วิธีทดสอบสายตาอย่างไร ให้รู้ว่าเป็นภาวะสายตาเอียง (Astigmatism)
ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) เป็นภาวะที่ทำให้การมองเห็นภาพเบลอหรือบิดเบี้ยวไม่ว่าจะมองระยะใกล้หรือไกล เกิดจากความโค้งของกระจกตาหรือเลนส์ตาที่ผิดปกติ ทำให้แสงที่เข้าสู่ดวงตาไม่สามารถโฟกัสได้อย่างแม่นยำที่จุดรับภาพบนจอประสาทตา ผลที่ตามมาคือภาพที่มองเห็นจะไม่คมชัดและอาจมีภาพซ้อน
รู้จักกับอาการสายตาเอียง (Astigmatism)
ภาวะสายตาเอียงคืออาการผิดปกติทางสายตา โดยผู้ที่มีอาการนี้จะมีการมองภาพที่เบลอ นอกจากนี้ยังมองภาพแบบเกิดเงาซ้อน ภาพมีความบิดเบี้ยวไม่สมจริง ซึ่งเกิดจากจุดโฟกัสภาพไม่ตกที่จุดรับภาพชัดที่จอประสาทตาโดยมักจะพบร่วมกับอาการสายตาสั้นหรือสายตายาวควบคู่กันด้วย
โดยอาการสายตาเอียงยังสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ดังนี้
1.Simple Myopia Astigmatism
เป็นสายตาสั้นและเอียงที่มีแกนสายตาสั้นตกหน้าจอ แต่แกนสายตาเอียงตกบนจอ
2.Compound Myopic Astigmatism
เป็นสายตาสั้น ร่วมกับสายตาเอียง โดยทั้งสองแกนตกก่อนจอรับภาพทั้งคู่
3.Simple Hyperopia Astigmatism
เป็นสายตายาวและเอียงที่มีแกนสายตายาวตกหลังจอ แต่แกนสายตาเอียงตกบนจอ
4.Compound Hyperopic Astigmatism
หรือ สายตายาวร่วมกับสายตาเอียงชนิดซับซ้อน คือภาวะที่ผู้ป่วยมีทั้งสายตายาวและสายตาเอียงพร้อมกัน ทำให้จุดโฟกัสของแสงที่เข้าสู่ดวงตาตกหลังจอประสาทตาทั้งสองแกน ส่งผลให้การมองเห็นภาพไม่คมชัดทั้งในระยะใกล้และระยะไกล
5.Mixed Astigmatism
เป็นสายตายาวร่วมกับสายตาเอียง โดยแกนสายตายาวตกหลังจอ ส่วนแกนสายตาเอียงตกก่อนจอ
สาเหตุของการเกิดสายตาเอียง (Astigmatism)
โดยปกติแล้วกระจกตาของคนเราจะมีความโค้งที่เป็นทรงกลม แต่อาการของสายตาเอียงเกิดจากความผิดปกติของกระจกตาที่มีความโค้งไม่เท่ากัน ทำให้เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาเพื่อโฟกัสภาพ จะเกิดการหักเหของแสงที่ผิดพลาด จุดโฟกัสที่ตาจะมากกว่า 1 จุดทำให้สายตามองเห็นภาพไม่ชัด โดยจะมีอาการมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งในระยะใกล้และระยะไกล มองเห็นเป็นภาพซ้อนซึ่งอาจจะส่งผลให้มีอาการ ปวดตา ปวดหัว เวลาพยายามเพ่งสายตา
อาการสายตาเอียงนั้นเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย สำหรับคนที่มีภาวะสายตาเอียงร่วมกับอาการสายตาสั้นหรืออาการสายตายาว จะมีอาการผิดปกติทางสายตาที่เห็นได้ชัด ซึ่งหากอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดตา
โดยปัจจัยที่ทำให้มีอาการสายตาเอียงก็อย่างเช่น สายตาเอียงแต่กำเนิด มีอาการติดเชื้อที่บริเวณกระจกตา ประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา และผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระจกตาย้วย เป็นต้น
ลักษณะของอาการสายตาเอียง
ผู้ที่มีอาการสายตาเอียงจะมีอาการโดยรวมดังนี้
