วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
วุ้นตาคืออะไร
วุ้นตา (Vitreous Humor) เป็นส่วนประกอบภายในดวงตา มีลักษณะเป็นวุ้นหนืดโปร่งใสคล้ายเจลที่เติมเต็มช่องว่างระหว่างเลนส์ตากับจอประสาทตาในส่วนหลังของลูกตา และมีส่วนที่ยึดติดกับพื้นผิวจอตา โครงสร้างของวุ้นตาประกอบด้วยน้ำประมาณ 98-99%, เส้นใยคอลลาเจน, และกรดไฮยาลูโรนิกในปริมาณเล็กน้อย วุ้นตามีหน้าที่ช่วยรักษารูปร่างของลูกตา ประคองและช่วยดูดซับแรงกระแทกต่อจอประสาทตา
รู้จักภาวะวุ้นตาเสื่อม
เมื่ออายุมากขึ้น วุ้นตาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการสูญเสียความเหนียวข้นของเจลและเกิดการเสื่อมของน้ำวุ้น หรือที่เรียกว่า Syneresis เส้นใยคอลลาเจนที่เคยจัดเรียงอย่างแน่นหนาจะหลวมขึ้น ส่งผลให้วุ้นตามีสภาพเป็นของเหลวมากขึ้น วุ้นตาที่เสื่อมจะมีความเหลวขึ้น มีการหดตัว รวมทั้งอาจขุ่นขึ้นด้วย เมื่อแสงผ่านวุ้นตาที่เสื่อม จะหักเหทำให้เห็นเป็นเงาดำ โดยอาจทำให้เห็นเป็นลักษณะของจุดดำหรือหยากไย่ลอยไปมา
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภาวะวุ้นตาเสื่อม
-อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะวุ้นตาเสื่อม เป็นการ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามปกติ
- ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น จะพบปัญหาวุ้นในตาเสื่อมได้ไวกว่าคนปกติ
- เคยได้รับอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณดวงตา
- เคยได้รับการผ่าตัดตา
อาการของภาวะวุ้นตาเสื่อม
- มองเห็นจุดดำหรือเงาคล้ายหยากไย่ลอยไปมา (Floaters) บางครั้งอาจเห็นเป็นจุดขาวหรือใสๆ อาจจะเป็นจุดเดียวหรือหลายๆจุดก็ได้ และสามารถเป็นในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ มักเป็นตามการกลอกตาและอาจเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออยู่ในที่สว่าง เช่นมองท้องฟ้า หรือพื้นหลังสีขาวๆ
- โดยทั่วไปภาวะนี้จะไม่รบกวนหรือทำให้สูญเสียการมองเห็น เพียงแต่อาจทำให้รู้สึกรำคาญเท่านั้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยมักจะมีความเคยชินและรู้สึกว่าอาการลดลงไปได้เอง
- หากวุ้นตามีความเสื่อมมากขึ้น วุ้นตาอาจลอกตัวจากผิวจอตา ทำให้เกิดการกระตุ้นจอตา ทำให้เห็นเป็นแสงแฟลชวาบในตา (Flashing) คล้ายแสงฟ้าแลบหรือแฟลชกล้องถ่ายรูป ซึ่งอาจเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืด อาการนี้อาจลดลงและหายไปเมื่อวุ้นตาแยกตัวออกจากจอประสาทตาอย่างสมบูรณ์ซึ่งทำให้จอตาถูกดึงรั้งลดลง
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะวุ้นตาเสื่อม
- การฉีกขาดของจอประสาทตา (Retinal Tears) เกิดจากแรงจากการหดตัวของวุ้นตาไปดึงรั้งจอประสาทตาทำให้จอประสาทตาเกิดการฉีกขาด อาจนำไปสู่ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก หากได้รับการรักษาไม่ทัน
- จอประสาทตาหลุดลอก (Retinal Detachment) เป็นภาวะที่รุนแรงซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นหากไม่ได้รับการรักษา
การดูแลภาวะวุ้นตาเสื่อม
โดยทั่วไป ภาวะวุ้นตาเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ ไม่ได้เป็นภาวะที่อันตรายและไม่จำเป็นต้องทำการรักษา ผู้ที่มีอาการจุดดำลอยไปมาหรือเห็นแสงแฟลชในตา ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อขยายม่านตาตรวจจอประสาทตาและน้ำวุ้นตาโดยละเอียด จักษุแพทย์อาจทำการนัดตรวจติดตามเป็นระยะ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการผิดปกติมากขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอาการ ดังนี้ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์
- จุดดำหรือเงาหยากไย่ที่ลอยไปมามีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีมากขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
- เห็นแสงแฟลช แสงวาบถี่มากขึ้น
- ตามัวลง หรือมองเห็นคล้ายมีฉาก เงาดำ หรือม่านมาบัง
ในกรณีที่ตรวจพบรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา แพทย์จะทำการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์เพื่อปิดล้อมรอยฉีกขาดนั้น หรือในกรณีที่จอประสาทตาหลุดลอก อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดจอประสาทตา
การเตรียมตัวเพื่อมาตรวจจอประสาทตาโดยการขยายม่านตา
- ไม่ควรขับรถมาเอง เนื่องจากหลังจากขยายม่านตา จะทำให้มีอาการตาพร่า ไม่โฟกัส ซึ่งจะกลับมาเป็นปกติ ในเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง
- ควรมีญาติมาด้วย
- อาจเตรียมแว่นดำมาสวมหลังจากรับการตรวจเสร็จแล้ว
สรุป
ภาวะวุ้นตาเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามปกติในคนทั่วไป ไม่ได้เป็นภาวะทีอันตรายและไม่จำเป็นต้องทำการรักษา โดยทั่วไปภาวะวุ้นตาเสื่อมไม่ทำให้ ตาบอด ยกเว้นเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกที่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำลผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ผู้ที่มีอาการวุ้นตาเสื่อมควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากมีสัญญาณเตือนดังกล่าวข้างต้น ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.