อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก

 อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก

อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบัน วิธีการรักษาต้อกระจก (Cataract) วิธีเดียวที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดเจนได้คือการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์ตาเทียม แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากกลัวการผ่าตัด รวมถึงกังวลเรื่องภาวะแทรกซ้อน การเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องภาวะแทรกซ้อนลงได้

ทำความเข้าใจโรคต้อกระจก

ภาวะต้อกระจก เกิดจากเลนส์ตาของเราเกิดความขุ่นมัว ทำให้ตาพร่ามัวลงจากเดิม ปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกกระทบไปยังจอประสาทตาเพื่อส่งสัญญาณไปที่สมองและแปลผลออกมาเป็นภาพ แต่หากเป็นโรคต้อกระจก บริเวณเลนส์ตาจะขุ่นมัวทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอประสาทตาได้น้อยลง ทำมองเห็นไม่ชัดเจน    ​

โรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงพบได้บ่อยได้ผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้บางรายสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อยจากสาเหตุต่างๆ เช่น ติดเชื้อจากมารดาระหว่างตั้งครรภ์ ติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด ความผิดปกติทางพันธุกรรม อุบัติเหตุทางตา การผ่าตัดตา การรับรังสีที่เป็นอันตรายกับดวงตา ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรัง การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน เป็นต้น

ปกติต้อกระจกสามารถรักษาให้หายขาดได้และการมองเห็นกลับมาเป็นปกติได้ด้วยการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์ตาเทียม แต่ในบางรายหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษานานเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เลนส์ตาบวม เกิดการอักเสบ เป็นผลให้เกิดต้อหิน ปวดตาและอาจถึงขั้นตาบอดถาวรได้

การตรวจวินิจฉัยโรคต้อกระจก

   ​ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ หรือเมื่อมีอาการที่สงสัยว่า อาจจะเป็นต้อกระจก ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการตามัวหรือการมองเห็นผิดปกติก็ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาโดยละเอียด

การรักษาต้อกระจก

    ​ในปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานใดๆ ที่จะสามารถรักษาต้อกระจกได้ วิธีรักษาเดียวที่ได้ผลคือการผ่าตัดต้อกระจก วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันคือการผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก (Phacoemulsification with Intraocular Lens) โดยแผลที่กระจกตามีขนาดเล็กเพียง 2-3 มม. การผ่าตัดจะใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกแล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่

ภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดต้อกระจกมีอะไรบ้าง

    ​การผ่าตัดทุกชนิดล้วนมีความเสี่ยง ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ก้าวหน้ามากขึ้น และการมียาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนลงได้มาก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น ได้แก่

·   ​เลือดออกภายในดวงตา ทำให้การมองเห็นลดลง พบได้น้อยมาก

·   ​การติดเชื้อหลังการผ่าตัด แม้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่มีความรุนแรงและทำให้ตาบอดได้ ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อหลังผ่าตัดโดยการเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ในการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด สำหรับลักษณะอาการของภาวะติดเชื้อหลังผ่าตัด ได้แก่ อาการเจ็บตา ตาแดง ตามัวลง ขี้ตามากผิดปกติ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรไปรีบพบจักษุแพทย์โดยทันที

·   ​ความดันลูกตาสูง อาจพบในช่วงวันแรกๆหลังผ่าตัด มักเป็นช่วงสั้นๆ บางรายอาจต้องใช้ยาหยอดเพิ่มเติม

·   ​กระจกตาบวมขุ่น หากเลนส์ตาขุ่นแข็งมาก ต้องใช้พลังงานในการสลายต้อกระจกสูง หรือผู้ป่วยที่สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระจกตาบวมหลังผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาเพื่อช่วยให้กระจกตาลดบวมได้เร็วยิ่งขึ้น ในรายที่เป็นมากไม่หาย อาจต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

·   ​จอประสาทตาหลุดลอก พบได้ 1-2% ต้องผ่าตัดเพิ่มเติม

·   ​การสูญเสียวุ้นในตา พบได้ 2-4% อาจทำให้ผลการผ่าตัดไม่ดีเท่าที่ควร

·   ​ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น (Posterior Capsular Opacity) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยหลังผ่าตัดต้อกระจก โดยถุงหุ้มเลนส์ตาที่อยู่ด้านหลังเลนส์ตาเทียมมีความขุ่น ส่งผลให้มีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัดเจน พบได้หลังผ่าตัดต้อกระจกตั้งแต่หลายเดือนจนถึงหลายปี ภาวะนี้สามารถรักษาได้ง่ายๆ ด้วยการยิงเลเซอร์เปิดถุงหุ้มเลนส์ด้านหลัง ซึ่งใช้เวลารักษาไม่นานและมีประสิทธิภาพ ทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้รวดเร็ว

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดต้อกระจก

แม้ว่าปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกจะมีความปลอดภัย และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย แต่เพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัด แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้

