มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?
เชื่อว่าหลายคนคงเคยสังเกตเวลามองไปบนฟ้าหรือผนังสีขาวจะเห็นเงาดำคล้ายแมลงหรือหยากไย่ลอยไปลอยมา แต่พอตั้งใจเพ่งสายตาเงาดำเหล่านั้นกลับหายไป หากใครพบว่าตัวเองมีอาการแบบนี้แล้วละก็ อาจกำลังเสี่ยงเกิดภาวะวุ้นตาเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน บทความวันนี้จึงอยากพาไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถหาแนวทางการรักษาและดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
ทำความรู้จักกับวุ้นตา (Vitreous, Vitreous humor)
วุ้นตา (Vitreous) คือ วุ้นใสมีความหนืดคล้ายไข่ขาวมีลักษณะเหมือนเจลอยู่ภายในลูกตาบริเวณหลังเลนส์ตา เป็นองค์ประกอบสำคัญในดวงตา มีปริมาณมากถึง 4 ใน 5 ของลูกตา ในวุ้นตาประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ 98 - 99% ส่วนที่เหลือเป็นสารให้ความชุ่มชื้น เช่น ไฮยารูโรนิกเอซิด (Hyaluronic acid) มูโคโพลีแซกคาไรด์ (Mucopolysaccharide) คอลลาเจน (Collagen) เกลือแร่ต่างๆ และโปรตีน วุ้นตามีลักษณะเป็นเส้นไฟเบอร์เรียงตัวสม่ำเสมอคล้ายเจลใสทำให้แสงที่ผ่านเข้าสู่ดวงตาสามารถผ่านวุ้นตาไปได้สะดวก
วุ้นตาทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในดวงตา ทำให้ดวงตาของเราคงรูป วุ้นตาจะวางแนบชิดกับจอประสาทตา บางส่วนยึดแน่นกับขอบของจอประสาทตา ขั้วประสาทตา จุดรับภาพชัดของจอประสาทตา และบริเวณหลอดเลือดของจอประสาทตาด้วย
ตาเป็นวุ้นเกิดจากอะไร เสี่ยงเกิดภาวะวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) หรือไม่
ภาวะ วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน เนื่องจากวุ้นภายในดวงตาที่ลักษณะเป็นเจลใสเนื้อเนียนสม่ำเสมอจะเริ่มเสื่อมลง มีการแยกตัวของน้ำ เส้นใยไฟเบอร์ขนาดเล็กที่อยู่ภายในลูกตาจับตัวกันเป็นก้อนคล้ายตะกอนขุ่น ทำให้แสงผ่านไม่เป็นระเบียบ เราจึงมองเห็นภาพคล้ายเงาดำ แมลง หรือแสงวาบขึ้นในตา ร่วมกับภาวะ Posterior Vitreous Detachment (PVD) ซึ่งเกิดจากวุ้นตาที่เคยเกาะติดอยู่กับจอประสาทตาของเราหลุดลอกออกมา
ขณะที่วุ้นตาเริ่มลอกออกจากจอประสาทตา อาจเกิดอาการแทรกซ้อนอย่างการฉีกขาดของหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออกปะปนอยู่ในวุ้นตา กลายเป็นเงาดำที่เข้ามาบดบังการมองเห็น หรือหากมีการดึงรั้งของวุ้นตาขณะหลุดลอกออกก็อาจเกิดการฉีกขาดที่จอประสาทตาได้ อาการนี้พบได้ประมาณ 10 – 20% ของผู้ที่เป็นวุ้นตาเสื่อม และเป็นที่มาของอาการแสงวาบที่เรามองเห็นนั่นเอง
อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรควุ้นตาเสื่อม ควรพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นที่มาของภาวะจอตาหลุดลอก ทำให้ทัศนวิสัยแย่ลง มีเงาดำบดบังการมองเห็นคล้ายมีม่านบังลูกตา หากอาการรุนแรงขึ้นอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค วุ้นตาเสื่อม มีหลายอย่าง ทั้งอาการผิดปกติของสายตาอย่างสายตาสั้น เคยได้รับอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา การผ่าตัดตาเเช่นการผ่าตัดรักษาต้อกระจก เบาหวานขึ้นตา การอักเสบบริเวณดวงตา และมักเกิดขึ้นบ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อมีอาการที่ตาข้างหนึ่งแล้ว มักจะมีอาการที่ตาอีกข้างภายใน 1 ปี
อาการของภาวะวุ้นตาเสื่อม
ผู้ที่เป็นโรควุ้นตาเสื่อมจะมีอาการเริ่มต้นไม่รุนแรง เห็นเงาดำคล้ายยุงหรือแมลงขนาดเล็กลอยไปมาในตา อาจมีจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้และจะเห็นชัดเมื่อมองไปบนท้องฟ้าหรือผนังสีขาว หากตั้งใจเพ่งหรือกระพริบตาเงานั้นอาจหายไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจเห็นแสงวาบในตาได้
อาการเหล่านี้เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย โดยทั่วไปไม่อันตราย ไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นฉับพลัน เช่น เงาดำหรือหยากไย่ที่มองเห็นมีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจน หรือมีแสงวาบคล้ายแสงแฟลชในตา ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพราะอาจเข้าสู่ระยะจอประสาทตาฉีกขาดซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงตามมาได้หากไม่รักษา
วุ้นตาเสื่อมหายเองได้ไหม ต้องทำการรักษาหรือไม่
