กินหวานบ่อยๆ เสี่ยงเป็นภาวะเบาหวานขึ้นตาไหม

 กินหวานบ่อยๆ เสี่ยงเป็นภาวะเบาหวานขึ้นตาไหม

เบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นภาวะเบาหวานขึ้นตามากขึ้น

​หากพูดถึงโรคประจำตัวเรื้อรังที่คนไม่อยากเป็นมากที่สุด มั่นใจว่าส่วนใหญ่ต้องนึกถึงโรคเบาหวาน เพราะนอกจากจะนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ แล้ว ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน อย่างเบาหวานขึ้นตาเองก็น่ากลัวไม่แพ้กันด้วยสามารถทำให้สูญเสียการมองเห็นหากไม่รีบทำการรักษา ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน รวมถึงพยายามหา อาหารเสริมบำรุงสายตา และ วิตามินบำรุงสายตา เพื่อลดความเสี่ยง แต่ความจริงแล้วอาหารหวานหรือขนมหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาจริงหรือไม่ เรามีคำตอบมาฝาก 

ภาวะเบาหวานขึ้นตาคืออะไร

    ​ก่อนไปดูสาเหตุที่ทำให้มีภาวะเบาหวานขึ้นตาต้องทำความเข้าใจว่าเบาหวานขึ้นตา หรือ Diabetic Retinopathy ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นจากการที่คนเป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้เส้นเลือดบริเวณดวงตาอักเสบและอุดตันตามมา ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ สร้างความเสียหายให้กับจอประสาทตา ส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็นและอาจถึงขั้นกลายเป็น คนตาบอดถาวร หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายได้

สาเหตุเบาหวานขึ้นตามาจากของหวานจริงหรือ ​

    ​หากถามว่าเบาหวานขึ้นตาเกิดจากการรับประทานของหวานหรือไม่ คำตอบคือการรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวานหรือมีน้ำตาลสูงเป็นสาเหตุที่คนเป็นเบาหวานเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา เนื่องจากเหตุผลที่เป็นเบาหวานเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอหรือเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองอินซูลินทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้ ร่างกายจึงมีระดับน้ำตาลเลือดสูง ส่งผลเสียต่อระบบไหลเวียนโลหิตและความเสียหายต่อหลอดเลือด ด้วยเหตุนี้การรับประทานอาหารมีปริมาณน้ำตาลสูงจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างเบาหวานขึ้นตา

ระยะความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นตา 

ภาวะเบาหวานขึ้นตาตามความรุนแรงของอาการสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือระยะแรกและระยะก้าวหน้า ซึ่งในแต่ละระยะมีลักษณะอาการและความรุนแรงดังนี้

● ​ภาวะเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก

สำหรับภาวะเบาหวานขึ้นตาระยะแรก เรียกว่าระยะ Nonproliferative Diabetic Retinopathy หรือ NPDR เป็นระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ แต่ผนังหลอดเลือดเดิมที่จอประสาทตามีการโป่งพอง ไม่แข็งแรง และของเหลวไหลออกมาในจอตาทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตาบวม ซึ่งหากมีการรั่วซึมของหลอดเลือดบริเวณจุดรับภาพชัดจะทำให้มีภาวะจุดรับภาพชัดบวมส่งผลต่อการมองเห็น และก่อให้เกิดภาวะจอตาหรือจุดภาพชัดขาดเลือดจากปัญหาหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นกลายเป็น คนตาบอด ได้เช่นกัน

● ​ภาวะเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า

สำหรับภาวะเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า เรียกว่า Proliferative Diabetic Retinopathy หรือ PDR เป็นระยะที่ร่างกายสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนหลอดเลือดเก่าที่มีปัญหาอุดตันจนทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ แต่หลอดเลือดใหม่ที่สร้างไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ส่งผลให้หลอดเลือดใหม่ไม่แข็งแรง ผนังหลอดเลือดเปราะบาง ซึ่งหากมีการฉีกขาดทำให้เลือดออกในวุ้นตา ภาวะพังผืดรั้งจอตา และปัญหาจอตาลอก นอกจากนั้นหากหลอดเลือดที่สร้างใหม่ไปกระทบกับระบบระบายน้ำออกจากลูกตาจะทำให้ความดันลูกตาสูง ส่งผลทำให้ระบบประสาทตาเกิดความเสียหายและยังก่อให้เกิดโรคต้อหินในอนาคตได้

อาการภาวะเบาหวานขึ้นตา

 การตรวจสอบระยะของภาวะเบาหวานขึ้นตาต้องดำเนินการโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งปกติแล้วผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับการตรวจเบาหวานขึ้นตาเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง เพื่อหาความผิดปกติและประเมินความเสี่ยง แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังตั้งครรภ์จะต้องรับการตรวจตั้งแต่ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขึ้นตาระดับรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใครที่ยังไม่เคยตรวจและเป็นกังวลเรื่องเบาหวานขึ้นตาสามารถสังเกตอาการของตัวเองได้ดังนี้

● ​คุณภาพการมองเห็นลดลงอย่างเห็นได้ชัด การมองเห็นไม่คงที่ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน

