ตาไม่สู้แสง แสบตาตลอดเวลาโดนลม อาการเริ่มต้นต้อลม

 ตาไม่สู้แสง แสบตาตลอดเวลาโดนลม อาการเริ่มต้นต้อลม

ตาไม่สู้แสง แสบตาเมื่อต้องเจอลม เป็นสัญญาณเริ่มต้นของต้อลม ลองมาทำความรู้จักสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันต้อลม หากมีอาการต่อไปนี้เป็นสัญญาณต้องระวังและไปพบแพทย์

ดวงตาของคือหน้าต่างสู่โลกภายนอก การได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่หากวันหนึ่งดวงตาของเรามองเห็นไม่ชัดเจน แสบตาตลอดเวลา และไม่สามารถสู้แสงได้อย่างที่เคยเป็น นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเริ่มต้นของภาวะ ต้อ ลม เป็นปัญหาสุขภาพตาที่ไม่ควรมองข้าม บทความนี้จะพาไปสำรวจอาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาต้อลมอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกท่านรู้จักและสามารถป้องกันภาวะผิดปกติกับดวงตาของเราอย่างเข้าใจมากขึ้น

ต้อลม (Pinguecula) คืออะไร

ต้อ ลม (Pinguecula) เป็นภาวะผิดปกติในดวงตาประเภทหนึ่ง เกิดจากการสะสมของเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณเยื่อบุตา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณข้างในตาและลามออกไปบริเวณรอบ ๆ ได้หากไม่ดูแลหรือรักษาอย่างถูกวิธี โรคตาชนิดนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การวินิจฉัยของแพทย์จะทำโดยดูอาการของดวงตาร่วมกับการใช้เครื่องมืออื่น ๆ 

ต้อลมนี้เป็นภาวะผิดปกติที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงควรรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนลุกลามเพราะอาจทำให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกด้วย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคต้อลม

สาเหตุหลักของ ต้อ ลม เกิดจากดวงตาได้รับรังสียูวีจากแสงแดดจัดเป็นเวลานาน เกิดภาวะตาแห้ง และสภาพแวดล้อมรอบตัวทำให้เกิดการระคายเคืองตา เช่น ควัน ฝุ่นละออง อากาศแห้ง ลม มลภาวะต่าง ๆ โรคชนิดนี้จึงพบบ่อยในประเทศเขตร้อนที่มีแสงแดดจัดอย่างประเทศไทย และพบได้บ่อยในผู้ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน เช่น อาชีพวิศวกร ผู้ใช้แรงงาน หรือเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น อย่างพันธุกรรม การระคายเคืองตาเรื้อรัง การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีสารเคมีโดยไม่สวมเครื่องป้องกัน รวมถึงเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นได้อีกด้วย

โรคต้อลมอาการเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยเป็น ต้อลมลักษณะนี้ในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการใด ๆ เป็นสัญญาณเตือน แต่อาจเกิดเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณเยื่อบุตาขาว สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากอาการรุนแรงขึ้นจนเกิดอักเสบ อาจรู้สึกเจ็บตา แสบ คัน เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล รู้สึกเคืองคล้ายมีเศษผงในดวงตา อาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นหากต้องเผชิญกับลมแรง ฝุ่นควัน ทราย และมลภาวะอื่น ๆ เพราะเป็นตัวการทำให้ตาอักเสบง่ายขึ้น

เมื่อเป็นต้อลมไปสักระยะผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวร่วมกับภาวะสายตาเอียงทำให้มองภาพพร่ามัว เนื่องจาก ต้อ ไปดึงกระจกตา ทำให้ความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไป หากอาการลุกลามมากขึ้นเนื้อต้อจะลามไปยังกลางกระจกตาจนบดบังการมองเห็นเรียกอาการนี้ว่าต้อเนื้อ  อาการเหล่านี้อาจเกิดกับดวงตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มีแนวโน้มพบมากกว่าในผู้สูงอายุ

ต้อลมอันตรายไหม

ในระยะแรก ต้อลมอาจไม่มีอาการที่ชัดเจน ทำให้หลายคนรู้สึกว่าโรคนี้ไม่รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก แต่เมื่อเนื้อเยื่อผิดปกติเริ่มลามเข้าไปยังส่วนกลางของดวงตา ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแสบตา ตาไม่สู้แสง และมองเห็นพร่ามัวในบางครั้ง หากปล่อยไว้โดยไม่รับการรักษา ต้อลมอาจลุกลามจนกระทบกระเทือนกระจกตา ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลงและอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไข

ต้อลมไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมาก การมีต้อลมอาจทำให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือ หรือแม้แต่การทำงานที่ต้องใช้สายตาเกิดความลำบากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นต้นตอของความเครียดอีกด้วย

ดังนั้นแม้ต้อลมอาจไม่อันตรายถึงชีวิตหรือถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น แต่หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การดูแลดวงตาและการป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

รู้ทันภาวะแทรกซ้อนของต้อลม

หากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีอาจทำให้โรคเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างต้อลมอักเสบขึ้นมาได้ ภาวะต้อลมอักเสบจะเกิดขึ้นเมื่อดวงตาของผู้ป่วยระคายเคืองผิดปกติ ตาแห้ง ขยี้ตาแรงจนทำให้ต้อและดวงตาบวมแดง การรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้โดยใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อลดการระคายเคือง ทำให้การอักเสบบรรเทาลง ระหว่างนี้ห้ามขยี้ตาเด็ดขาดเพื่อทำให้การอักเสบค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไปเอง

