กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) กี่วันหาย ใช้ยาอะไร

 กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) กี่วันหาย ใช้ยาอะไร

กระจกตาถลอก ปวดตา ตาบวม รีบเช็กด่วนว่ามีการติดเชื้อไปยังเยื่อบุตาและตาส่วนอื่นๆ หรือไม่ ใช้ยาหยอดตาช่วยบรรเทาได้ ในเวลาไม่กี่วันแผลถลอกจะสมานตัวเอง 

ดวงตาเป็นอวัยวะบอบบาง ถ้าสิ่งแปลกปลอมที่มีพิษ มีความคม หรือไม่สะอาดกระเด็นเข้าตา ส่วนแรกสุดที่จะได้รับอันตรายก็คือกระจกตา สิ่งของมีคมเพียงชิ้นเล็กๆ อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) หากรู้สึกเจ็บตาปวดตา ตาบวมตาแดง กระจกตาของคุณอาจกำลังบาดเจ็บหรืออักเสบ เราควรทำอย่างไรถ้ากระจกตาถลอก สามารถใช้ยาแบบไหนได้บ้าง กว่าจะหายใช้เวลานานไหม หาคำตอบได้ในบทความนี้

กระจกตาปราการด่านแรกของการมองเห็น

ในกระบวนการทำงานของดวงตาที่ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้นั้นมีจุดเริ่มต้นที่กระจกตา (Cornea) ปราการด่านแรกซึ่งทำหน้าที่รับแสงสะท้อนจากวัตถุภายนอกและเบี่ยงเบนแสงให้ลอดผ่านรูม่านตา ต่อไปยังเลนส์ตา เลนส์จะทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงให้ตกที่จอประสาทตาในจุดโฟกัส จากนั้นเซลล์ที่อยู่ในจอประสาทตาจะเปลี่ยนแสงเป็นคลื่นไฟฟ้าเพื่อนำส่งต่อไปยังสมองให้แปลสัญญาณเป็นภาพ 

กระจกตามีลักษณะเป็นเยื่อใส ไม่มีเส้นเลือดฝอยเพราะต้องทำหน้าที่รับภาพ กระจกตาเป็นส่วนที่อยู่บริเวณตาดำ มีความโค้งตามรูปตา นอกจากทำหน้าที่รับแสงและเบี่ยงเบนแสงแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ส่วนต่างๆ ที่อยู่ด้านในของดวงตาอีกด้วย กระจกตาแบ่งเป็น 5 ชั้น

1.Epithelium เป็นชั้นป้องกันด้านนอกสุด หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาชั้นนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด สามารถใช้การหยอดตาช่วยบรรเทาอาการปวดตาได้

2.Bowman’s Layer ทำหน้าที่คอยซัปพอร์ตรูปทรงของกระจกตาเอาไว้

3.Stroma ชั้นกระจกตา มีความหนาและแข็งแรงกว่าชั้นอื่น ในภาวะปกติจะมองเห็นเป็นตาดำใส แต่ถ้ามีบาดแผลหรือติดเชื้อจะเป็นสีขาวขุ่น

4.Descemet's membrane ชั้นของเซลล์ มีความยืดหยุ่นสูง

5.Endothelium อยู่ในสุด ทำหน้าที่ดูดน้ำออก ป้องกันการบวมน้ำ

กระจกตาประกอบด้วยชั้นต่างๆ ถึง 5 ชั้น จึงมีความหนาและแข็งแรง แต่ก็มีโอกาสที่จะบางลงได้เมื่ออายุมากขึ้นหรือเกิดจากค่าความโค้งของกระจกตาผิดปกติ เมื่อความหนาลดลงจะส่งผลให้ตาไม่สู้แสง ตาพร่ามัว ค่าสายตาเปลี่ยนได้ง่ายอาจจะสายตาสั้นมากขึ้นหรือสายตาเอียงมากผิดปกติ อีกกรณีหนึ่งคือกระจกตาบางเพราะเป็นโรคกระจกตาโป่งพอง เกิดจากความดันตาสูงและดันกระจกตาจนนูนออกมา