1.ปวดตา แสบตา สายตาล้า เนื่องจากต้องพยายามเพ่งสายตาเพื่อปรับโฟกัสการมองอยู่แทบตลอดเวลาในการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น อ่านหนังสือ ขับรถ ใช้คอมพิวเตอร์ มองจอสมาร์ทโฟน หากมีอาการดังกล่าวให้พักสายตาหรือ ทำความ สะอาดตา หยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุมชื้น
2. ผู้ที่มีสายตาเอียงบางรายมักมีอาการตาเหล่ควบคู่
3.มองภาพไม่ชัด ภาพเบลอ เกิดภาพซ้อน เนื่องจากระยะโฟกัสที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
4.ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีปัญหาในการโฟกัสสิ่งต่าง ๆ
โดยอาการที่กล่าวมาข้างต้น เป็นลักษณะของอาการโดยรวมของผู้ที่มีภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) และยังสามารถแยกอาการของสายตาเอียงประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
-สายตาเอียงพร้อมกับสายตาสั้น จะมีอาการคือมองวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ไม่ชัดเจน เกิดภาพเงาซ้อน
-สายตาเอียงพร้อมกับสายตายาว จะมีอาการคือมองวัตถุระยะใกล้ ๆ ได้ไม่ชัดเจน และอาจเกิดเงา ภาพเบลอ หรือบิดเบี้ยวไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
-สายตาเอียงแบบผสม เป็นอาการสายตาเอียงที่แกนตาทั้งสองมีทั้งแกนที่ตกหน้าและหลังต่อจอตา จะส่งผลให้มีการหักเหของแสงเกิดขึ้นซับซ้อน โดยจุดหนึ่งตกกระทบที่ด้านหน้าจอประสาทตา อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นที่ด้านหลังจอประสาทตา ทำให้มีอาการมองเห็นไม่ชัดเจน ภาพเบลอ มีการปวดศีรษะร่วมด้วย ภาพที่มองเห็นจะบิดเบี้ยวเป็นอย่างมาก
วิธีทดสอบสายตาเอียง (Astigmatism)
หลายคนอาจสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะสายตาเอียง โดยเราสามารถรู้ได้ทั้งการทดสอบด้วยตัวเองรวมไปถึงการเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมีเครื่องตรวจวัดสายตาเฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ
เราสามารถทดสอบสายตาเอียง (Astigmatism) ด้วยตนเองได้ โดยวิธีการวัดสายตาทีละข้าง โดยเปิดภาพที่ใช้สำหรับการทดสอบสายตาเอียงโดยเฉพาะขึ้นมาที่หน้าจอ คอมพิวเตอร์ ,แท็บเล็ต ,สมาร์ตโฟนที่จอใหญ่สักหน่อย หรือพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษก็ได้ โดยภาพทดสอบสายตาเอียง (Astigmatism) นี้จะมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม มีเส้นลากจากจุดศูนย์กลางห่างกันเส้นละ 10 องศา ซึ่งสามารถหาโหลดได้จากอินเทอร์เน็ตทั่วไป
จากนั้นให้ตั้งจอห่างจากสายตาประมาณ 1 ช่วงแขน ลองนำมือมาปิดตาข้างใดข้างหนึ่งเอาไว้จากนั้นมองไปยังเส้นทั้งหมดในภาพ โดยถ้าหากเรามองเห็นเส้นทุกเส้นมีความเข้มเท่ากันทั้งหมด นั่นหมายความว่าสายตาของเรามีความปกติดี หรือมีอาการสายตาเอียง (Astigmatism) ที่น้อยจนไม่ส่งผลกระทบต่อการมอง เมื่อทดสอบข้างแรกเสร็จแล้วจึงทำการทดสอบสายตาอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน แล้วลองดูผลที่ได้จากการทดสอบ
โดยคนที่มีภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) จะมองเห็นเส้นแต่ละเส้นมีความเข้มที่ไม่เท่ากัน มองภาพโดยรวมไม่ชัดมีความเบลอทับซ้อนกันของเส้น และจะมองตัวเลขที่มีความคล้ายกันได้ไม่ชัด เช่น ตัวเลข 3 , 6 , 8 , 9