● ​มองภาพเป็นจุดหรือมีใยดำ ๆ ลอยอยู่ในระยะมองเห็น

● ​ภาพที่เห็นมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นภาพเบี้ยว สีเพี้ยน สีภาพจางลง แยกแยะสีไม่ได้ หรือเห็นแถบสีดำอยู่ในระยะมองเห็น

การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตา   ​

เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาจึงเป็นการพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับน้ำตาลสะสมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดความรุนแรงของอาการและการสูญเสียการมองเห็น ซึ่งกรณีที่ภาวะเบาหวานขึ้นตายังอยู่ในระยะแรกหรือระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และสังเกตอาการผิดปกติของดวงตา แต่ในกรณีที่เป็นภาวะเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้าหรือมีการสร้างเส้นเลือดใหม่แล้วมีวิธีการรักษา 3 วิธี ได้แก่

● ​การรักษาด้วยการทำเลเซอร์

เป็นวิธีการรักษาเบาหวานขึ้นตาที่ใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสร้างหลอดเลือดใหม่ร่วมกับภาวะจุดภาพชัดบวม เนื่องจากการทำเลเซอร์จะทำให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติฝ่อ ลดอาการจอตาบวมแดงและภาวะเลือดออกในดวงตา ซึ่งข้อดีของการทำเลเซอร์คือเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่จะต้องทำเลเซอร์หลายครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้สายตาแย่ลงและต้องดำเนินการโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

● ​การรักษาด้วยยา

เป็นวิธีการรักษาเบาหวานขึ้นตาแบบใหม่ โดยแพทย์จะฉีดยา Anti – Vascular Endothelial Growth Factor (Anti – VEGF) หรือยากลุ่มสเตียรอยด์เข้าไปที่วุ้นตา เพื่อลดการรั่วซึมของหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดฝ่อ สำหรับจุดเด่นของการรักษาด้วยยาคือได้ผลลัพธ์ดี เห็นผลชัดเจน แต่การรักษาด้วยยาจำเป็นจะต้องฉีดยาหลายครั้งและมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อน อย่างการติดเชื้อ เลือดออกในวุ้นตา และจอตาลอก จึงควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยงมากขึ้น

● ​การรักษาด้วยการผ่าตัด

เป็นวิธีการรักษาเบาหวานขึ้นตาที่เหมาะกับคนที่มีปัญหาเลือดออกในวุ้นตาหรือมีพังผืดจนเกิดปัญหาจอตาลอก แพทย์จะดำเนินการผ่าตัดวุ้นตาเพื่อรักษาจอตาหลุดลอก ลดการฉีกขาด รวมถึงซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอาจทำให้คุณภาพการมองเห็นลดลง แต่ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายจอตาของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

การดูแลตัวเองลดความเสี่ยงภาวะเบาหวานขึ้นตา

​แม้ว่าภาวะเบาหวานขึ้นตาจะมีการรักษาที่ช่วยลดความรุนแรงของอาการ แต่ถึงอย่างนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งวิธีการดูแลตัวเองง่าย ๆ มีดังต่อไปนี้

● ​ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานยาเบาหวานตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

● ​ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ให้อยู่ในระหว่าง 18.5 - 24.9

● ​ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันสูง

● ​ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงระดับความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

● ​ผู้ป่วยเบาหวานควรหมั่นสังเกตการมองเห็นของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาอย่างรวดเร็ว คุณภาพการมองเห็นลดลง ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน ภาพที่เห็นมีลักษณะบิดเบี้ยว สีจางลง มีจุดในระยะมองเห็น หรือมีแถบสีขึ้นในระยะมองเห็น ควรรรีบไปพบแพทย์ทันที

● ​หากผู้ป่วยเบาหวานต้องการรับประทาน อาหารเสริมบำรุงสายตา หรือ วิตามินบำรุงสายตา ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

● ​ผู้ป่วยเบาหวานควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันสะสมในร่างกาย

●     ผู้ป่วยเบาหวานควรเข้ารับการตรวจภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจดวงตาและประเมินความเสี่ยงของภาวะเบาหวานขึ้นตา

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าเบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงสูญเสียการมองเห็นแล้ว ยังนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยเหตุนี้การดูแลตัวเอง ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง และตรวจตาเป็นประจำจะช่วยให้ห่างไกลจากภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ยิ่งขึ้น

 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้
 อาการตาแห้งแก้ได้อย่างไร ต้องหยอดตาหรือไม่
 จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นต้อหินเฉียบพลัน
 คัดมาแล้ว! 5 อาหารเสริมบำรุงสายตา ลดเสี่ยงตาเสื่อมในวัยทำงาน
 ตรวจวัดสายตากับนักทัศนมาตรดีจริงไหม
 How To สวมคอนแทคเลนส์สายตาให้ปลอดภัย เคล็ดลับที่ต้องรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์
 ความดันในลูกตาสูง เสี่ยงเป็นต้อหินจริงไหม ต้อหินมุมปิดอันตรายอย่างไร
 Lasik ใบมีด และ FemtoLASIK ต่างกันอย่างไร
 ทำความรู้จัก “ต้อลมในผู้สูงวัย” เป็นแล้วรักษาให้หายได้หรือไม่
 นักทัศนมาตร (Optometrist) คือใคร ทำไมต้องตัดแว่นกับนักทัศนมาตร

Copyright © 2024 All Rights Reserved.