ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น (Posterior capsule opacity/After cataract)

 ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น (Posterior capsule opacity/After cataract)

โดยปกติถุงหุ้มเลนส์ มีลักษณะเป็นถุงบางๆ โปร่งใส หุ้มอยู่รอบเลนส์ตาของเรา ทำหน้าที่ยึดให้เลนส์ตาอยู่กับที่ไม่เคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ ซึ่งเวลาที่ทำการผ่าตัดเอาต้อกระจกออก จักษุแพทย์จะเหลือส่วนของถุงหุ้มเลนส์ไว้สำหรับใส่เลนส์แก้วตาเทียม เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ อาจพบว่าถุงหุ้มเลนส์เกิดการ ขุ่นขึ้นมาภายหลังได้ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมไปแล้ว ในบางรายอาจรู้สึกว่าตามัวลงหลังจากผ่าตัดไปสักระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งภาวะนี้สามารถพบได้ ตั้งแต่หลายเดือนจนถึงหลายปีหลังผ่าตัดต้อกระจก

สาเหตุการเกิดภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

หลังจากการผ่าตัดต้อกระจก เซลล์เยื่อบุด้านหลังของเลนส์ตายังคงเจริญเติบโตและเคลื่อนที่ไปที่ด้านหลังของเลนส์ตาเทียม ทำให้เกิดการสะสมและขุ่นมัวของถุงหุ้มเลนส์ตา การขุ่นนี้จะขัดขวางการผ่านของแสงไปยังจอประสาทตา ทำให้เกิดปัญหาการมองเห็นมัวลงคล้ายกับอาการของต้อกระจกเดิม บางคนจึงเข้าใจผิดว่าเกิดต้อกระจกอีกครั้ง แต่จริงๆแล้วเป็นภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่ทำให้เกิดภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เช่น อายุน้อย โรคเบาหวาน เป็นต้น

อาการของภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

ตามัวลงอย่างช้าๆจากที่เคยมองเห็นชัดหลังผ่าตัดต้อกระจกช่วงแรกๆ ลักษณะตามัวอาจรู้สึกเหมือนมีฝ้ามาบังการมองเห็น หรืออาจเห็นเป็นแสงจ้า แสงสะท้อน หรือแสงแตกกระจายโดยอาจมีอาการภายในไม่กี่เดือนหรือหลังจากผ่าตัดต้อกระจกไปหลายปีแล้วก็ได้ โดยการมองเห็นจะค่อยๆแย่ลงอย่างช้าๆ คล้ายกับอาการของต้อกระจก

วิธีการรักษาถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

ใช้วิธีการยิงเลเซอร์ YAG Laser Capsulotomy เพื่อเปิดช่องถุงหุ้มเลนส์ด้านหลัง เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปที่จอประสาทตาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ทำได้รวดเร็ว ใช้เวลาไม่นาน มีประสิทธิภาพ และมักทำให้การมองเห็นดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์รักษาภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น YAG Laser Capsulotomy มีขั้นตอนดังนี้

1. หยอดยาขยายม่านตา เพื่อให้มองเห็นถุงหุ้มเลนส์ได้ชัดเจน

2. ใช้ยาชาหยอดตา เพื่อลดอาการเจ็บขณะยิงเลเซอร์

3. แพทย์ผู้ทำการรักษาจะยิงเลเซอร์ไปที่ด้านหลังของถุงหุ้มเลนส์เพื่อให้ถุงหุ้มเลนส์ขาดออกเป็นรู เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปได้มากขึ้น โดยในขณะที่รักษาอาจมีอาการแสบตาเล็กน้อย แต่ไม่เป็นอันตรายหลังรักษาด้วยการยิงเลเซอร์เสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้ทันทีไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษาถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

หลังการเข้ารับการรักษาด้วยวิธียิงแสงเลเซอร์ถุงหุ้มเลนส์ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการตามัวจากการขยายม่านตา โดยสามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง อาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น มีการอักเสบในตาเล็กน้อย, ความดันลูกตาสูงทำให้ปวดตาได้ พบได้ไม่บ่อย บางรายอาจมีอาการมองเห็นคล้ายหยากไย่ลอยไปมาในตาได้ ซึ่งเกิดจากตะกอนของถึงหุ้มเลนส์ที่เคลื่อนที่อยู่ภายในตา ภาวะนี้ไม่อันตราย และผู้ป่วยมักรู้สึกว่าดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป  

หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆหลังจากการรักษาภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่นด้วยการยิงแสงเลเซอร์ ควรปรึกษาจักษุแพทย์

สรุป

​ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่นเป็นภาวะที่เกิดหลังการผ่าตัดต้อกระจก ทำให้ตาพร่ามัวลงอย่างช้าๆ สามารถรักษาได้โดยการยิงแสงเลเซอร์ถุงหุ้มเลนส์ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้เวลาไม่นาน มีประสิทธิภาพ และทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้รวดเร็ว

 “น้ำตาเทียม” มีประโยชน์จริงไหม เลือกอย่างไร? รู้ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
 เช็กให้ชัวร์อาการแบบนี้เป็นสัญญาณ “ต้อกระจก” หรือไม่
 ต้อลม (pinguecula) รักษายังไงให้หายขาด
 รักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ด้วย PRK คืออะไร?
 ถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก รักษาอย่างไร
 โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus)
 ไขข้อสงสัย อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กเกิดจากพันธุกรรมจริงหรือ
 นักทัศนมาตร (Optometrist) คือใคร ทำไมต้องตัดแว่นกับนักทัศนมาตร
 สาเหตุการเกิดต้อเนื้อ พร้อมวิธีรักษาและการดูแลหลังผ่าตัดต้อเนื้อ
 ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด ปล่อยไว้ไม่ได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved.