ต้อลม (pinguecula) รักษายังไงให้หายขาด
ต้อลมเกิดจากคอลลาเจนในตาเสื่อม อายุเท่าไรก็เป็นได้ ไม่ใช่โรคอันตรายถ้าไม่ลุกลามกลายเป็นโรคตาชนิดอื่น สามารถรักษาได้ แต่ไม่หายขาด
ต้อลม (Pinguecula) โรคนี้สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย อาจมาแฝงอยู่ในดวงตาของเราได้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง แต่สามารถทำให้มีอาการรบกวนชีวิตประจำวันได้มาก หากเราทราบปัจจัยสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ และรู้วิธีป้องกันรักษาภาวะนี้ จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้มาก
ต้อลมเกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากคอลลาเจนในเยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพ คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในเยื่อบุตาขาว เมื่อคอลลาเจนผิดปกติจะทำให้บริเวณตาขาวมีก้อนนูน ๆ เกิดขึ้น เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตาที่บริเวณตาขาว สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ อีกทั้งยังเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โรคนี้เกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่เข้าใจได้ว่าเป็นความเสื่อมสภาพของคอลลาเจน แต่ในคนอายุน้อย อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมคอลลาเจนจึงเสื่อมได้ทั้ง ๆ ที่อายุยังไม่มาก ความเสี่ยงต่อภาวะคอลลาเจนเสื่อมในคนอายุน้อยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นหรือควันบ่อย ๆ อยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง มีลมแรง แดดแรงทำให้ได้รับรังสียูวีมากกว่าปกติ ล้วนแล้วแต่เป็นภาวะกระตุ้นให้เนื้อเยื่อคอลลาเจนเสื่อมสภาพเร็ว
- การทำงานที่ต้องใช้สายตามาก เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน จากความเสี่ยงนี้จึงส่งผลทำให้พบผู้ป่วยต้อลมมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
- การทำงานอาชีพที่ส่งผลต่อสุขภาพ ต้องออกแดดกลางแจ้งเป็นประจำ เช่น งานก่อสร้าง งานช่างเชื่อมเหล็กที่ต้องเจอกับรังสีอินฟราเรดและรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการที่รังสีจะทำร้ายดวงตา หรือทำอาชีพเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่มีไอระเหย
- ตาแห้ง ดวงตามีน้ำตาน้อยกว่าปกติ ทำให้ผิวตาขาดความชุ่มชื้นเกิดการระคายเคืองจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย
- คนในครอบครัวพ่อแม่พี่น้องใครคนใดคนหนึ่งมีประวัติเป็นโรคต้อลม
- การสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ทำให้เกิดภาวะตาแห้งและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตา
ความผิดปกติของดวงตาที่เป็นต้อลม
อาการของโรคนี้เริ่มจากมีปุ่มขึ้นในตา อาจจะเป็นแผ่นเล็ก ๆ หรือเป็นเม็ดคล้ายเม็ดดินทราย มีสีขาว หรือสีเหลืองซีดเพราะไม่มีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยง ถ้ามองจากภายนอกไปที่นัยน์ตาในบริเวณตาขาวจะสามารถเห็นก้อนนี้ได้ เม็ดนี้มักจะขึ้นที่บริเวณหัวตามากที่สุด และมีขึ้นที่หางตาบ้างแต่น้อยกว่า ก้อนเนื้อที่ผุดขึ้นไม่มีอันตรายร้ายแรง ช่วงแรกอาจจะมีแค่อาการเคืองตา อาจมีอาการคันตา น้ำตาไหลบ่อยๆ ถ้าเป็นมากขึ้น จะสังเกตตาขาวเป็นสีแดงได้บ่อยๆ
การป้องกันดวงตาไม่ให้เกิดต้อลม
โรคนี้ป้องกันได้ถ้ารู้ตัวว่าต้องทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจนำไปสู่การเกิดต้อลม สามารถใช้วิธีป้องกันที่เหมาะสมกับตัวเอง วิธีป้องกันได้แก่
- การสวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองรังสีอัลตราไวโอเลตเมื่อออกนอกบ้านหรือต้องไปทำงานกลางแจ้ง สถานที่ที่มีลมแรง ลักษณะของแว่นควรมีกรอบปิดด้านข้างเพื่อให้สามารถกันฝุ่นและลมได้ด้วย ถ้าสามารถทำได้ให้เลี่ยงช่วงเวลาแดดจัดที่มีรังสีรุนแรงคือช่วงระหว่างเวลา 10.00 – 16.00 น.
