อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร

 อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร

ความแตกต่างของต้อหินมุมปิดและมุมเปิด คือ กลไกของการเกิดโรค ระดับความรุนแรงและวิธีในการตรวจ รวมถึงวิธีการรักษา หากตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่มก็จะรักษาได้ผลดีกว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เลนส์ตาจะแข็งและโตขึ้นอย่าง บางคนการเติบโตนี้จะทำให้ช่องหน้าม่านตาเคลื่อนตัวไปข้างหน้าและทำให้มุมแคบลง

ปัจจัยเสี่ยงในการพัฒนาช่องว่างของม่านตาให้เกิดมุมแคบ ได้แก่ ประวัติครอบครัว อายุที่มากขึ้นและเชื้อชาติ การเกิดโรคต้อหินแบบมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร มาอ่านสาระความรู้เพื่อความเข้าใจ การรักษา และการป้องกันดังต่อไปนี้

ต้อหินคืออะไร

โรคต้อหินเป็นกลุ่มของโรคทางตาที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นและตาบอดได้ ด้วยการทำลายเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลังดวงตาที่เรียกว่าเส้นประสาทตา อาการของโรคระยะแรกผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว เพราะไม่สามารถสังเกตได้และไม่มีอาการ วิธีเดียวที่จะทราบว่าเป็นโรคต้อหินหรือไม่คือ การตรวจสุขภาพตา หากทำการตรวจพบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มักจะสามารถหยุดความเสียหายและปกป้องการมองเห็นของคุณได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลเราได้มีโปรแกรมตรวจสุขภาพตาเพื่อตรวจและดูแลสุขภาพตาของคุณโดยเฉพาะ

ประเภทของโรคต้อหิน

โรคต้อหินสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทหลัก แต่ละประเภทมีลักษณะและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน

1.    ต้อหินประเภทปฐมภูมิ แบ่งได้ 2 ชนิดได้แก่

1.1               ต้อหินมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma)

ต้อหินชนิดมุมเปิดจัดเป็นต้อหินที่พบได้มากที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากความดันตาสูง ในบางรายอาจพบว่ามีความดันลูกตาปกติได้ โดยความดันลูกตาที่สูงเกิดจากการถูกปิดกั้นระบบระบายน้ำช่องหน้าม่านตา ทำให้ทำลายเส้นประสาทตาในที่สุด โดยในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนกระทั่งผู้ป่วยรับรู้จากการมองเห็นว่ามีลานสายตาแคบลงเรื่อย ๆ เมื่อถึงตอนนั้นก็ยากเกินที่จะรักษาและส่งผลให้ตาบอดในที่สุด มีบางรายงานว่าผู้ป่วยบางรายความดันตาไม่สูง แต่เส้นประสาทตาถูกทำลายก็มี

1.2               ต้อหินมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma)

เกิดจากภาวะความดันลูกตาขึ้นสูงแบบเฉียบพลัน ทำให้เกิดการปิดกั้นทางเดินน้ำในลูกตาอย่างรวดเร็ว ความผิดปกตินี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีช่องว่างด้านหน้าลูกตาแคบ หรือมีสิ่งกระตุ้น เช่น อยู่ในที่มืด การรับยาบางชนิด จนทำให้รูม่านตาขยายมากกว่าปกติ โดยต้อหินมุมปิดจะมี 2 แบบ ได้แก่ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยการแบบเฉียบพลันผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง ตาแดง ปวดหัว คลื่นไส้ และเห็นแสงรอบ ๆ แสงสว่าง (Halos) ในขณะที่แบบเรื้อรัง จะมีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่รู้สาเหตุ เมื่อความดันตาขึ้นจะทำให้เลนส์ตาบวมจนไปดันช่องว่างตาด้านหน้าให้แคบลงจนนำไปสู่การเกิดต้อหิน

2.​ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma)

ต้อหินตั้งแต่กำเนิดจะพบในทารกและเด็กเล็ก เกิดจากการพัฒนาผิดปกติของทางเดินน้ำในลูกตา โดยพบมากในช่วงขวบปีแรก การเกิดต้อหินแต่กำเนิดนี้จะเป็นลักษณะของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เด็กที่เกิดมาจะมีดวงตาและลูกตาที่ใหญ่กว่าปกติ ต้องรีบทำการรักษาเพราะอาจทำให้ตาบอดได้

3.​ต้อหินจากภาวะแทรกซ้อน หรือ ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary glaucoma)

-เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บที่ตา การติดเชื้อ การใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เส้นเลือดที่จอประสาทตาอุดตันหรือโรคตาอื่น ๆ แล้วพัฒนากลายมาเป็นต้อหิน

ความแตกต่างระหว่างต้อหินมุมปิดและต้อหินมุมเปิด

ต้อหินมุมเปิดและ ต้อหินมุมปิด มีความแตกต่างกันในด้านของกลไกการเกิด อาการและวิธีการรักษา โดยต้อหินมุมเปิดเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรก หากไม่ได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์อย่างครอบคลุมจะไม่สามารถตรวจพบและเจอความผิดปกตินี้ ในขณะที่ต้อหินมุมปิดเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีอาการรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แต่ต้อหินทั้ง 2 ประเภทหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะส่งผลต่อการมองเห็นและตาบอดในที่สุด

สาเหตุและอาการของต้อหินมุมปิด

โรคต้อหินแบบมุมปิด คือ โรคต้อหินที่เกี่ยวข้องกับมุมช่องหน้าของม่านตาที่ถูกกีดขวางทางกายภาพ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งโรคเรื้อรังและเฉียบพลัน อาการของภาวะมุมปิดเฉียบพลัน ได้แก่ ปวดตาและตาแดงอย่างรุนแรง การมองเห็นลดลง รัศมีการมองเห็นแคบลง ปวดศีรษะ คลื่นไส้และอาเจียน ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องรักษาอาการเฉียบพลันทันทีด้วยยาต้อหิน เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวร และอาจจะตามด้วยการผ่าตัด