●แจ้งข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการรักษาพยาบาล และยาที่รับประทานเป็นประจำให้แพทย์ทราบ เนื่องจากก่อนผ่าตัดอาจต้องมีการหยุดยาบางชนิด●รักษาความสะอาดเปลือกตา เพื่อลดโอกาสติดเชื้อหลังการผ่าตัด●ฝึกคลุมหน้าและนอนราบนิ่งๆเป็นเวลา 30-45 นาที เพื่อฝึกให้ตัวเองเคยชิน เพราะในระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆและมีผ้าคลุมหน้าขณะผ่าตัด●ในวันผ่าตัดแนะนำให้สระผม อาบน้ำให้สะอาดเรียบร้อยมาก่อน และไม่ควรแต่งหน้าหรือทาครีมบริเวณใบหน้า●ในวันผ่าตัดควรเตรียมแว่นตากันแดดสำหรับใส่หลังผ่าตัด●รับประทานยาโรคประจำตัวเดิมตามปกติ เช่นยาลดความดันโลหิต ยาเบาหวาน ยกเว้นยาที่แพทย์ห้าม หรือให้หยุดก่อนการผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด

การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก

ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อน สำหรับข้อปฏิบัติหลังการผ่าตัดโรคต้อกระจกมีดังนี้

●หยอดยาและรับประทานยาที่แพทย์สั่งให้ครบตามที่กำหนด●เช็ดความสะอาดตาเป็นประจำทุกวันประมาณ 4 สัปดาห์●ไม่ควรเล่นกับเด็กหรือสัตว์เลี้ยงเพราะอาจโดนข่วนที่ตา●ระมัดระวังไม่ให้สิ่งสกปรก ฝุ่นละลองหรือควันเข้าตา เพราะอาจทำให้ตาอักเสบได้●ในช่วงเวลากลางวัน อาจใส่แว่นตากันแดดกันลมเมื่อออกนอกบ้าน ส่วนเวลากลางคืนควรใส่ที่ครอบตาไว้ประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการขยี้ตา●ไม่ควรขยี้ตา สัมผัสดวงตา ไอ จาม หรือสั่งน้ำมูกรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนได้แผลผ่าตัดได้●ไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นเวลา 4 สัปดาห์●ไม่ควรนอนตะแคงลงไปทางข้างที่ผ่าตัดจนกว่าแพทย์จะอนุญาต●ควรงดกิจกรรม ออกกำลัง ยกของหนัก เป็นเวลา 4 สัปดาห์●หากมีอาการตาแดง ตามัว ปวดตา มีขี้ตา หรือมีปัญหาในการมองเห็น ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที

ไม่ผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจกวิธีอื่นได้ไหม

    ​สำหรับคนที่สงสัยว่าถ้าเป็นต้อกระจกแต่ไม่อยากผ่าตัดสามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ไหม คำตอบคือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ ในปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานใดๆ ที่จะสามารถรักษาต้อกระจกได้ วิธีรักษาเดียวที่ได้ผลคือการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่

หากมีอาการตามัว หรือสงสัยว่าเป็นต้อกระจก ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียดต่อไป เพราะหากละเลยหรือปล่อยไว้จนต้อกระจกสุกเต็มที่จะทำให้คุณภาพการมองเห็นลดลงจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ เลนส์ตาที่แข็งส่งผลให้ผ่าตัดยากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น เลนส์ตาหลุดตกไปช่องลูกตาด้านหลัง ถุงหุ้มเลนส์หย่อน ถุงหุ้มเลนส์ตาฉีกขาด จอตาลอก และภาวะเลนส์ตาบวมปิดกั้นทางระบายของเหลว เสี่ยงต่อการเกิดภาวะอักเสบรุนแรง หรือต้อหินเฉียบพลันส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้

 ​เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดโรคต้อกระจกที่เรานำมาฝาก

จะเห็นว่าแม้การผ่าตัดต้อกระจกจะมีความปลอดภัย และใช้เวลาไม่นาน แต่ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

 มองเห็นหยากไย่ ลอยไปลอยมา รักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่?
 “น้ำตาเทียม” มีประโยชน์จริงไหม เลือกอย่างไร? รู้ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
 ในบางวันตื่นนอนแล้วตามี 3 ชั้น และบางวันมีแค่ 2 ชั้น
 ต้อหินมุมปิดรักษาอย่างไรให้หายขาด ใช้เวลานานไหม
 ข้อควรรู้ก่อนทำเลสิก (Lasik) เลสิกมีกี่แบบ
 อาการต้อหินมุมปิด แตกต่างจากต้อหินมุมเปิดอย่างไร
 ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัย กับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)
 ใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่สบายตาเลือกยังไง : มือใหม่หัดใส่คอนแทคเลนส์ไม่ต้องเสี่ยงตาอักเสบแค่รู้สิ่งนี้!
 เลนส์มัว ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก
 อาการตาแห้งแก้ได้อย่างไร ต้องหยอดตาหรือไม่

Copyright © 2024 All Rights Reserved.