- เวลาที่ต้องอยู่กลางแดดให้สวมหมวกไว้ด้วย เพื่อป้องกันรังสียูวีอีกชั้นไม่ให้ส่องหน้าและดวงตา
- สวมแว่นตาเมื่อนั่งทำงานในห้องแอร์ที่อากาศแห้งมาก
- สวมแว่นตานิรภัยในสถานที่ทำงานที่มีสารเคมีหรือแสงไฟเชื่อมโลหะ
- งดสูบบุหรี่
- ใช้น้ำตาเทียมเพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับดวงตาเมื่อรู้สึกตาแห้งเป็นระยะ
- พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เวลาทำงานทุกๆ 20-30 นาที ด้วยการเปลี่ยนจากมองที่หน้าจอ เป็นมองไกลออกไปนานประมาณ 1 นาที
การดูแลดวงตาเมื่อเป็นต้อลมระยะเริ่มต้น
ใครที่ไม่ทันระวังการใช้สายตาและพบว่าโรค ต้อลม มาเยือนเร็วกว่าที่คิด ควรรีบป้องกันและรักษาโรคไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ โดยปกติแพทย์จะให้ยาหยอดตามาใช้เพื่อลดการระคายเคือง ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบ และอาจใช้น่ำตาเทียมร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา
นอกจากการใช้ยาหยอดตาแล้วแพทย์จะแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังการใช้สายตาและการดูแลดวงตาให้มากขึ้น ไม่ปล่อยให้ดวงตาตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงซ้ำอีก ใส่แว่นป้องกันดวงตาจากการถูกลม แสงแดด และปัจจัยอื่นๆที่เป็นตัวกระตุ้นการอักเสบ รวมถึงการระมัดระวังพฤติกรรมที่จะส่งผลต่อการลุกลามของโรค เช่น การขยี้ตาแรง ๆ จะทำให้ต้อลมอักเสบมากขึ้นได้
สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ต้อลมอักเสบ
นอกจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่จะมากระตุ้นให้ ต้อลมอักเสบมากขึ้นแล้ว สิ่งที่ควรระวังอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อดวงตามีการระคายเคืองมากกว่าปกติ ต้อลมและบริเวณรอบๆ จะบวมแดงมากขึ้นและอาจมีอาการลุกลามกลายเป็นต้อเนื้อได้ ต้องระมัดระวังไม่ให้มือสัมผัสดวงตาและไม่ให้ดวงตาเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงโดยเด็ดขาด เพราะการลุกลามอาจทำให้เกิดพังผืดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุตา พังผืดนี้มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีแดง ถ้าเป็นมากขึ้นจะลามเข้าไปถึงบริเวณตาดำ กลายเป็นต้อเนื้อ หากต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถไปรูม่านตา ทำให้เกิดสายตาเอียงมากขึ้นและทำให้การมองเห็นแย่ลง หากไม่หลีกเลี่ยงต้นตอของโรคต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จะทำให้ตามัวลง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อในที่สุด
การรักษาต้อลมให้หายขาดทำได้หรือไม่?
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะได้รับการบรรเทาอาการระคายเคืองและอักเสบด้วยยาหยอดตา แต่ไม่ใช่วิธีที่จะรักษาให้ต้อลมจางหายได้ ดังนั้นคงมีโอกาสที่ต้อลมกลับมาอักเสบได้อีกเรื่อยๆ หากยังสัมผัสปัจจัยเสั่ยง แต่เนื่องจาก ต้อลมชนไม่อันตรายและมีขนาดเล็กอยู่ในบริเวณตาขาวเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อการมองเห็น แพทย์จึงไม่แนะนำให้ผ่าตัด ยกเว้นกรณีที่คนไข้ต้องการผ่าเพื่อความสวยงามเท่านั้น
การรักษาที่ดีที่สุด คือ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อลม
- หากมีอาการเคืองตาหรือตาแดง มากขึ้น ควรเข้ารับคำแนะนำจากจักษุแพทย์ ใช้ยาหยอดตาเมื่อมีอาการคันเคืองตาหรือตาแดง โดยใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกินกว่าแพทย์สั่ง และที่สำคัญไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง
สาเหตุที่ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เนื่องจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาหยอดตาเสตียรอยด์ ไปนานๆ อาจทำให้เป็นโรคตาชนิดอื่นๆ ได้ และนำไปสู่ภาวะอันตรายที่ทำให้ตาบอดถาวร นอกจากนั้นการซื้อยาหยอดตาเองเราอาจจะได้ยาที่ไม่ตรงกับสาเหตุที่เป็นโรค ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกเนื้ออักเสบและตาขาวมีสีแดง หากไปซื้อยาที่ร้านขายยาเองเภสัชอาจเข้าใจว่าเป็นโรคตาแดงหรือเป็นภูมิแพ้จึงนำยาหยอดสำหรับโรคตาแดงและยาแก้แพ้มาให้ เป็นการรักษาที่เสียเปล่าเพราะไม่ตรงจุด นอกจากนี้การซื้อยาหยอดตามาใช้อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาชนิดอื่นได้ จากเรื่องของก้อนเนื้อเล็ก ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่และมีอาการลุกลาม
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.