อาการแทรกซ้อนอีกอย่างคือการเกิดโรคต้อเนื้อ เกิดจากการสัมผัสกับความเสี่ยงของโรคเป็นประจำ ไม่เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ปล่อยให้ดวงตาสัมผัสรังสียูวีจากการทำงานกลางแจ้งโดยไม่ป้องกัน หรือการทำงานใช้สารเคมีโดยไม่สวมหน้ากาก เมื่อเวลาผ่านไปต้อลมจะขยายตัวมากขึ้นจนกลายเป็นต้อเนื้อในที่สุด หากต้อเนื้อลุกลามเข้าไปในตาดำ ผู้ป่วยจะเกิดอาการสายตาเอียง ตาพร่ามัว ตาเข ไปจนถึงสูญเสียการมองเห็นแบบชั่วคราว แต่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ

การรักษาและแนวทางป้องกัน

การรักษา ต้อลม จะพิจารณาจากความรุนแรงของโรคเป็นหลัก หากต้อยังอยู่ในระยะเริ่มแรก มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น การมองเห็นยังเป็นปกติ การรักษาในระยะเริ่มต้นนี้จะเน้นไปที่การป้องกันและดูแลดวงตาให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงเพื่อไม่ให้อาการลุกลามรุนแรง โดยการปกป้องดวงตาจากรังสียูวีด้วยการสวมแว่นกันแดดเสมอเมื่อต้องออกจากบ้าน 

หากเกิดการอักเสบของต้อลม ควรปรึกษาแพทย์ว่าต้องใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาหรือไม่ อย่าลืมว่าต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ไม่ควรซื้อยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมมาใช้ด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นหากยาหยอดตาไม่มีคุณภาพหรือไม่เหมาะสมกับอาการ

ส่วนใครที่มีอาการต้อลมอักเสบจนเกิดภาวะแทรกซ้อนกลายเป็นต้อเนื้อที่มีขนาดใหญ่ลุกลามเข้าไปในกระจกตาและมีการอักเสบเรื้อรัง สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดลอกต้อออกจากบริเวณเยื่อบุตาและกระจกตา อย่างไรก็ตามต้อเนื้อมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงหากผู้ป่วยอายุน้อยและเป็นผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับรังสียูวีเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ แพทย์จึงนิยมใช้วิธีรักษาโดยผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ การผ่าตัดนี้ใช้เวลาไม่นาน ระยะพักฟื้นสั้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้หลังผ่าตัด โดยต้องนัดตรวจและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ

แนวทางการป้องกันต้อลมสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง ด้วยการเลี่ยงแสงแดดจัด หากเลี่ยงไม่ได้ต้องสวมแว่นตากันแดดที่มีคุณสมบัติตัดแสงหรือกรองรังสียูวีก่อนออกกลางแจ้งทุกครั้ง หากไม่มีแสงแดดก็ต้องสวมเพราะรังสียูวีอยู่รอบตัวเราแม้มองไม่เห็น นอกจากนี้แว่นกันแดดยังช่วยปกป้องดวงตาจากฝุ่นและลมด้วย

วิธีป้องกันความเสี่ยงต้อลมอีกอย่างคือการเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยของการเกิดโรค อย่างสภาพแวดล้อมที่มีควัน ฝุ่น หรืออากาศแห้ง เพราะมีส่วนทำให้ดวงตาระคายเคืองง่าย นอกจากเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้น ที่สำคัญอย่าลืมสังเกตรูปร่าง สี และขนาดของต้อในตาอยู่เสมอ หากมีการเปลี่ยนแปลงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทันที

การดูแลดวงตาและการป้องกันตัวเองจากต้อลมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แม้ต้อลมจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตโดยตรง แต่หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการแสบตา ระคายเคืองตา ตาไม่สู้แสง รบกวนการใช้ชีวิตจนเกิดความเครียดและอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงานหรือระหว่างชีวิตประจำวัน ที่สำคัญโรคอาจลุกลามกลายเป็นต้อเนื้อที่รุนแรงกว่าได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของดวงตาของเราเสมอ หากพบว่ามีความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที อย่าปล่อยไว้จนกลายเป็นโรคต้อซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราในอนาคต

 เลนส์แว่นตามีกี่แบบ เลนส์ยี่ห้อไหนดีที่สุด
 สายตาแบบไหน ควรทำ ICL ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม
 Lasik ใบมีด และ FemtoLASIK ต่างกันอย่างไร
 ทำไมทำเลสิกแล้วตาแห้ง น้ำตาเทียมช่วยได้อย่างไร?
 ถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก รักษาอย่างไร
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้
 How To สวมคอนแทคเลนส์สายตาให้ปลอดภัย เคล็ดลับที่ต้องรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์
 ชวนสังเกตอาการเริ่มต้นต้อกระจก เมื่อไหร่ที่ควรรักษา
 สังเกตอาการวุ้นในตาเสื่อม ทำไมมองเห็นจุดดำและหยากไย่ลอยไปมา
 รู้ทันสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงการเกิดต้อเนื้อ (Pterygium) ที่อาจทำให้ตาบอดได้