หากเกิดภาวะวุ้นตาเสื่อมในระดับเริ่มต้นอย่างการเห็นเงาดำ ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพราะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากปรับสายตาหรือปรับตัวได้ ส่วนใหญ่อาการเงาดำและแสงวาบมักจะค่อยๆดีขึ้น และอาจหายไปได้เอง
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่พบการฉีกขาดที่จอตา ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและรักษาด้วยแสงเลเซอร์หรือการจี้โดยใช้ความเย็นเพื่อปิดรอยฉีกขาด และการป้องกันจอประสาทตาหลุดลอกในอนาคต เพราะหากปล่อยไว้อาจเสี่ยงอันตรายต่อการมองเห็นได้
การตรวจวินิจฉัยอาการวุ้นตาเสื่อม แพทย์จะทำการตรวจดวงตาส่วนหน้า จากนั้นจะหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจจอประสาทตาและวุ้นในตาของเราอย่างละเอียด หลังจากตรวจและหยอดยาขยายรูม่านตาจะทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ ตาพร่ามัว และมองระยะใกล้ไม่ได้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง ดังนั้นหากต้องการเข้ารับการตรวจจึงไม่ควรขับรถเอง และเตรียมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันดวงตาหลังการตรวจด้วย
อันตรายของภาวะวุ้นตาเสื่อม
โรควุ้นตาเสื่อมไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อวุ้นตาเริ่มเสื่อมลงในระยะแรกเริ่มอาจก่อให้เกิดความรำคาญเพราะจะมีเงาดำลอยอยู่ในดวงตา บางครั้งอาจเกิดแสงวาบรบกวนการมองเห็น ทำให้กิจวัตรประจำวันหยุดชะงักไปเล็กน้อยเท่านั้นแต่ไม่มีอันตรายร้ายแรงใด ๆ เมื่อปรับตัวได้ดวงตาจะกลับมามองเห็นได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตามอาการของผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงขึ้นเนื่องจากเกิดการฉีกขาดของจอประสาทตา หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะจอประสาทตาลอก จนเหมือนมีม่านบังสายตารบกวนการมองเห็นอยู่ตลอดเวลา อาการอาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ทำการรักษาอาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รวมถึงสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้
การรักษาวุ้นตาเสื่อมและแนวทางดูแลตัวเองหลังการรักษา
1. เมื่อพบว่ามีเงาดำลอยไปมาในลูกตาให้กระพริบตาสักพักเงาดำมักจะดีขึ้น อาการแรกเริ่มนี้ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เมื่อร่างกายปรับตัวได้อาการมักจะลดลงและหายไปในที่สุด
2. หากพบว่ามีอาการฉีกขาดของจอตาร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม อาจเป็นการใช้เลเซอร์หรือจี้ด้วยความเย็นเพื่อปิดรอยฉีกขาด ป้องกันอาการลุกลามจนเกิดจอตาหลุดลอกในอนาคต
3. หากอาการวุ้นตาเสื่อมเกิดจากโรคทางตาอื่น ๆ ให้ทำการรักษาอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4. ไม่ขยี้ตาแรง ๆ และป้องกันดวงตาไม่ให้รับการกระทบกระเทือนที่รุนแรงเพื่อป้องกันความเสี่ยงโรควุ้นตาเสื่อมและหลุดลอก
5. หากทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น งานก่อสร้าง งานโรงงานที่มีสารเคมี ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาอยู่เสมอ
6. หากผู้ป่วยเป็นเบาหวานร่วมด้วย ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนทางตาจากการเป็นเบาหวาน ทั้งต้อกระจก เบาหวานขึ้นตา และวุ้นตาเสื่อม
7. หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคทางสายตา
ภาวะวุ้นตาเสื่อมอาจไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในระยะแรก แต่หากเกิดอาการที่เป็นสัญญาณเตือนการฉีกขาดของจอปประสาทตา อย่างการมองเห็นภาพไม่ชัด คล้ายมีม่านบังตลอดเวลา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาก่อนอาการรุนแรง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจเกิดปัญหาจอตาหลุดลอกจนส่งผลต่อการมองเห็นได้
อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อดูแลวุ้นในตาของเราคือแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุด สามารถทำได้โดยการอ่านหนังสือหรือทำงานในที่ที่แสงสว่างเพียงพอ ไม่เล่นโทรศัพท์ในที่มืด ระมัดระวังไม่ให้ดวงตาถูกกระทบรุนแรง นอนหลับในที่มืดเพื่อป้องกันไม่ให้ดวงตาต้องทำงานหนักเกินไป และอย่าลืมกินอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อบำรุงสายตาจากภายใน เท่านี้ก็เป็นการดูแลดวงตาและวุ้นในตาให้อยู่กับเราไปได้นาน ๆ
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.