรงของอาการเบาหวานขึ้นตา      

·        งดสูบบุหรี่

 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
 อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร
 ใครบ้างเสี่ยงเป็นต้อลม เป็นแล้วหายได้หรือไม่
 อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
 วิธีทดสอบสายตาอย่างไร ให้รู้ว่าเป็นภาวะสายตาเอียง (Astigmatism)
 Lasik ใบมีด และ FemtoLASIK ต่างกันอย่างไร
 รักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ด้วย PRK คืออะไร?
 ทำไมทำเลสิกแล้วตาแห้ง น้ำตาเทียมช่วยได้อย่างไร?
 เปรียบเทียบราคาการทำ LASIK แต่ละประเภท คุ้มไหมกับราคาที่ต้องจ่าย
 ไขข้อข้องใจ สายตาเอียง (Astigmatism) หายเองได้หรือไม่

Copyright © 2024 All Rights Reserved.