ปวดตา ตาบวม อาการต้องเช็ก

อาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากกระจกตาถลอกคืออาการปวดตา ตาบวมจากการบาดเจ็บเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปกระทบผิวกระจกตา ทำให้กระจกตาถลอกและมีอาการอักเสบตามมา หรืออาจจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราด้วยก็ได้ เมื่อรู้สึกเจ็บและมีอาการบวมควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสม แพทย์จะทำการตรวจโดยการแต้มสีฟลูออเรสซีนลงบนผิวกระจกตาแล้วส่องดูความผิดปกติจากกล้องจุลทรรศน์ อีกวิธีหนึ่งคือนำตัวอย่างขี้ตา น้ำตา เซลล์กระจกตาไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ หลักๆ คือสาเหตุจากการติดเชื้อ ซึ่งมีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และเชื้อปรสิต หากพบเชื้อใดเชื้อหนึ่งจะทำการรักษาตามประเภทของเชื้อและความรุนแรง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยยาหยอดเพื่อต้านเชื้อโรคหรือให้รับประทานยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อร่วมกับยาหยอดตา หากการติดเชื้ออยู่ในขั้นรุนแรงมาก โดยไม่มีอาการตอบสนองต่อยาจะต้องใช้วิธีผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาใหม่ สิ่งสำคัญคือต้องเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นบริเวณชั้นตาด้านในที่ลึกเข้าไป จะทำให้เป็นอันตรายและสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

เยื่อบุตาอักเสบจากกระจกตาถลอก 

กระจกตาเป็นส่วนที่อยู่บริเวณตาดำเมื่อเกิดการอักเสบ ถลอกเป็นแผล และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจลุกลามไปยังบริเวณอื่นภายในดวงตา อาการที่จะเกิดร่วมด้วยคือเยื่อบุตาอักเสบเพราะเยื่อบุตาเป็นบริเวณใกล้เคียง เป็นส่วนของตาขาวที่อยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของกระจกตา เยื่อบุตาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่หล่อเลี้ยงดวงตาและช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับดวงตา ดังนั้นจึงควรระมัดระวังไม่ให้เชื้อโรคลุกลามไปทำลายเยื่อบุตาของเรา หากเยื่อบุตาได้รับผลกระทบติดเชื้อที่ลุกลามไปด้วยก็จะเกิดอาการเจ็บตา ตาแดง อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุตาอาจมาจากสาเหตุอื่นได้ด้วย เช่น การแพ้สารเคมี หรือเกิดจากฝุ่นละออง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้จะติดเชื้อที่ตาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น หญิงตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น

โรคเยื่อบุตาอักเสบเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโรคตาแดง เพราะมีการขยายตัวของเส้นเลือดในบริเวณตาขาว เริ่มจากตาข้างใดข้างหนึ่ง หากอาการรุนแรงมากตาจะแดงมากและลุกลาม มีขี้ตาออกมาเป็นสีเหลืองขุ่น ตาไม่สู้แสง บางคนมีอาการตาบวม

รักษาแผลถลอกด้วยการหยอดตา

สำหรับการรักษาอาการกระจกตาถลอกควรรีบใช้ยาตั้งแต่ยังมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถใช้วิธี การหยอดน้ำตาเทียม ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ทำให้รู้สึกสบายตามากขึ้น ส่วนแผลที่เกิดบนกระจกตาจะมีกระบวนการเยียวยาตัวเองตามธรรมชาติ ถ้าเป็นแผลไม่มากจะหายเร็ว นอกจากยาเพิ่มความชุ่มชื้นแล้วแพทย์จะให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ ยาปฏิชีวนะที่ใช้กับดวงตาควรใช้ตามคำสั่ง คุณสมบัติของยาต่างๆ จะช่วยลดการติดเชื้อ กระตุ้นการรับเยื่อบุใหม่  และลดความไวต่อแสงเพราะตาจะไม่สู้แสงในช่วงที่เป็นแผลถลอก นอกจากนี้ยาจะต้องมีคุณสมบัติลดรอยแผลเป็นที่กระจกตาเพราะการมีรอยแผลเป็นจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็น