โรคต้อหินมุมปิด อาจจะเกิดจากรูปร่างของม่านตาผิดปกติทำให้เกิดแรงดึงหรือดันม่านตาขึ้นไปทำมุม (เช่น จุดเชื่อมต่อของม่านตาและกระจกตาที่บริเวณรอบนอกของช่องหน้าม่านตา) หรือการปิดกั้นช่องทางของการระบายน้ำให้แคบลง ด้วยความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้นจึงไปทำลายเส้นประสาทตา ซึ่งการเกิดต้อหินมุมปิดอาจเป็นภาวะหลักหรืออาจเป็นภาวะรองจากสภาวะอื่น ๆ ที่กลายมาเป็นแบบเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลันที่ต้องเฝ้าอาการอยู่เป็นระยะ 

ต้อหินมุมปิดแบ่งได้2ชนิด

1.ต้อหินมุมปิดชนิดปฐมภูมิ คือ ต้อหินมุมปิดที่สาเหตุยังไม่แน่ชัดและหรืออาจจะเกิดจากรูปร่างของม่านตาผิดปกติเองของผู้ป่วย

2.ต้อหินทุติยภูมิ คือต้อหินมุมปิดที่พบสาเหตุชัดเจนแบ่งการเกิดพยาธิสภาพดังต่อไปนี้

2.1 กลไกการปิดกั้นที่รูม่านตา(with pupillary block) ได้แก่  เกิดจากความผิดปกติของเลนส์ (Lens-induced mechanism) อาจเกิดจากความหนาของเลนส์ (lens thickness) หรือตำแหน่งของเลนส์ (lens position) เลนส์จะหนาขึ้นและเคลื่อนมาด้านหน้ามากขึ้นในคนสูงอายุ เป็นต้น

2.2 กลไกการปิดกั้นที่ไม่ใช่รูม่านตา(without pupillary block) ได้แก่ มีก้อนดันม่านตาปิดรูระบาย หรือ มีพังผืดหรือหลอดเลือดดึงรั้งม่านตาให้ปิดรูระบาย เป็นต้น

การรักษาต้อหินมุมปิด

หากเกิดอาการแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้ยาต้อหินทั้งแบบหยอดและชนิดรับประทานช่วยลดความดันตาลงก่อนเป็นลำดับแรก หากความดันยังไม่ลง อาจใช้วิธีการยิงเลเซอร์เพื่อเปิดมุมตา เมื่อความดันลูกตาลงดีแล้วแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการรักษาด้วยยาต้อหินชนิดหยอด หรือการยิงเลเซอร์ที่ม่านตา หรือผ่าตัดขึ้นกับสาเหตุของโรคและระดับความดันลูกตาที่ควบคุมได้

ในกรณีที่เป็นเรื้อรัง แพทย์อาจจะทำการยิงเลเซอร์ที่ม่านตาหากจักษุแพทย์รู้สึกว่าขั้นตอนนี้อาจทำให้การปิดมุมช้าลง หรือทำการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อชะลอการลุกลามของโรคต้อหินมุมปิดเรื้อรัง

ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการขยายรูม่านตาในผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเมื่อพิจารณาใช้ยาหยอดขยายตาเพื่อการตรวจ หรือสำหรับการรักษา อีกทั้งผู้ป่วยควรขอคำแนะนำจากแพทย์เรื่องการรับประทานอาหารและวิธีถนอมสายตา

วิธีป้องกันต้อหินมุมปิด

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันของโรคต้อหินแบบมุมปิดเฉียบพลัน คือ การตรวจตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง แพทย์ช่วยเฝ้าระวังระดับความดันและปริมาณของเหลวในตา หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีความเสี่ยงสูงผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษาด้วยเลเซอร์ LPI (prophylaxis LPI) ทันทีที่ตรวจพบเพื่อระงับการเกิดต้อหินแบบเฉียบพลัน

สรุป

ต้อหินมุมเปิด และ ต้อหินมุมปิด มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านของกลไกการเกิด อาการและวิธีการรักษา ต้อหินมุมเปิดเกิดขึ้นช้าและไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก ขณะที่ต้อหินมุมปิดเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีอาการรุนแรง ดังนั้นโปรแกรมตรวจ สุขภาพตา เป็นประจำจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยในเรื่องของการตรวจสอบที่ครอบคลุมในการพบโรคต้อหินในระยะแรกเริ่ม และสามารถที่จะป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวรได้

 เบาหวานขึ้นตา รีบรักษาก่อนตาบอด
 การรักษา ต้อกระจก ผ่าตัดเป็นเพียงวิธีเดียวใช่หรือไม่?
 ไขข้อสงสัย อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กเกิดจากพันธุกรรมจริงหรือ
 เปรียบเทียบราคาการทำ LASIK แต่ละประเภท คุ้มไหมกับราคาที่ต้องจ่าย
 เช็กให้ชัวร์อาการแบบนี้เป็นสัญญาณ “ต้อกระจก” หรือไม่
 ความต่างระหว่าง Femto Lasik vs ReLEx SMILE?
 การดูแลดวงตาหลังผ่าตัดเลสิก Femto Lasik
 โรคต้อกระจกมีกี่ระยะ สังเกตจากอะไร
 สายตาแบบไหน ควรทำ ICL ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม
 จะรู้ได้อย่างไรว่าเบาหวานขึ้นตา