นอกจากการทดสอบได้ด้วยตัวเองเบื้องต้นแล้ว การเข้ารับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ที่จะให้ผลที่แน่นอนกว่า โดยมีวิธีการวินิจฉัยอาการสายตาเอียง ดังนี้
-วัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test) โดยแพทย์จะให้ผู้รับการตรวจทดสอบอ่านตัวเลขหรือตัวอักษรที่มีขนาดต่าง ๆ แล้วทำการวินิจฉัย
-วัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometer Test) โดยจักษุแพทย์จะนำเครื่องตรวจสายตามาหาค่าความโค้งของกระจกตา
-ทดสอบการหักเหของแสงในดวงตา ซึ่งจะเป็นการวัดด้วยการให้ผู้รับการตรวจมองผ่านเลนส์หลาย ๆ ชุดเพื่อวัดค่าความผิดพลาดในการโฟกัสของดวงตาแต่ละคน
สายตาเอียง (Astigmatism) รักษาได้อย่างไร
การรักษาสายตาเอียง (Astigmatism) นั้นสามารถทำได้ 2 ประเภท คือ การรักษาแบบไม่ถาวรกับการรักษาแบบถาวร โดยการรักษาแบบไม่ถาวรนั้นคือการตัดแว่นตาให้มีค่าที่เหมาะสมกับแต่ละคนรวมไปถึงการใช้คอนแทคเลนส์ (Contact Lens) เพื่อแก้ไขปัญหา แต่วิธีนี้เป็นการรักษาแบบไม่ถาวรและผู้ที่สายตาเอียง (Astigmatism) อาจมีอาการ ปวดตา ปวดหัว หากสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์(Contact Lens) เป็นเวลานาน ๆ
ส่วนวิธีต่อมาคือการรักษาแบบถาวร เช่น การผ่าตัดตา ที่ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น การทำเลสิค การผ่าตัดเสริมเลนส์ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ ซึ่งความสงสัยที่ว่า สายตาเอียง ทำเลสิกได้ไหม ก็ต้องบอกว่าทำได้ ซึ่งการทำเลสิกคือการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดเปิดฝากระจกตา
วิธีป้องกันอาการสายตาเอียง (Astigmatism)
อาการสายตาเอียงนั้นเกิดจากความผิดปกติ แม้ไม่สามารถป้องกันได้แต่มีวิธีช่วยลดความรุนแรงไม่ให้ลุกลามได้ เช่น ใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการใช้สายตานาน ๆ หากมีอาการแสบตา ระคายเคืองตาต้องพักสายตา หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในดวงตาห้ามใช้มือขยี้ ควรทำความสะอาดตาด้วยการล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือยาหยอดตา เลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูงหรือกินวิตามินเสริมเพื่อบำรุงสายตา
สายตาเอียง (Astigmatism) นั้นส่งผลให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ซึ่งการรับการรักษาจะช่วยให้อาการดีขึ้นหรือหายขาดได้ แต่ทั้งนี้อาการดังกล่าวสามารถกลับมาเป็นได้ใหม่หากเราไม่ดูแลสายตาตัวเองอย่างเหมาะสม หากรู้สึกว่ามีโอกาสเสี่ยงสายตาเอียง(Astigmatism) ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาเพื่อคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น
บริษัท โรงพยาบาลตากรุงเทพ จำกัด
อาคารเดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม 540 ชั้น7 ห้อง703
ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1033002-869-8899
Copyright © 2024 All Rights Reserved.