การรักษากระจกตาถลอกสำหรับผู้ป่วยบางคนจะต้องใช้การปิดตา เพื่อปกป้องรอยแผล ลดอาการปวดได้มากขึ้น และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นกว่าปกติ ส่วนคอนแทคเลนส์ที่ใช้เพื่อปรับค่าสายตาหรือเพื่อความสวยงามไม่ควรนำมาใช้ในช่วงที่กระจกตามีแผล ควรรอให้หายเป็นปกติดีก่อน

ระยะเวลาในการรักษาให้เป็นปกติ

กระจกตาถลอกที่มีอาการเพียงเล็กน้อย โดยไม่ได้มีการติดเชื้อ ไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ใช้เวลารักษาประมาณ 2-3 วัน จึงจะหาย รอยแผลจะมีการสมานตัวเองในเวลาอันรวดเร็วเมื่อได้รับการรักษาเร็ว และหลังจากที่ได้ฟื้นตัวจนแผลถลอกหายดีแล้วดวงตาจะกลับมามองเห็นได้ตามปกติ ในทางตรงกันข้ามหากไม่ได้รีบทำการรักษารอยถลอกอาจกลายเป็นแผลใหญ่ขึ้นหรือมีการติดเชื้อที่กระจกตาใหม่จนสูญเสียการมองเห็นได้ ส่วนในกรณีที่เป็นรอยถลอกลึกที่บริเวณหน้ารูม่านตา มีอาการ ปวดตา ตาบวมจะรักษาได้ยากกว่าและทิ้งรอยแผลเป็นให้ติดอยู่กับกระจกตาในอนาคตต่อไป

ข้อควรปฏิบัติระหว่างการรักษา

  • ระหว่างการรักษากระจกตาถลอกควรใส่ที่ครอบตาหรือแว่นตาเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกสิ่งแปลกปลอม และสารเคมีต่างๆ ที่อาจเข้าตา ผู้รับการรักษาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้อาการกระจกตาถลอกหายเร็วขึ้น
  • พบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะตรวจเช็กอีกรอบเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกข้อหรือยัง และได้ปฏิบัติอย่างถูกวิธีหรือไม่ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นอาจทำให้กระจกตามีอาการกำเริบและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย
  • สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรงดใส่ในช่วงรักษากระจกตา หลังจากที่หายดีแล้วสามารถกลับมาใส่ได้ แต่ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแลด้วยว่าควรใส่คอนแทคเลนส์แบบไหนที่ไม่เป็นการทำร้ายดวงตาซ้ำอีก
 สาเหตุการเกิดต้อเนื้อ พร้อมวิธีรักษาและการดูแลหลังผ่าตัดต้อเนื้อ
 จะรู้ได้อย่างไรว่าเบาหวานขึ้นตา
 ตรวจวัดสายตากับนักทัศนมาตรดีจริงไหม
 เฝ้าระวังต้อกระจก (Cataract) เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรให้มองเห็นชัดเจนอีกครั้ง
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้
 ต้อหินเฉียบพลันและต้อหินเรื้อรังต่างกันอย่างไร
 ไขข้อข้องใจ สายตาเอียง (Astigmatism) หายเองได้หรือไม่
 กินหวานบ่อยๆ เสี่ยงเป็นภาวะเบาหวานขึ้นตาไหม
 ICL หรือ Implantable Collamer Lens ทางเลือกใหม่การรักษาสายตาผิดปกติ
 นักทัศนมาตร (Optometrist) คือใคร ทำไมต้องตัดแว่นกับนักทัศนมาตร

Copyright © 2024 All Rights Reserved.